ผู้นำที่มีทักษะ Storytelling จะรู้ว่า สถานการณ์แบบไหนต้องการเรื่องราว รู้ว่าต้องเป็นการบอกเล่าแบบไหน ผู้นำที่มี Leadership Storytelling รู้ว่า ต้องเชื่อมโยงอย่างไรจึงจะเข้าไปนั่งในใจคนฟังได้
นี่คือคำกล่าวของ ‘เอสเธอร์ เค. ชเว’ (Esther K. Choy) ผู้ก่อตั้ง และ Chief Story Facilitator ที่ Leadership Story Lab อธิบายถึงความสำคัญที่ผู้นำจำเป็นต้องมีทักษะการเล่าเรื่องหรือ ‘Storytelling’
‘ชเว’ บอกว่า ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ผู้นำต้องโน้มน้าวใจเป็น ถ้าแค่การให้ข้อมูลโดด ๆ อาจไม่เพียงพอ แต่ผู้นำต้องมีทักษะ ‘Persuasion’ หรือการโน้มน้าวใจผู้ฟัง และจะทำเช่นนั้นได้ต้องใช้วิธีการที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ต้องเข้าใจบริบทที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับตัวคนฟัง พื้นเพของคนกลุ่มนี้มาจากไหน คิดอย่างไร และอะไรที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมรับข้อมูลจากคุณ
‘Storytelling’ หรือการเล่าเรื่องไม่ได้เป็นแพทเทิร์นทั่ว ๆ ไป อย่างการเริ่มจากจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดจบ แต่หัวใจสำคัญคือการถ่ายทอดเรื่องเล่าจนสามารถสร้างความผูกพันให้คนฟังรับรู้ ทำให้เรื่องเล่าน่าเชื่อถือ คล้อยตาม สร้างแรงบันดาลใจ และเอาชนะใจคนฟังได้
เคยไหมเวลาที่อยากเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่ แต่กลับได้รับการตอบรับที่ไม่ดีนัก ไม่ใช่ว่าทีมไม่ชอบแผนของคุณ แต่อาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่เข้าใจบริบทและที่มาที่ไปของเรื่องนี้ต่างหาก จะทำภารกิจได้ราบรื่น ต้องใช้ ‘Storytelling’ เป็นเครื่องนำทาง และนี่คือ
5 เทคนิคที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีทักษะการเรื่องราวได้แหลมคมมากขึ้น
🗣 1. ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
อาจฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่นี่คือรากของความเข้าใจทั้งหมด ถ้าเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายอยากรู้อะไร สนใจเรื่องราวแบบไหน กังวลอะไร ก็จะช่วยให้เรื่องเล่ากลมกล่อมตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ก่อนจะเริ่มเรื่องเล่าขนาดยาวให้ลองใช้บทสนทนาสั้น ๆ แบบไม่เป็นทางการดูก่อน หลายครั้งที่การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการช่วยเจาะใจคนฟังได้อยู่หมัด
จากนั้นค่อยหาทางเข้าเพื่อแทรกเรื่องราวที่ตรงกับความวิตกกังวลของกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญให้หลีกเลี่ยงคำพูดที่ดูซ้ำจำเจออกไปด้วย หากมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและต้องแบ่งการพูดคุยหลายวง อย่าเลือกใช้สูตรสำเร็จเพียงหนึ่ง เพราะแต่ละคนก็มีความกังวลแตกต่างกันไป ทำความเข้าใจ Pain Point ยิบย่อยเฉพาะตัวแล้วค่อยเริ่มต้นเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง
🗣 2. สร้างบริบทให้เรื่องราว ‘ดูมีอะไร’
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ไม่ใช่ว่าลูกน้องไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่เป็นเพราะเขาจับต้นชนปลายไม่ได้ว่า ทำไมโปรเจกต์นี้หรือคำสั่งนี้จึงเกิดขึ้นในเวลานี้ ยิ่งถ้าไม่มีคำอธิบายที่ดูสมเหตุสมผลด้วยแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็อาจถูกตั้งคำถามได้โดยง่าย และแม้ว่าท้ายที่สุดเขาอาจทำตามที่คุณบอก แต่นั่นก็เป็นเพียงการทำตามหน้าที่โดยไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปอย่างที่ควรจะเป็น
ให้เริ่มอธิบายเชื่อมโยงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับภาพใหญ่องค์กร โปรเจกต์นี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทอย่างไร มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ทั้งองคาพยพไปถึงเป้าหมายอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงสำคัญ ทำให้ลูกน้องเห็นภาพว่า สิ่งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร นั่นจึงเป็นที่มาในการกำหนดเป้าหมายใหม่ ๆ
🗣 3. ทำให้เรื่องเล่ามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
อธิบายที่มาที่ไปอย่างเป็นระบบแล้ว อย่าลืมที่จะสอดแทรกเรื่องเล่าระหว่างทางที่ช่วย ‘Tone-down’ บรรยากาศความเป็นกันเอง ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเปิดรับแนวคิดของคุณมากขึ้น แม้ว่าเรื่องเล่าตรงนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับงานที่กำลังพูดถึงเลยก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้ยกเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์เรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมถึงความล้มเหลวที่เคยประสบพบเจอ การบอกเล่าทั้งดีและร้ายจะทำให้คนฟังเปิดใจมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดพลาดที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ดี
🗣 4. ให้แนวทางที่ชัดเจน
ความแน่วแน่เที่ยงตรงจะช่วยลดความวิตกกังวล-สร้างความมั่นใจให้คนฟังได้ ยิ่งถ้าคุณให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทิศทางที่ชัดเจน กำหนดไทม์ไลน์เพื่อติดตามความคืบหน้า จะช่วยให้คนฟังนำไปปรับใช้ได้ครบถ้วน และหลังจากที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็ถึงเวลาที่คนฟังต้อง ‘Make their own story’ ด้วยตัวเองแล้วล่ะ
🗣 5. Stay Humble เข้าไว้
อย่างไรก็ตามความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยสร้างความไว้วางใจให้คนฟังเสมอ ทำให้เห็นว่า แม้คุณจะเติบโตด้วยตำแหน่งความรับผิดชอบมากมายเพียงไร คุณก็ยังเป็นคนเดิมที่พร้อมเรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่มีเกาะกำบังใดที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนหมู่มากไปได้มากกว่าการยอมรับว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากคุณเพียงคนเดียว
โอบกอดความรู้สึกของคนรอบข้างไว้เสมอ ทั้งหมดนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ให้ทีม องค์กร และอาชีพการงานของคุณได้
แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK
ที่มา
- Storytelling Can Make or Break Your Leadership
- Storytelling Is A Must-Have Leadership Skill For The 21st Century