4 เทคนิค ‘ขอ’ อย่างไรไม่ให้ทีมรู้สึกเหมือนถูกบังคับ

ลีดเดอร์บางคนไม่กล้าข้อความช่วยเหลือทีม เพราะอาจจะกลัวดูไม่เก่ง กลัวทีมจะรู้สึกไม่อยากทำให้ แต่การขอความช่วยเหลือไม่ใช่การแสดงจุดอ่อน ลอง 4 เทคนิค ‘ขอ’ อย่างไรไม่ให้ทีมรู้สึกเหมือนถูกบังคับ

Last updated on มี.ค. 18, 2025

Posted on มี.ค. 3, 2025

การขอความช่วยเหลือในมุมของลีดเดอร์ไม่ได้เป็นการแสดงถึง ‘จุดอ่อน’ แต่เป็นการแสดงถึง ‘ความเชื่อใจ’ ที่เรามีต่ออีกฝ่าย

ในบทความที่มีชื่อว่า "How Strong Leaders Ask For Help" ได้กล่าวว่า ภาวะผู้นำที่อ่อนแอ มักให้ความสำคัญกับการรักษาภาพลักษณ์ และพยายามพิสูจน์ความสามารถของตนเองมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้พลาดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์

ผู้นำที่อ่อนแอ มักลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าตนเองไร้ความสามารถ ในขณะที่ ผู้นำที่แข็งแกร่งจะมุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมาย

Dale Carnegie มองว่าผู้นำที่แข็งแกร่ง ควรให้ความสำคัญกับภารกิจและเป้าหมายมากกว่าตัวเอง นั่นหมายถึง การลดอัตตาและความไม่มั่นใจในตัวเอง และมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จ โดยตระหนักว่าความสำเร็จนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงลำพัง

แต่การ ‘ขอ’ ที่ว่านี้มันก็มาได้หลายรูปแบบ และถ้าสื่อสารผิดวิธี ก็อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ กดดัน รู้สึกไม่มีทางเลือก ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านในการทำงาน ขาดความเต็มใจในการช่วยเหลือ ที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์งานที่แย่ลงได้ด้วยเหมือนกัน

ความแตกต่างระหว่างการขอความช่วยเหลือ (Help) และการขอให้ช่วยทำบางอย่าง (Favor)

  • ขอความช่วยเหลือ = เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ
  • ขอให้ช่วยทำบางอย่าง = เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบาย

ผู้นำที่ดีรู้ว่า ควรขอความช่วยเหลือในเรื่องที่ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของทีม เช่น

  • ขอให้ช่วยทำงานสำคัญให้เสร็จ
  • ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ๆ
  • มอบหมายความรับผิดชอบในงานที่มีความหมาย

ในทางตรงกันข้าม การขอให้ช่วยทำบางอย่าง (Favor) มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของความสะดวก เช่น

  • ขอให้หยิบกาแฟให้
  • ขอให้ช่วยดึงเอกสารจากเครื่องถ่ายเอกสาร
  • ขอให้ช่วยส่งคำเชิญประชุม

แม้ว่าการขอให้ช่วยทำบางอย่างจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อทีมเท่ากับการขอความช่วยเหลือในเรื่องที่มีผลต่อประสิทธิภาพของงาน


4 เทคนิคขอความช่วยเหลือ แบบไม่ให้ทีมรู้สึกว่าโดนบังคับ

1. อย่าทำให้รู้สึกว่าเป็น “หน้าที่” แต่ให้รู้สึกว่าเป็น “โอกาส”

คนเรามักไม่ชอบถูกบังคับให้ทำอะไรโดยไม่มีทางเลือก หากคุณใช้วิธีการขอแบบออกคำสั่งหรือสร้างแรงกดดันมากเกินไป อาจทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน แม้ว่าผู้รับจะไม่มีอำนาจปฏิเสธก็ตาม ดังนั้นในฐานะลีดเดอร์เราควรจะ

  • อธิบายว่างานนี้สำคัญอย่างไร และจะส่งผลดีต่อทั้งทีมอย่างไร
  • ให้พื้นที่ในการตัดสินใจ โดยไม่ทำให้รู้สึกว่า “ไม่มีทางเลือก”
  • บอกได้ว่าเป้าหมายของงานนี้คืออะไร เชื่อมโยงกับเป้าหมายองค์กรอย่างไร

2. เปลี่ยนมุมมอง ให้พวกเขาเป็น “แบทแมน” ไม่ใช่ “โรบิน”

แทนที่จะทำให้ดูเหมือนว่าคุณคือ “แบทแมน” ที่ต้องการให้ “โรบิน” เข้ามาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ลองเปลี่ยนวิธีการขอให้พวกเขาเป็น “แบทแมน” แทน

  • อธิบายว่าทำไมงานนี้ถึงต้องให้เขาช่วยเหลืองานส่วนนี้ เช่น เคยเห็นทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้และทำออกมาได้ดีมาก จึงอยากให้ช่วยดูในส่วนนี้
  • อย่ากำหนดทุกอย่างล่วงหน้า แต่ให้พื้นที่สำหรับความคิดเห็นและไอเดีย
  • ถามคำถามปลายเปิด เช่น “คุณคิดว่าคุณสามารถจัดการงานนี้ได้อย่างไร?”

3. ขออะไรขอให้ ‘เจาะจง’

หนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดของผู้นำ คือ การขอความช่วยเหลือแบบกว้าง ๆ จนไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ช่วยอะไร

  • กำหนดให้ชัดเจนว่าคุณต้องการให้ช่วยอะไร
  • บอกว่าผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร และต้องทำให้เสร็จภายในเมื่อไหร่

4. อย่าลืมขอบคุณความช่วยเหลือนั้นอย่างเต็มใจ

เมื่อผู้คนรู้สึกว่าความช่วยเหลือของพวกเขามีความหมาย พวกเขาจะเต็มใจช่วยมากขึ้น

  • แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่คำพูดทั่วไป
  • อธิบายว่าการช่วยเหลือของพวกเขามีผลกระทบเชิงบวกอย่างไร
  • ให้เครดิตและยกย่องในที่สาธารณะตามเหมาะสม

การขอความช่วยเหลืออาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันคือ "พลังพิเศษของผู้นำ" เพราะเมื่อคุณกล้าที่จะขอความช่วยเหลือทีม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน คุณจะพบว่าอาจมีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมกว่าที่เคยมีรออยู่ข้างหน้าก็เป็นได้


เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags