ช่วงนี้แวดวงนักอ่านก็ดูจะกลับมาคึกคักมากขึ้น เพราะคนไปเดินงานมหกรรมหนังสือระดับชาติเยอะกว่าปีก่อน ๆ
ซึ่ง CREATIVE TALK ก็ไม่พลาด ที่จะพาทุกท่านไปคุยกับ คุณ จี-จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Biblio ถึงบรรยากาศของงานหนังสือในช่วงนี้ ว่าผ่านมาครึ่งทางแล้วเป็นอย่างไร ภาพรวมนักอ่านเป็นแบบไหน รวมถึงป้ายยาหนังสือแนะนำของ Biblio ที่คอนเฟิร์มเลยว่า ดีจนอยากบอกต่อ!
คุณจีได้เล่าให้ฟังว่าบรรยากาศงานหนังสือปีนี้คึกคักมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้พฤติกรรมของนักอ่าน กลับมาคุ้นเคยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กันอีกครั้ง จนคนค่อนข้างหนาแน่นขึ้น นั่นทำให้หลายสำนักพิมพ์ตัดสินใจมาออกบูธมากขึ้น หลังจากลังเลกันว่าจะกลับมาออฟไลน์กันดีไหม ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์เอง ก็จะมีสีสันการแต่งบูธที่น่ามองในธีมที่แตกต่างกัน
สำหรับสำนักพิมพ์ Biblio เอง ก็ตกแต่งบูธในธีมรถบัสที่ขนหนังสือมาเต็มคัน ซึ่งได้ไอเดียมาจากพฤติกรรมของคนสมัยก่อน ที่จะมีรถหาบเร่ของไปขาย โดยหนังสือก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่บนรถ นั่นทำให้พวกเขาพยายามดีไซน์คีย์วิชวลจาก Book Bus พร้อมทั้งแทรกกลิ่นอายความเป็นเอเชียเข้ามา
ด้วยความที่ Biblio เป็นสำนักพิมพ์ที่อายุเกือบ 4 ปีแล้ว พวกเขาอยากทำหนังสือที่มีความหลากหลาย จึงแบ่งกลุ่มหนังสือออกมาเป็น 3 สำนักพิมพ์ย่อยได้แก่ BiLi ที่เป็นนิยายเอเชียจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี, Beat ที่เป็นนิยายจากตะวันตก และ Be(ing) ที่เป็นกลุ่ม Non-Fiction ที่เล่าถึงชีวิต ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มย่อยที่อยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ Biblio
ในงานหนังสือรอบนี้ Biblio ก็ตั้งอยู่ที่ 👉 บูธ K08 👈 หากใครเดินเข้ามาในงาน ลองสังเกตหาบูธที่มีรถบัสอยู่ข้างบน ถ้าเข้าทางประตู 6 จะใกล้บูธสุด ซึ่ง Biblio ก็ขนหนังสือมาอย่างเต็มที่ ซึ่งมีหนังสือให้เลือกหลากหลาย แต่ถ้าใครยังไม่รู้จะลองอ่านอะไร คุณจีก็จะมาแนะนำ 4 เล่มนี้ ที่ทั้งสด และสนุก ซึ่งคอนเฟิร์มแล้วว่า ดีจริง!
📔 เล่มที่ 1 : ด้านมืดของพลังแห่งการเล่าเรื่อง (The Story Paradox)
✏️ เขียนโดย โจนาธาน ก็อทช์เชลล์ ✏️
หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ของ ‘เรื่องเล่า’ เพราะพลังของ Storytelling นั้นเป็นเหรียญที่มีสองด้าน แม้มันจะเสริมสร้างคนในแง่ด้านบวก และแรงบันดาลใจ แต่ในอีกมุมมันก็เป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างสังคมเราได้
คุณจีเล่าให้ฟังถึงไฮไลต์ว่า ‘ถ้าจะเปลี่ยนคนธรรมดา ให้กลายเป็นอาชญากร สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เรื่องการยัดอาวุธใส่มือ แต่คือการเล่าเรื่องราวให้พวกเขาฟัง’ เพราะมนุษย์เป็นนักเล่าเรื่อง พลังของเรื่องเล่าเปลี่ยนแปลงคนได้ ทั้งดีขึ้น และทำลายสังคม ยกตัวอย่างยุคนาซีนั้น กลุ่มนาซีก็ตั้งกลุ่ม PR ว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่ดี ทำให้โลกสะอาด แม้ว่าตรรกะจะบิดเบี้ยวแค่ไหน แต่พลังเล่าเรื่องนั้นก็ทำให้เกิดผลกระทบจนสร้างความสั่นสะเทือนให้โลก
ปัจจุบันรูปแบบพลังของการเล่าเรื่องเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราไถมือถือ เราเจอแต่สิ่งที่อยากอ่าน สิ่งที่อยากเชื่อ ดังนั้นแล้วเราอาจตกอยู่ในกรอบของ'Echo Chamber ที่ทำให้เราตกเป็นสาวกของเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าไป ฉะนั้น ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน เราอาจรับผลกระทบของเรื่องเล่าได้
📔 เล่มที่ 2 : ความรู้สึกนี้ใหญ่หลวงนัก (Big Feelings: How to Be Okay When Things Are Not Okay)
✏️ เขียนโดย มอลลี เวสต์ ดัฟฟี และ ลิซ ฟอสส์ลีน ✏️
