😱 ใกล้สิ้นปี ต้องมีคุยกับทีมแบบ 1:1 ทำไงดี!?
การคุยกับทีม การ Feedback กันและกัน สำหรับบางคนเป็นเรื่องยากเสมอ พูดตรงไปก็กลัวจะเศร้า พูดอ้อมเกินก็กลัวจะไม่เก็ท วันนี้เราได้รวบรวมเทคนิคทั้งมุมมองของผู้นำที่ต้องคุยกับลูกทีม และมุมของลูกทีมจะต้องทำอย่างไรให้การคุยกับหัวหน้าเป็นไปได้ด้วยดี ลดความอึดอัด และตามเป้าหมายที่เราคาดหวัง
📘 รวม 7 เทคนิคการคุยกับทีมแบบ 1:1 Meeting
เทคนิคที่ 1 : คุยเพื่อขอคำติชมเกี่ยวกับผลงานของเรา
ไม่ว่างานที่เราได้รับผิดชอบจะทำแล้วสำเร็จ หรือไม่สำเร็จก็ตาม สิ่งที่ควรได้มีโอกาสพูดคุยกัน คือการขอคำติชมเกี่ยวกับผลงานที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีม หรือลูกทีม ก็สามารถขอความเห็น ขอรับคำติชมเพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนาต่อได้ ซึ่งเหมาะมาก ๆ ในช่วงที่มีการพูดคุย 1:1 Meeting เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้คุยกันแบบตรงไปตรงมา นำไปสู่การปรับปรุง เรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้น
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : พี่สามารถทำได้อย่างที่เราคาดหวังไว้ไหม ?
คำถามลักษณะนี้คือการถามตรง ๆ โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้า สามารถพูดกับลูกทีมได้ เพื่อให้ทีมได้ Feedback อย่างตรงไปตรงมา หรือแม้กระทั่งลูกทีมเอง ก็สามารถถามกลับได้เช่นกัน ว่าเราเองสามารถทำได้อย่างที่พี่คาดหวังไว้ไหม ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพื่อเช็กความคาดหวังร่วมกัน
รูปแบบคำถามที่ 2 : งานที่พึ่งจบไป มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ?
รูปแบบนี้จะเป็นการถามอ้อม ๆ แต่ก็ได้ประเด็นที่ชัดเจนเหมือนกับรูปแบบคำถามที่ 1
รูปแบบคำถามที่ 3 : งานที่พึ่งจบไป เราเผลอมองข้ามอะไรไปหรือเปล่า ?
การถามแบบนี้ ทำไปเพื่อนึกร่วมกันทั้งหัวหน้าทีม และลูกทีม โดยไม่ต้องตำหนิกัน เพื่อเช็กว่าเราได้รับผิดชอบงานครบทั้งปี หรือมีงานไหนที่อาจจะลืม เพื่อแสดงถึงความใส่ใจร่วมกัน
รูปแบบคำถามที่ 4 : มีอะไรที่ฉันควรจะเริ่ม ควรจะหยุด ควรจะทำต่อไป ?
การถามแบบนี้ร่วมกัน จะช่วยให้ทีมเห็นภาพชัดเจน แล้วรู้ด้วยว่า ตัวเราควรจะเริ่มอะไรหลังจากนี้ แล้วมีสิ่งไหนที่ต้องหยุดทำ ซึ่งอาจจะไม่สำคัญ และอะไรที่เราควรเริ่มในอนาคตต่อไปบ้าง
เทคนิคที่ 2 : คุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ที่นอกเหนือจากการทำงาน
การคุยแบบนี้เหมาะอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อทีม เช่น เวลาเราเห็นทีมงานพึ่งเข้ามาทำงานใหม่ ในอาทิตย์แรก ๆ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เขาไม่ตื่นตระหนก และรู้สึกสบายใจขึ้น จากเดิมที่จะคุยแต่งาน ลองเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นที่เขาสนใจ คนเป็นหัวหน้าทีมต้องใส่ใจเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : เป็นอย่างไรบ้าง หัวหน้าทีมโอเคไหม ?
เวลาต้องคุย 1:1 Meeting การที่ผู้นำยิงคำถาม Feedback ร่วมกัน จะช่วยให้เราเห็นมุมมองจากลูกทีมได้ด้วย ถ้าเราไม่ดีตรงไหน หัวหน้าทีมต้องกล้าปรับปรุง และต้องกล้าให้ทีม Feedback ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยสำคัญ ทำให้ลูกทีมมั่นใจที่จะกล้าพูดออกมา
รูปแบบคำถามที่ 2 : เอ๋..ช่วงนี้เล่นกีฬาอะไรหรือเปล่า ?
