ช่วงนี้เพื่อนๆ คงจะอยู่บ้านกันจนเฉา ก็ใครจะไปคิดล่ะว่า ‘ความเบื่อ’ จะกลายเป็นความท้าทายของผู้คนทั่วโลกในช่วงโรคระบาดแบบนี้
CREATIVE TALK ค้นคว้าพบว่า เมื่อเราติดแหง็กอยู่แต่บ้าน ต้องตกอยู่ในจังหวะหนืดหนาดเนิบช้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไร้ซึ่งเรื่องราวน่าตื่นเต้นแปลกใหม่เข้ามาในชีวิต เป็นเหตุให้ความเบื่อหน่ายก่อตัวขึ้น ซึ่งถ้าสะสมจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ก็เสี่ยงจะเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ เพื่อนๆ จึงต้องคอยสำรวจใจกันให้ดีๆ ในระหว่างนี้
ดร.วิจแนนด์ แวน ทิลเบิร์ก (Wijnand Van Tilburg) นักจิตวิทยาที่ทำงานวิจัยเรื่องของอารมณ์เบื่อ ณ มหาวิทยาลัย Essex ประเทศอังกฤษ พบว่าความเบื่อนั้นเกิดจากเราหมดสิ้นความท้าทาย เสียจนรู้สึกไร้ค่า ไม่มีความหมาย ว่างโหวงอยู่ข้างในลึกๆ
ทางด้านศาสตราจารย์นักจิตบำบัด จอห์น ดี. อีสต์วูด ( John D. Eastwood) แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ค ในรัฐโตรอนโต ผู้ร่วมเขียนหนังสือ ‘Out of My Skull: The Psychology of Boredom.’ กับศาสตราจารย์ เจมส์ แดนก์เคิร์ต (James Danckert) ภาควิชาจิตวิทยามหาวิทยาลัย Waterloo ได้ให้คำนิยามความเบื่อหน่ายว่าเป็นอาการไม่แยแสต่อสิ่งใด รู้สึกกระสับกระส่ายสลับกับเซื่องซึม ไม่เป็นอันทำอะไร นั่นเป็นผลพวงมาจากเราไม่สามารถควบคุมชีวิตของเราได้ตามปกตินั่นเอง
“คุณต้องปล่อยให้เรื่องจุกจิกจำเจทำคุณเนื้อเต้นเสียบ้าง” – แอนดี วอร์ฮอล
You need to let the little things that would ordinarily bore you suddenly thrill you. – Andy Warhol
แต่ ‘ความเบื่อ’ จะว่าไปก็เป็นสัญญาณเตือนที่ดี ให้เราต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรสักอย่างให้หายเบื่อ อาจสะสางเรื่องที่ยังค้างคา กล้าจะลองฝึกฝนงานอดิเรกใหม่ๆ หรือลุกขึ้นมาจุดไฟแห่งความมุ่งมั่น แค่เพียงตั้งเป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ ในแต่ละวัน ค้นหาความเบิกบานใจของวันนั้นให้สำเร็จ ก็ถือเป็นการจุดประกายความสุขและความรู้สึกมีความหมายขึ้นในใจคุณ
ซึ่ง CREATIVE TALK คิดว่าถึงเวลาที่เราต้องคุยตกลงกับตัวเองใหม่ ด้วย 6 ข้อ ช่วยนำทางคุณออกจากความน่าเบื่อหน่ายไปหาจุดหมายที่ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าจากสิ่งที่ทำอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องอยู่แต่บ้านแบบนี้
6 วิธีกำจัดอารมณ์เบื่อ เพื่อค้นพบความหมายที่หายไป
1. ตั้งปณิธานใหม่
ยึดถือในเจตนาดีที่เราตัดสินใจงดความบันเทิงบางอย่างในชีวิต ก็เพราะมันมีความหมายต่อตัวเองและคนอื่นอย่างไร เช่น เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผิดชอบต่อสังคม การลดพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างลง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับมาติดครอบครัวที่เรารัก เป็นต้น หากไม่จำเป็นจริงๆ เราต้องปฏิบัติตามกฎที่เราตั้งไว้ เพราะเราให้คุณค่าต่อคำมั่นสัญญา
2. ออกแบบชีวิตให้เข้ากับจังหวะใหม่
ตั้งกิจวัตรประจำวันใหม่ทดแทนลงไปในตารางที่ว่างเว้นจากกิจกรรมที่แต่ก่อนต้องออกไปนอกบ้าน ลองออกแบบเวลาคุณภาพที่คุณได้อยู่กับตัวเอง ครอบครัว และการงานให้สมดุลและสม่ำเสมอมากขึ้น จะช่วยทำให้คุณจัดสัดส่วนเวลาไม่ให้ไหลเอื่อยไปตามใจจนขาดวินัยในตนเอง
3. ประเมินค่าพลังงานชีวิตใหม่
ซอยย่อยสิ่งที่ต้องทำ แบ่งเวลาพักเพื่อบริหารพลังงานของเราให้เพียงพอกับกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาท้าทายตนเองในแต่ละวัน โดยไม่ควรหักโหมหรือตั้งเป้าหมายที่ง่ายดายจนเกินไป
4. ตั้งหน้าหาทำเรื่องใหม่ๆ
มองหากิจกรรมอะไรที่ยังไม่เคยลอง เรื่องที่ไม่คิดว่าเราก็ทำได้ เรื่องที่เคยคิดจะทำแต่ไม่มีเวลา หรือจะเป็นเรื่องที่อยากศึกษาเจาะลึกให้รู้ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพื่อให้เราได้คืบหน้ากับบางเรื่อง สร้างความสำเร็จเล็กๆ ที่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง เป็นความภูมิใจอยู่ลึกๆ ให้คุณได้รู้สึกดีกับตัวเอง
5. พร้อมเอาใหม่
จัดการความรู้สึกผิดที่ทำไม่ได้อย่างตั้งใจ ลองประมาณตนใหม่ ลดความคาดหวังกับตัวเองลงมาอีกนิดในเวลาที่ยังไม่แกร่งพอ บางทีก็จำเป็นที่ต้องผ่อนปรนและให้รางวัลตัวเองบ้าง พอสบายใจแล้วค่อยกลับมาเอาใหม่ เพื่อไม่ให้ความเครียดทำให้คุณมีข้ออ้างผัดผ่อนไม่ยอมทำเรื่องสำคัญๆ ออกไปเรื่อยๆ
6. ส่งกำลังใจให้กันจากใจ
แค่ติดตามกันผ่านโซเชียลมีเดียอาจยังไม่พอ เราควรได้ต่อสนทนากันจริงๆ ได้โทรศัพท์ฟังเสียงหรือวิดีโอคอลแบบเห็นหน้าตากัน เพื่อเพิ่มความรู้สึกเชื่อมโยงกับสังคมที่เราห่วงใยอย่างแท้จริง
แหล่งอ้างอิง
- The Main Reason for Your Pandemic Boredom
- 6 things you can do to cope with boredom at a time of social distancing