บางวันเราอารมณ์ดี บางวันก็มีเรื่องให้โมโห บางวันเศร้าโศกเสียใจหรือผิดหวัง บ่อยครั้งก็ควบคุมอารมณ์ได้ แต่หลายครั้ง อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ขยายขนาดใหญ่โต และกลายเป็นฝ่ายควบคุมเราแทนเสียอย่างนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบดังเสื้อชูชีพ สำหรับผู้ประสบภัยทางอารมณ์ที่รู้สึกเหมือนกำลังเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล สะท้อนผ่านประสบการณ์จริงของผู้เขียน และกรณีตัวอย่างหลากหลาย รวมทั้งผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ผู้อ่านต้องเซอร์ไพรส์
ก่อนหน้านี้ใครอ่าน ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ แล้วชอบ ควรจะอ่านเล่มนี้ต่อทันที เพราะ Big Feelings เล่าเรื่องราวของความรู้ 7 รูปแบบ ตั้งแต่ ความไม่แน่นอน การถูกเปรียบเทียบ ความโกรธ ภาวะหมดไฟ อาการยึดติดความสมบูรณ์แบบ จุดแท้สิ้นหวัง ไปจนถึงความรู้สึกเสียใจภายหลัง ในสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว
Big Feelings ค่อนข้างที่จะปรับใช้ได้จริง เพราะหนังสือเล่มนี้มาถูกเวลามาก ซึ่งเป็นช่วงที่คนในสังคมค่อนข้างมีภาวะอ่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และถ้าหากเกิดความรู้สึกขึ้นมา เราจะสามารถเข้าใจมันได้ ไม่ว่าจะเป็น Big Feelings ขนาดไหน เราก็สามารถรับมือกับมัน โดยคุณจีถึงกับบอกว่าไม่ต้องอ่านจดจบเล่ม เราสามารถเอาไปปรับใช้ได้ทันที
📔 เล่มที่ 3 : บทเรียนเคมีสตรี (Lessons in Chemistry)
✏️ เขียนโดย บอนนี การ์มัส ✏️
ในปี 1950 บทบาทของสตรียุคนั้นจะถูกจำกัดอย่างมาก เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะต้องมาเป็นแม่บ้าน แต่ตัวเอกอย่าง เอลิซาเบธ ซ็อตต์ นั้นพยายามที่จะปฏิเสธค่านิยมต่าง ๆ ซึ่งเธอพยายามก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ อันเป็นเวทีใหญ่ของเหล่าบุรุษในยุคนั้น ทว่าชีวิตเธอกลับพลิกผันจนต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวซะอย่างนั้น
เรื่องราวจึงมาบรรจบด้วยการที่เธอกลายเป็นพิธีกรรายการอาหาร ที่สอดแทรกความรู้เรื่องเคมีในรายการอาหารเข้าไปด้วย โดยเธอได้สอนทั้งคนดู และผู้อ่านด้วยมายด์เซตอันแข็งแรงว่า อย่าให้อะไรมาเป็นกรอบชีวิต เพราะคุณเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น
นิยายตะวันตกเรื่องนี้ คุณจีแอบส่องมาตั้งแต่อยู่ใน Amazon มันบอกเล่าความสนุก ตลกขบขัน เสียดสี และบอกเล่าด้วยความจริงใจ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ผู้ชายอ่านแล้วก็มีกำลังใจ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ทุกคนในทุกยุคทุกสมัย
เพราะชีวิตคือเคมี ที่ไม่มีสูตรใดตายตัว คุณต้องหาส่วนผสมเคมีให้ตรงกับชีวิตคุณ
📔 เล่มที่ 4 : แม่มดกิกิผจญภัย
✏️ เขียนโดย เอโกะ คาโดโนะ ✏️
ก่อนอายุสิบขวบ กิกิโตมาแบบเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง…จนเมื่ออายุครบสิบขวบได้สักพักแล้วได้ยินเพื่อนพูดว่า “ฉันจะเจริญรอยตามแม่ไปเป็นช่างเสริมสวยละ” กิกิจึงเริ่มคิดเรื่องการ “เจริญรอยตาม” แม่บ้าง…ถึงอย่างนั้นกิกิกลับคิดไม่ตก เพราะไม่อยากคิดง่าย ๆ แค่ว่า ในเมื่อแม่เป็นแม่มด เธอก็ต้องเป็นเหมือนกัน…
กิกิเป็นซีรีส์นิยายที่มีคุณค่า โดยทีม Biblio ค่อนข้างภูมิใจกับมันมาก เพราะแม้ว่าวรรณกรรมเหล่านี้จะถูกเขียนมาหลายสิบปีแล้ว แต่คนอ่านเจนใหม่ก็ยังให้การสนใจอยู่ ถึงเรื่องราวของกิกิจะเป็นแฟนตาซีก็จริง แต่เป็นแฟนตาซีที่ถูกสร้างมามาเพื่อรับใช้การเล่าเรื่องของการเติบโตจากเด็กสาวไปสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็น Coming of Age ที่หาทางเลือกในชีวิต โดยมีผู้ใหญ่ที่ให้คำแนะนำที่ดีของเธอมาตลอด
คุณจีเล่าให้ฟังว่า วรรณกรรมเรื่องนี้เปรียบเป็นโอเอซิสของผู้ปกครองหลายท่าน ซึ่งพวกเขาซื้อไปอ่านให้ลูกฟังก่อนนอน ในขณะที่หนังสือเล่มนี้ให้ความบันเทิงกับคนเจนเก่าอยู่แล้ว แต่พ่อแม่มือใหม่ก็สามารถเอากิกิมาอ่าน เพื่อสร้างรากฐานของทัศนคติที่ดีให้กับการเติบโตของลูกได้
“หนังสือเล่มนี้มันมีประโยชน์กับผู้คนจริง ๆ”
- คุณจี -
ท้ายที่สุด หากใครสนใจหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ สามารถไปตามได้ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่ 👉 บูธ K08 👈 ตรงสำนักพิมพ์ Biblio โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ ‘คุยเก่ง’ ป้ายยาหนังสือน่าอ่าน โดยสำนักพิมพ์ Biblio