ประโยคหนึ่งของ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) ซึ่งกำลังกล่าวถึงศิลปะของการใช้คนให้เป็น เพราะลีดเดอร์ที่เก่งจะสามารถหาวิธีดึงศักยภาพของทีมออกมาใช้ได้ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนขี้เกียจก็ตาม
หลายคนอาจรู้สึกว่าคนขี้เกียจคือปัญหาหนึ่งที่องค์กรต้องจัดการ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะแสนดี หรือเก่งแค่ไหน แต่ความไม่ค่อยกระตือรือร้นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศการทำงานไม่ค่อยโอเค แม้ว่าพวกเขาจะสามารถทำงานได้เสร็จตามเป้าหมายก็ตาม ลีดเดอร์บางคนจึงมักหาวิธีจัดการคนเหล่านั้น ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานของพวกเขา ให้งานเพิ่ม หรือไม่ก็หาวิธีกำจัดพวกเขาออกไป ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกนัก เพราะถ้าลีดเดอร์หาดูดี ๆ จะพบว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนมีพรสวรรค์ ฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราจึงเป็นการดีไซน์ความสามารถของเขาให้ถูกกับงาน
1. เลือก 3 งานที่จำเป็น เพื่อจัดลำดับความสำคัญ
ประสิทธิภาพของงานขึ้นอยู่กับการลำดับความสำคัญ ฉะนั้นแล้วเพื่อช่วยให้ลูกทีมขี้เกียจของเรา ทำงานได้ดีตามเป้าหมาย ลองเปลี่ยนจากการจ่ายงานยิบย่อย ไปโฟกัสงานที่จำเป็น 3 ชิ้น จากนั้นจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน
นอกจากนั้นเรายังสามารถให้เขาจัดลำดับความสำคัญเอง ด้วยการตั้งเป้าว่า 3 สิ่งไหนที่จะผลักดันเป้าหมายของคนขี้เกียจให้ไปข้างหน้าได้มากที่สุด หรืองานไหนที่เขาทำเสร็จแล้ว จะทำให้งานอื่น ๆ ลุล่วงได้ง่ายขึ้น
2. ทำตัวล่องหน เพื่อสอดส่องเคล็ดลับ
ถ้าจะหาที่คนที่สามารถลีนระบบการทำงานได้ดีที่สุด จงมองหาลูกน้องขี้เกียจเป็นอย่างแรก
ลูกน้องขี้เกียจสามารถหาวิธีลัดไปสู่เป้าหมายได้เสมอ แต่ขอบอกว่าคนเหล่านี้มักไม่ค่อยบอกวิธีการหรอกนะ เพราะเขาพอใจที่จะทำงานให้เสร็จตาม Job description และไม่ต้องการงานที่มากขึ้น
นอกจากนั้นพวกเขายังมีความสามารถพิเศษ ด้วยการแกล้งทำเป็นยุ่งแม้ว่าจะทำงานเสร็จแล้วก็ตาม และมีสัมผัสที่หก รู้ตัวว่าเรามาอยู่ด้านหลังเสมอ ฉะนั้นแล้วหน้าที่ของเราคือการทำตัวล่องหน มองหาว่าเขาใช้ทริคอะไร หรือมีแนวทางไหนในการทำงานให้เสร็จไวขึ้น จากนั้นจึงนำเทคนิคนี้ไปใช้กับพนักงานคนอื่นเพื่อเพิ่มผลผลิตในองค์กร
3. ใช้อิทธิพลเชิงบวกมาช่วยจัดระบบความคิด
ลูกทีมบางคนก็ไม่ได้ขี้เกียจเพราะนิสัย แต่(ดูเหมือนคน)ขี้เกียจเพราะวิธีแสดงออก ซึ่งทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนเกียจคร้าน ฉะนั้นวิธีที่จะทำให้พวกเขาสามารถแอ็กทีฟมากขึ้น ก็คือการพาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก อาทิ ลองพาไปอยู่กับทีมที่ต้องมีการแอ็กทีฟ หรือกลุ่มคนที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน
นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถมอบหมายให้พวกเขา ไปเรียนรู้งานจากกลุ่มใหม่ ๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในเชิงบวกได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลีดเดอร์, กลุ่มที่มอบแรงผลักดันให้เขา, กลุ่มที่ช่วยให้เขาได้ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงมนุษย์เท่านั้น เพราะเราสามารถให้พวกเขาใช้เวลาไปกับอย่างอื่นได้ ตั้งแต่งาน Conference, การอ่านหนังสือ ไปจนถึงฟังพอดแคสต์
4. จูงใจการทำงานด้วยการให้เวลา
เงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกคน แต่สิ่งเดียวที่เงินซื้อไม่ได้ก็คือเวลา
อย่างที่เห็น คนขี้เกียจมักให้ความสำคัญกับเวลาว่างมากกว่าการทำงาน ฉะนั้นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการใช้ประโยชน์จากความสามารถของพวกเขา คือกรณีที่เราเจองานยาก แล้วต้องการให้เขาเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เราอาจให้ Incentive หรือรางวัลพิเศษกับเขา ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนเป็น ‘เวลา’ ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น, เพิ่มจำนวนวัน WFH กระทั่งหาวันหยุดพิเศษ หรือทริปไปเที่ยวเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานได้
5. จ่ายงานที่ต้องใช้ความคิด
โดยพื้นฐานแล้ว คนขี้เกียจมักเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุด เพราะแม้พวกเขาจะดูเฉื่อยชา ทว่าเนื้อแท้เป็นคนฉลาด เพียงแต่พวกเขาชอบใช้ความคิดมากกว่าการออกแอ็กชันก็เท่านั้น ฉะนั้นแล้วคนขี้เกียจจึงสามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดขององค์กรเราได้ เพราะพวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของผลลัพธ์ ลองให้งานที่ใช้ความคิดกับพวกเขา แล้วนำโซลูชันนั้นมาใช้ จะทำให้เราสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ขององค์กรโดยลดขั้นตอนที่วุ่นวายลง
การดีไซน์งานที่ถูกให้กับคน(ที่ดูเหมือน)ขี้เกียจเป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของทีม ฉะนั้นการตระหนักถึงจุดแข็งของพวกเขา จะทำให้เราสามารถปลดล็อกศักยภาพของคนกลุ่มนี้ และเปลี่ยนความเกียจคร้านให้เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพได้
เอาล่ะ แล้วคุณมีวิธีการดีไซน์งานให้ลูกน้องขี้เกียจยังไง คอมเมนต์บอกเราหน่อยนะ :)
ที่มา
- The benefits of laziness: why being a lazy person can be good for you
- 5 Great Tips to Manage and Motivate Lazy Employees
- How to be Lazy AND Successful: 14 Productivity Hacks to Work Smarter Not Harder
- The lazy person’s guide to efficiency and effectiveness
- Lazy Employees: 10 Steps on How To Handle Them