องค์กรที่ดีย่อมมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางแนวคิด งานอดิเรก ความถนัด รวมไปถึงความหลากหลายในเรื่องอายุ ทำให้แต่ละคนมีแบ็กกราวน์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเจนเนอเรชั่นที่เขาคนนั้นเติบโตมา
หากเพื่อนๆ คนไหนกำลังสงสัยว่า คนในแต่ละเจนเนอเรชั่นคือใคร และเราอยู่เจนเนอเรชั่นไหน วันนี้ เรามีข้อสรุปง่ายๆ มาฝาก
- Gen B (Baby Boomer) หรือคนที่ปัจจุบันอายุ 53 ปีขึ้นไป ซึ่งก็คือคนรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ ยาวไปจนถึง คุณปู่ ย่า ตา ยาย
- Gen X คือคนวัย 40 ปีขึ้นไปจนถึง 53 ปี
- Gen Y หรือ Gen Millennials คือคนที่เกิดประมาณ 1981-2000 หรืออายุประมาณ 20 – 40 ปีนั่นเอง
สำหรับใครที่สนใจเรื่องพฤติกรรมของคนในแต่ละ Generation อ่านได้ในบทความ Generations Trend 2020 สรุปทุก Insight เข้าใจผู้บริโภคแต่ละ Gen
ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงหนุ่มสาวในเจนเนอร์เรชั่น Y หรือเหล่า Millennials แน่อนว่า คนกลุ่มนี้ เติบโตมาในยุคที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนค่อนข้างมาก ทำให้พวกเขามีทักษะบางอย่างที่ไม่เหมือนกับคนในเจนเนอร์เรชั่นก่อน บางทักษะคน Gen Y ทำได้ดีกว่า และมีบางอย่างที่พวกเขา ยังต้องเรียนรู้ เราทำการค้นคว้าและไปพบกับบทความหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า “Gen Millennials มีความกังวลอยู่ 2 เรื่องที่พวกเขาไม่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย
เรื่องแรกคือ การทำงานหนักเกินไป จนเขาไม่สามารถบริหารงานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงไป ส่วนเรื่องที่สองคือ การเมืองในออฟฟิศ หรือ Office Political แน่นอนว่า วิชานี้ไม่มีสอนในห้องเรียนเช่นกัน หากจะว่ากันตามตรง สองเรื่องนี้นี่แหละ คือส่วนสำคัญทำให้เขากังวลว่า จะทำงานออกมาได้ไม่ดี
ในฐานะบริษัทหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบน้องในทีม ควรจะเสริมทักษะอะไร ที่ทำให้น้อง ๆ สามารถจัดการปริมาณงานในช่วงที่งานเยอะหรือเป็นช่วงพีคของบริษัท เพื่อให้น้อง ๆ อยู่รอดได้ในช่วงที่มีปัญหาการเมืองในที่ทำงาน ตั้งแต่เรื่องคนนั้นไม่ชอบคนนี้ รวมไปถึงการการพูดนินทากันในบริษัท
จากการศึกษาของเรา เราพบว่า มี 4 ทักษะที่เด็ก Gen Y ควรจะต้องฝึกฝนอยู่เสมอและผู้บริหารที่มีชาว Millennials อยู่ในออฟฟิศ ต้องคอยหากิจกรรมที่ทำให้เขาได้ฝึก 4 ทักษะนี้อยู่เรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
1. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
พูดในอีกมุมหนึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “ความยืดหยุ่นของคนนั้นๆ” การเป็นคนมีความยืดหยุ่นไม่ได้แปลว่าขี้เกียจหรือเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่หมายถึงความยืดหยุ่น (Flexible) ของบุคคล ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
คนที่จะมีความฉลาดทางอารมณ์ได้ ต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจในหลายเรื่อง มองเห็นถึงจุดแข็ง จุดด้อย ความต้องการ ทั้งของตนเองและคนรอบข้าง เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะรู้จักระมัดระวังในการสื่อสาร และสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ ผ่านการใช้จุดแข็ง-จุดอ่อน ของแต่ละคน
2. การบริหารความเครียด (Stress Management)
ชาว Millennials สามารถแก้ปัญหาเชิงทักษะได้ดีอยู่แล้ว แต่ในชีวิตการทำงานจะมีจุดที่พองานเริ่มเยอะ ก็จะเริ่มมีความเครียดตามมา และบางครั้งก็เครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องการบริหารความเครียดเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกันอยู่บ่อย ๆ แต่ละคนจะมีการผ่อนคลายในออฟฟิศที่แตกต่างกันไป หลายคนใช้การฟังเพลง ซึ่งบางคนถึงกับมี ‘เพลลิสต์เฉพาะ’ ที่เอาไว้ฟังในช่วงเครียดโดยเฉพาะ บางคนก็ใช้การเดิน ขยับตัว ออกมาสูดอากาศด้านนอก
