6 สิ่งที่มนุษย์ต้องการ เป็นเรื่องที่ถ้าเรานำไปใช้กับใครแล้วคน ๆ นั้นก็จะรักเรา ซึ่ง 6 สิ่งนี้ผมมักจะพูดหลังจากจบการบรรยายเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการ การดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกัน
1. Certainty (ความแน่นอน)
มนุษย์ต้องการความแน่นอน ถ้าเราให้ความแน่นอนกับใคร เขาก็จะรู้สึกดี เช่น เรานัดเพื่อนไปดูหนัง ถ้าเรานัดช่วงเที่ยง เราก็ต้องไปเจอเที่ยง นั่นคือความแน่นอนที่เรามอบให้กับเพื่อน
ความแน่นอนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การที่หัวหน้าบอกกับทีมว่าจะเพิ่มเงินเดือนให้คนในทีม 10% ทุกคน หัวหน้าก็ควรที่จะทำตามนั้น พูดอีกอย่างคือการพูดคำไหนคำนั้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราเปิดดูรีวิว ดูพันทิป เพราะเราอยากได้ความแน่นอน อยากมั่นใจว่าร้านนี้มันอร่อยแน่นอน ราคาดีแน่นอน รวมถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเปิดกูเกิลแมพ นั่นก็เพราะเราอยากถึงจุดหมายแน่นอนแบบไม่หลงระหว่างทางนั้นเอง
2. Uncertainty (ความไม่แน่นอน)
ความไม่แน่นอน เช่น การเซอร์ไพรส์วันเกิด เอาเค้กไปซ่อน แล้วโผล่มาสุขสันต์วันเกิด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์เราคิดว่าต้องจบดีแน่ ๆ พอตอนใกล้จบพระเอกตาย เราก็จะจำได้ ฝังใจ หรือซีรี่ส์อย่าง Game Of Throne ฉากที่พีคที่สุดคือซีซันแรกที่หลอกให้คนดูคิดว่าคนนี้เป็นพระเอก แต่เขาดันตาย ทำให้เรางงและรู้สึกว่าพีค ถึงคนจะชอบความแน่นอน แต่ความไม่แน่นอนบางอย่างคนก็ชอบเหมือนกัน
3. Unique (ความเป็นตัวตน)
ถ้าเราเคารพในความเป็นตัวตนของใคร เขาก็จะรักเรา เช่น ถ้าเขาชอบทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ก็อย่าไปต่อว่าเขาเพราะนั่นเป็นความเป็นตัวตนของเขา เป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำไมเราเลือกใส่แว่น ใส่ต่างหูแบบนี้ โดยเฉพาะ 3 เรื่องอย่างที่ไม่ควรคุยหรือถกกันเนื่องจากมีความอ่อนไหวสูงอย่าง ศาสนา การเมือง และกีฬา เราต้องเคารพในความเป็นตัวตนของคนอื่น ๆ
4. Love (ความรัก)
ความรักที่หมายถึง ไม่จำเป็นต้องความรักระหว่างสามีภรรยาหรือแฟนเสมอไป อาจเป็นความรักระหว่างเพื่อน ครอบครัว ความรักคือการเสนอความช่วยเหลือ เป็นห่วงเป็นใย ให้กำลังใจ นั้นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงชอบเล่นเฟซบุ๊ก มีแค่ 2 เหตุผลเท่านั้น นั่นคือ
1. เราอยากรู้เรื่องคนอื่น
2. เราอยากให้คนอื่นรู้เรื่องเรา
เพราะอยากให้เขาสนใจเรา อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราซื้อรถใหม่ ไปกินอาหารญี่ปุ่นมา เราไปเหยียบตะปูมาและอยากให้คนมาใส่ใจ ถามว่าเป็นอะไรรึเปล่า
5. Growth (การเจริญเติบโต)
