4 กองขยะที่ขัดขวางคุณจากการพิชิตเป้าหมาย

Last updated on พ.ค. 8, 2023

Posted on เม.ย. 5, 2022

ความรกรุงรังเกี่ยวอะไรกับการไปให้ถึงเป้าหมาย???

ถ้าพูดถึงคำว่า “กองขยะ” ในการทำงาน คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงของที่จับต้องได้อย่าง กองกระดาษ กองหนังสือ หรือกองสิ่งของที่วางระเกะระกะในออฟฟิศ แต่จากข้อมูลของ Barbara Hemphill ผู้เขียนหนังสือ “Less Clutter, More Life” และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Productive Environment Institute ได้กล่าวว่า “กองขยะ” มี 4 ประเภท

  1. สิ่งของจับต้องได้
  2. สิ่งของที่เป็นดิจิทัล
  3. อารมณ์
  4. จิตใจ

โดยที่กองขยะที่จับต้องได้และดิจิทัลเป็นแหล่งกำเนิดกองขยะทางอารมณ์และจิตใจได้ 

Barbara Hemphill พบว่าคนส่วนใหญ่ที่ชอบสะสมสิ่งของจนกลายเป็นกองพะเนินส่วนใหญ่เกิดจาก “ปัญหาทางอารมณ์” เช่นเดียวกับหลักฐานทางจิตวิทยาที่พบว่าคนที่ชอบสะสมสิ่งของจนเกินพอดีเป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Hoarding Disorder” (โรคเก็บสะสมของ) อาการที่เสียดาย ไม่กล้าทิ้งอะไรเลย เพราะยึดติดว่าทุกอย่างล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน 

ทั้งนี้คุณคิดว่าคุณยังไม่ได้อาการหนักถึงขั้นเป็นโรค แต่น้อยคนจะรู้ว่า “กองขยะ” เหล่านี้ต่างก็มีผลต่อ ระดับความวิตกกังวล การนอนหลับ และที่สำคัญ “ประสิทธิภาพ” ในการทำงาน และนั่นส่งผลต่อการพิชิตเป้าหมายได้  หลายๆ งานวิจัยพบว่า กองขยะ หรือข้าวของที่ระเกะระกะนั้นสร้างความยุ่งเหยิงให้กับการรับรู้ ลดประสิทธิภาพความจำที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงการโฟกัสกับการทำงานด้วย

Barbara Hemphill แนะนำให้คุณลองถามคำถามกับตัวเองว่า “การมีสิ่งของเหล่านี้ (ไม่ว่าจะแบบจับต้องได้ หรือ แบบดิจิทัล) จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่” หากคำตอบคือไม่ สิ่งนั้น คือ “กองขยะ” และการกำจัดกองขยะเหล่านั้น คือ การช่วยให้คุณเห็นเป้าหมายที่แท้จริง


3 ขั้นตอนขจัดกองขยะ

Barbara Hemphill ได้กล่าวไว้ว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมขยะ

  1. ขาดการเอาใจใส่
  2. ขาดระบบจัดการที่ดี
  3. ขาดคนช่วยเหลือ

เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการกับความยุ่งเหยิง ก็คือการจัดการ 3 ปัจจัยนี้

เอาใจใส่ 

หลายๆ คนขาดการเอาใจใส่ โดยเฉพาะการเอาใจใส่สิ่งที่สำคัญที่สุด ในแต่ละวันบางคนจัดการเรื่องหยุมหยิมอื่นก่อนและละเลยสิ่งที่ต้องทำ รู้ตัวอีกทีก็ไม่ได้จัดการสิ่งที่ควรจัดการไปแล้ว และนั่นเป็นบ่อเกิด “กองขยะ” ไม่ว่าจะจับต้องได้ หรือไม่ได้ ดังนั้นก่อนอื่นคุณต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และให้เหตุผลด้วยว่า “ทำไม” มันถึงสำคัญ จากนั้นพยายามทำสิ่งที่ต้องทำให้ “สำเร็จ” ก่อนจะที่จะย้ายตัวไปทำสิ่งอื่น 

สร้างระบบ

การตัดสินใจที่จะทำเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ยั่งยืน คุณต้องหาทางจัดการให้เป็นระบบระเบียบ เช่น เมื่อคุณตั้งโต๊ะทำงานของคุณแล้ว คุณจะต้องตั้งระบบการจัดการด้วย ซึ่งระบบของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน Barbara Hemphill ใช้หลักการ “Magic 6” มาช่วย ด้วยการจำกัดของใช้เพียงแค่ 6 อย่างที่ต้องใช้ในการทำงานและช่วยจัดการกับเอกสารต่างๆ บนโต๊ะ

หาตัวช่วย

สุดท้ายแล้วเราอาจกำจัดขยะด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ บางครั้งเราต้องการคนรอบข้างในการช่วยเหลือ (แต่ไม่ใช่โยนให้พวกเขาทำ เพราะนั่นไม่ต่างจากการปาขยะใส่เพื่อนบ้าน) การขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทางการกระทำ ไอเดีย หรือ ความคิดจากคนรอบข้างเป็นเรื่องจำเป็น และการขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องผิด อย่าไว้ใจว่าตัวเองจะทำได้ 


สุดท้ายแล้ว Barbara Hemphill ได้กล่าวไว้ว่า กองขยะเกิดจากการตัดสินใจที่ล่าช้า และนั่นทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้ที่ไม่จำเป็นในการเก็บขยะเหล่านั้นเอาไว้ เวลาที่เสียไปกับการค้นหาอะไรบางอย่าง ที่สำคัญที่สุดมันยังขัดขวางการพิชิตเป้าหมายของคุณด้วย เพราะทัศนวิสัยที่โล่ง ปลอดโปร่ง เป็นระเบียบไม่ว่าจะทางสายตา หรือทางใจ ต่างก็ช่วยให้คุณโฟกัสกับการพุ่งชนเป้าหมายได้ง่ายกว่าทัศนวิสัยที่รก เต็มไปด้วยขยะนั่นเอง 


ที่มาของข้อมูล

trending trending sports recipe

Share on

Tags