คนที่เป็นหัวหน้าทีมก็ต้องคอยสังเกตว่า ช่วงนี้ทีมมีความเครียดมากน้อยขนาดไหน ถ้าเกิดความกดดันมีมาก แล้วน้องๆ ยังมีอายุงานน้อย เขาอาจจะรับมือกับงานหนักได้ไม่ดี ซึ่งในจังหวะนี้เราก็อาจจะแชร์ประสบการณ์ของเราให้เขารับฟัง แล้วนำไปปรับใช้ได้
3. การโน้มน้าวใจ (Persuasion)
ในการทำงานบางครั้งคนที่เป็นหัวหน้างานเรา มักจะมีด่านหรือมีจุดวัดความสามารถของคนในทีม ทำให้การถูกโน้มน้าวใจจากคนในทีมเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ทักษะนี้เป็นอีกเรื่องที่เราต้องฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ เพราะหัวหน้าจะไม่ตามใจเราหรือคอยอุ้มชูเราอย่างเดียวแน่นอน
มุมของหัวหน้าเองก็สามารถฝึกสกิลนี้ให้กับลูกทีมได้ โดยการสร้าง Challenge มีโจทย์ให้เขาคอยฝึกทักษะการพูด และการโน้มน้าวใจ เช่น เปลี่ยนจากการตอบงานผ่านอีเมลหรือไลน์ เป็นการที่ให้น้องๆ ทำพรีเซ็นเทชั่นมานำเสนอ
4. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
ทักษะนี้ เรียกได้ว่าสำคัญมากอีกเช่นกัน ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ มักจะถูดึงมาใช้ตอนที่เราทำงานร่วมกับคนอื่น หรือเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นชิน หากคนในทีมมีความเก่งทางด้านนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลและการวิเคราะห์สถานการณ์ จะทำได้ง่ายขึ้น และเราจะมองเห็นปัญหาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย
การฝึกฝนทักษะนี้ ทำได้โดยการตั้งคำถามกับเรื่องนั้นๆ เช่น เมื่อลูกค้าตอบ email มาแบบนี้ สถานการณ์เป็นแบบนี้ เราคิดว่ามันเกิดอะไรอยู่ หรือถ้าลูกค้าโปรไฟล์แบบนี้ มีโจทย์แบบนี้ เราคิดว่าสถานการณ์ มันเป็นอย่างไร
การฝึกทักษะทั้ง 4 ที่กล่าวมานี้ หัวหน้าจะแยกเป็นกิจกรรมย่อย หรือรวบเป็นกิจกรรมเดียวก็ได้ เช่น การ challenge น้องๆ จากการออกไปงานสัมมนาต่างๆ แล้วกลับมาแชร์ความรู้ให้คนในทีม ซึ่งเขาจะได้ฝึกทักษะการนำเสนอ การทำ Presentation การโน้มน้าวใจให้คนฟังเข้าใจว่า เรื่องที่เค้าไปเรียนมาเนี่ย มันน่าสนใจยังไง แล้วน้องๆ ก็จะได้ฝึกเรื่อง Analytical Thinking อีกด้วย โดยการคิดว่า คนที่เขากลับมาสอนมี feedback อย่างไร ควรจะต้องเสริม เพิ่มเนื้อหาด้านไหน
หรือจะฝึกด้วยการเล่นเกมสนุก ๆ อย่าง Board Game เพราะการเล่น Board Game จะช่วยจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่แต่ละคนจะได้รับบทบาท หรือตัวละครที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในเกม “หมาป่า Warewolf” จะมีจังหวะที่ผู้เล่นคิดในใจว่า “ฉันจะทำอย่างไรดี ไม่ให้โดนจับได้” หรือ “ฉันจะทำอย่างไรดี ให้คนอื่นคิดว่าคนข้างๆ เป็นหมาป่า” จนถึงการที่ต้องมานั่งวิเคราะห์พฤติกรรมคนในเกมว่า “เอะ…คนไหนเป็นหมาป่ากันแน่นะ”
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ การซื้อหนังสือที่มีคุณภาพเข้าออฟฟิศ จัดวางตามจุดต่างๆ อย่างเหมาะสมในปริมาณที่มากพอ
หรือการแนะนำ Podcast เจาะจงเฉพาะบางตอนให้น้องๆ ฟัง ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยฝึกวิธีคิด ฝึกสกิล ปรับมุมมอง เช่น ตอนนี้ทีมกำลังทำ Copywriting หัวหน้าก็อาจจะหา Podcast ที่เกี่ยวข้อง ส่งให้ทีมฟัง เพื่อให้น้องๆ ทำงานออกมาได้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องทำบ่อยๆ ค่อยๆ ชี้เป้า Podcast ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้อยากฝากคำถามกับเพื่อนๆ ว่า “ถ้าคุณเป็น Millennials คุณฝึก 4 สกิลนี้หรือยัง” หรือ ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ คุณมีกิจกรรมที่ทำให้ทีม ได้ฝึก 4 เรื่องนี้ ‘อย่างสม่ำเสมอ’ หรือยัง