การเจริญเติบโตสามารถเป็นด้านใดก็ได้ เช่น ในแง่ของการทำงาน คนอาจทำงานกับเราด้วยเหตุผลด้านการเงิน คือทำงานด้วยแล้วจะรวย หรือทำงานกับเราด้วยเหตุผลด้านการศึกษา ทำงานด้วยแล้วเงินอาจจะไม่ได้มากแต่ฉลาดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะคนในยุต Millennials ที่ต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนเป็นแฟนกัน จะชอบมีคำถามว่า เมื่อไหร่เราจะได้ไปบ้านเขา รู้จักพ่อแม่เขา หรือมีลูกกัน เป็นการเจริญเติบโตด้านความรัก พูดง่าย ๆ ว่าใคร ๆ ก็อยากได้อนาคต
6. Contribution (การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน)
ลึก ๆ แล้วมนุษย์มีความต้องการอยากให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอยู่แล้ว เช่น การไปทำบุญ เพราะการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทำให้มนุษย์ได้รับความสุขแบบที่วัตถุให้ไม่ได้ หรือความสุขแบบอิ่มเอิ่บใจ (Fulfillment) เช่น ซื้อไอศกรีมให้เด็กหรือทำดีให้เด็ก ๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งเด็กเหล่านั้นก็ไม่ได้ให้อะไรเรากลับ (หรือมากที่สุดก็คือยกมือไหว้หรือยิ้มให้) แต่เราก็ยินดีที่จะทำให้ เพราะได้รับความสุขแบบไม่หวังสิ่งตอบแทน ยิ่งถ้าเราสามารถชวนคนอื่น ๆ ไปทำบุญ ทำกิจกรรมแบบอิ่มเอิ่บใจ เขาก็จะยิ่งรู้สึกดีกับเรา
เราอาจรู้สึกว่าการทำดีแบบไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นเรื่องยาก ต้องเป็นคนที่มีเงินพอแล้วเท่านั้น การที่จะไปทำบุญ เลี้ยงเด็กกำพร้า ต้องมีเงินถึงจะทำได้ การคิดแบบนี้ถูกครึ่งหนึ่ง การมีเงินทำให้เราสามารถทำบุญให้คนอื่นได้ แต่สุดท้ายแล้วเงินที่มากพอมันต้องเป็นจำนวนเท่าไหร่? สุดท้ายแล้วการที่เรารวยหรือไม่รวย มันอยู่ที่ว่าเราพอเมื่อไหร่ต่างหาก ถ้าเราพอเราก็จะมีเหลือ เมื่อเราเหลือเราก็จะมีให้ เวลาเราทำบุญ ต่อให้เราให้บาทเดียวหรือหนึ่งล้านบาทเราอาจได้บุญพอ ๆ กัน เพราะอยู่ที่เจตนาของเรา
การทำดีแบบไม่หวังสิ่งตอบแทนอาจไม่ใช่การบริจาคเงินอย่างเดียว แต่อาจเป็นการบริจาคสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตเรา นั่นคือ “เวลา” หากเราให้เวลากับคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนก็นับเป็นการให้เช่นกัน การสละเวลาไปทำจิตอาสา หรือสละพละกำลังไปยกของ ขนย้ายของ เป็นสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน
ถ้าเรายังบอกว่าเราไม่มีเวลา มันเป็นเพราะเราไม่พอ ถ้าเราไม่พอเราก็ไม่เหลือ ถ้าเราไม่เหลือก็ไม่มีแบ่งให้คนอื่น ลองจัดสรรและแบ่งเวลาให้คนอื่น และให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เมื่อนั้นเราจะได้รับความสุขแบบอิ่มเอิ่บใจ และถ้าเราสามารถพาคนอื่น ๆ ไปทำดีแบบไม่หวังสิ่งตอบแทนได้ เขาก็จะได้รับความสุขแบบอิ่มเอิ่บใจ และเขาก็จะรัก รวมถึงอยากอยู่กับคุณ
ภาพจาก www.pexels.com
ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
บทความที่เราแนะนำ