“ผมคาดหวังกับพวกคุณไว้มาก ถ้าทำไม่ได้ ผมปิดครัวแน่!”
หลังสิ้นเสียงเตือนจากเหล่าหัวหน้าเชฟ เชฟผู้เข้าแข่งขันต่างต้องถีบตัวเอง เพื่อบริหารจัดการครัวให้เสร็จสิ้นก่อนที่ร้านจะเปิด ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดในครัวนรกแห่งนี้ การพิชิตเป้าหมายทีม และยืนระยะตัวเองเป็นคนสุดท้าย จะส่งให้เชฟผู้เข้าแข่งขันได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะจากขุมนรก
ผมเพิ่งรู้ว่าตัวเองตกหลุมรักเรียลลิตี้รายการอาหารอย่างโงหัวไม่ขึ้น ก็ตอนที่ได้ดู MasterChef Thailand และยิ่งการที่ได้ดูเรื่อยมาจนถึง Hell's Kitchen Thailand ก็ทำให้ผมกล้าพูดได้ว่ารายการเรียลลิตี้ทำอาหารเหล่านี้ต่างสอดแทรกบทเรียนชีวิต วิธีคิด และเทคนิคการทำงานที่ใครก็ไม่ควรพลาด
Hell's Kitchen Thailand เป็นรายการที่ดัดแปลงมาจาก Hell's Kitchen ของเชฟกอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsay) ซึ่งในเวอร์ชันไทยนี้ก็ได้มีการยกระดับความดุเดือดของครัวนรกมากกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มหัวหน้าเชฟจาก 1 เป็น 4 คน ซึ่งพวกเขาต่างก็เป็นเชฟใหญ่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว ในรายการของทาง Heliconia H Group
สิ่งหนึ่งที่ทำให้อะดรีนาลีนของผมหลั่งออกมาทุกครั้งที่ดูก็คือ ครัวนรกไม่เหมือนกับรายการทำอาหารอื่น ๆ มันทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ของคนครัวมากกว่ารายการอาหารไหน ๆ ไร้ซึ่งการประนีประนอม ด่าเป็นด่า ไล่เป็นไล่ และต่อให้คุณเก่งมาจากไหน เมื่อมาอยู่ในครัวนรกนี้ ก็เป็นได้แค่พนักงานคนหนึ่ง
แม้ว่าดูแล้วจะรู้สึกเครียดจนขึ้นสมอง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมตกตะกอนได้ก็คือ Hell's Kitchen นับเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับคนทำธุรกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการทำอาหาร เพราะในทุกตอน เราจะพบว่าครัวนรกมีบทเรียนมากมายที่เป็นกรณีศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริหารคน จัดการทรัพยากร ครีเอทีฟเมนูอันมีค่า หรือกระทั่งแก้ไขปัญหาตรงหน้าในเวลาอันจำกัด ซึ่งเป็นบทเรียนอันสำคัญที่ผู้ประกอบการ และผู้นำทางธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ และนี่คือ
4 บทเรียนธุรกิจที่ผมตกตะกอนได้จากครัวนรกแห่งนี้
บทเรียนที่ 1: ผู้นำในเวลาคับขัน
หัวใจที่ซ่อนไว้ของ Hell's Kitchen คือแนวคิดเรื่องความเป็นผู้นำในเวลาอันยากลำบาก เราจะพบว่าในทุกสัปดาห์เมื่อมีการเปิดครัวนรกขึ้นมา ทุก ๆ คนต่างมีหน้าที่ มีงานที่ต้องทำเพื่อให้ครัวสามารถดำเนินไปได้อย่างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งแต่ละทีมก็จะมีคนที่คอยเป็นกาวประสาน ที่แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีตำแหน่งสูงไปกว่าคนอื่นเลย แต่คนดูก็จะรู้โดยทั่วกันว่า คนเหล่านี้คือ ‘ผู้นำเงา’ ที่ช่วยรันทีมให้ไปต่อได้
ผู้นำเงา คือคนที่มองเห็นภาพรวมของปัญหา พยายามอุดทุกช่องว่าง และรับผิดชอบต่อทุกจานที่ออกไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คับขันหลายครั้ง เราจะพบว่าผู้นำเงาก็ได้ช่วยทีมไว้เสมอ ซึ่งการเป็นผู้นำด้วยการกระทำนี่แหละ เป็นแง่มุมที่สำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะแม้จะมีแรงกดดันที่สูงแค่ไหน ความเป็นผู้นำนั้นจะเฉิดฉายออกมาในเวลาที่คับขัน
บทเรียนที่ 2: ที่นี่คุณคือลูกเจี๊ยบ
“ทำผิดซ้ำผิดซาก คุณออกไปเลย!”
ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน ในครัวนรกทุกคนจะเท่ากันหมด
Hell's Kitchen นั้นมีผู้เข้าแข่งขันที่มีประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชฟจบใหม่ เชฟใหญ่หรือกระทั่งเชฟผู้บริหาร ทว่าในครัวนรกแห่งนี้ทุกคนจำต้องถอดหัวโขนนั้นออก เพื่อเรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม
ซึ่งคนที่สำเร็จคือคนที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วอย่างทันท่วงที เพราะการปรับตัว ยอมรับสิ่งตรงหน้า เป็นบทเรียนที่ช่วยให้พนักงานยอมรับการเปลี่ยนแปลง และค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยความครีเอทีฟ ซึ่งการเปิดใจกว้างในโลกของตลาดที่ไม่แน่นอน จะนำเราให้รอดพ้นจากวิกฤตของธุรกิจได้
บทเรียนที่ 3 อย่าลืมว่าทุกอย่างมีต้นทุน
“คุณหั่นวัตถุดิบแบบนี้ ร้านเจ๊งนะครับ” ประโยคนึงที่หัวหน้าเชฟวิลแมน มักจะกล่าวเตือนผู้เข้าแข่งขันในครัวนรกอยู่เสมอ เนื่องจากทุกคนล้วนเป็นเชฟใหญ่ ทำให้หลายคนไม่ได้คำนึงถึงปัญหาของ Food Waste ที่เกิดขึ้น
ในการทำธุรกิจนั้น ปัญหาหนึ่งที่เจ้าของทุกคนต้องประสบคือเรื่องทรัพยากร บางครั้งเรามีของแต่ไม่ได้ใช้ หรือต้องทิ้งมันไปเพราะสั่งมาเกิน อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวที่ดี วิเคราะห์ว่าจะใช้อะไรนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าจะในครัวนรกหรือโลกธุรกิจเอง ทรัพยากรคือสิ่งที่สำคัญ เพราะมันจะช่วยแยกสัดส่วนของกำไร ให้ธุรกิจเราขับเคลื่อนต่อไปได้
บทเรียนที่ 4 ผู้อยู่รอดคือคนที่มีความอุตสาหะ
ปาจานแตก, โยนวัตถุดิบใส่หน้า, ลูกค้าคอมเพลน, เชฟใหญ่ตะโกนด่า, โดนเพื่อนหักหลัง สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่เชฟทุกคนจะต้องเจอในครัวนรก
บทเรียนที่สำคัญที่สุดของ Hell's Kitchen จึงเป็นเรื่องของความอุตสาหะเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก เพราะผู้เข้าแข่งขันต้องอดทนต่อความกดดันที่หนักหนา การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และความพ่ายแพ้บ่อยครั้ง แต่พวกเขาก็ต้องเดินหน้าต่อไปในครัวนรก เฉกเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้นำย่อมต้องเผชิญกับปัญหา และความพ่ายแพ้ไปพร้อมกัน เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราเดินหน้าต่อ ไม่ใช่แค่ผลประกอบการ แต่ยังรวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากความล้มเหลว การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และก้าวไปข้างหน้าเพื่อเอาชนะทุกคำสบประมาท จนเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่าแม้ Hell's Kitchen Thailand จะเป็นเรียลลิตี้ที่เน้นย้ำถึงการทำอาหาร แต่บทเรียนที่เราตกตะกอนได้ ก็ขยายไปไกลกว่าแค่เรื่องในครัว ซึ่งครัวนรกแห่งนี้ถือเป็นบทเรียนชั้นดีที่คนดูสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ เพราะเราสามารถนำสิ่งที่ได้ไปใช้ในการทำงานต่อไป เชื่อเลยว่าไม่ใช่แค่ผู้เข้าแข่งขัน แต่คนที่ตกตะกอนกับสิ่งที่รายการให้มาได้นั้น จะสามารถนำมันไปใช้ในการทำงานต่อได้อย่างแน่นอน
เพราะคู่แข่งที่สำคัญที่สุดนั้น ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือตัวเราที่ต้องเก่งกว่าเราคนเมื่อวาน
เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์