รูปแบบคำถามนี้ไม่จำเป็นต้องแค่กีฬา แต่เป็นรูปแบบคำถามของการสังเกตพฤติกรรมคนในทีม เราในฐานะผู้นำต้องหาความเชื่อมโยงของน้อง ๆ ในทีม ลองถามเขาที่นอกเหนือจากเรื่องงานบ้าง การถามแบบนี้ยังช่วยให้เราเห็นไลฟ์สไตล์ของทีม เห็นว่าเขาชอบอะไร รักอะไรเป็นพิเศษ และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อทีม
เทคนิคที่ 3 : คุยเพื่อให้การสนับสนุน
บางครั้งการพูดคุยแบบ 1:1 Meeting ก็ไม่ได้ต้องต่อว่าเสมอไป แต่เราสามารถคุยเพื่อสนับสนุนร่วมกัน เพื่อค้นหาพื้นที่ซัพพอร์ตทีม ให้อีกฝ่ายกล้าเปิดใจคุยกับเรา บางครั้งการคุยแบบสนับสนุนจะช่วยให้ผู้นำมองเห็นศักยภาพใหม่ ๆ ของทีมเพิ่มขึ้น และเห็นถึงสิ่งที่ลูกทีมของเราอยากจะทำ เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะไม่กล้าพูดมันออกมา หรือไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน จงใช้โอกาสนี้คุยกัน!
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : ช่วงนี้เธอให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอยู่บ้าง ?
คำถามนี้สะท้อนการให้การสนับสนุนคนในทีม ถ้าสิ่งที่คนในทีมมันส่งผลกับการทำงาน เราก็สามารถพัฒนาจุดแข็ง พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้เขาได้ หรือถ้าช่วงนี้น้องในทีมสนใจเรื่องการลงทุน เราก็อาจจะส่งเสริมหาคอร์สการลงทุน หรือช่วยส่งเสริมให้เขาได้มีความรู้ไปต่อยอดการลงทุนนั่นเอง หรืออีกกรณีถ้าเราเห็นว่าทีมมี Performance ที่ตกลง แทนที่จะไปต่อว่าเขา ให้คิดกลับกันแล้วลองฟังให้มาก เพื่อช่วยซัพพอร์ตให้เขาได้มั่นใจ ให้เขาได้รู้ข้อผิดพลาด แล้วแนะนำ Solution เพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไป
รูปแบบคำถามที่ 2 : ช่วงนี้มีอะไรกวนใจเราหรือเปล่า ?
ความกวนใจของคนเรา มักจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ลองถามคนในทีม แล้วให้เขาได้กล้าเปิดใจ ว่าช่วงนี้มีอะไรกังวลใจไหม แนะนำว่าให้ลองค่อย ๆ List ออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนร่วมกัน
เทคนิคที่ 4 : คุยเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
บางครั้งในที่ประชุมมีคนเยอะมาก เราอาจจะมีคำถามในใจที่อยากให้หัวหน้าซัพพอร์ต แต่ไม่กล้าพูด หรือเกรงใจคนอื่น การเลือกจะมาพูดกับหัวหน้าแบบ 1:1 Meeting ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก การคุยลักษณะนี้จะช่วยเปิดใจให้ทีมงานได้กล้าพูด ลดความกังวลใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผู้นำมองเห็นว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตแน่ ๆ
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : มันมีงานนึงที่เป็น ‘ความท้าทาย’
การที่ลูกทีมเดินมาถามแบบนี้ แสดงว่าเขามองเห็นความท้าทายของงาน มันมีความยาก เขาอยากขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าทีม และการเลือกพูดคำว่า ‘ความท้าทาย’ แสดงถึง Mindset ที่ไม่ได้มองว่านี่คือปัญหา แต่มันคือความท้าทายที่เราต้องรับผิดชอบ ทำให้ได้ร่วมกัน ซึ่งเราก็สามารถขอรบกวนหัวหน้าทีม ให้ช่วยไกด์ได้ หรือหา Solution ร่วมกัน
รูปแบบคำถามที่ 2 : มีอะไรที่พอจะให้ช่วยซัพพอร์ตได้บ้างไหม ?
คำถามนี้เหมาะอย่างมากที่คนเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าทีม ต้องพูดออกมา เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้คนในทีมได้รู้ว่าหัวหน้าพร้อมจะซัพพอร์ตเราอยู่เสมอ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
รูปแบบคำถามที่ 3 : เล่าไอเดียทั้งหมด หลังจากนั้น มีอะไรจะต่อยอดเพิ่มเติมบ้าง ?
ส่วนใหญ่รูปแบบคำถามนี้คือการเล่าถึงเนื้อหางานสิ่งที่อยากจะขอความช่วยเหลือทั้งหมดออกมา เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน แล้วค่อยถามปิดท้ายว่า จากทั้งหมดนี้ทุกคนมีอะไรจะต่อยอดเพิ่มเติมบ้าง หรือมีความเห็นอะไรบ้าง
เทคนิคที่ 5 : คุยเพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานกับความคาดหวัง
การคุยแบบนี้เหมาะมากในช่วงที่ ‘เราไม่แน่ใจในชิ้นงานที่เรากำลังทำอยู่’ เช่น เอ๋..ทำไมในห้องประชุมคนนี้ขมวดคิ้ว หรือทำไมคนนี้เวลาเราพูดไป เขาตอบกลับมาไม่ตรงคำถาม เป็นต้น ซึ่งเทคนิคนี้เหมาะอย่างมากกับการให้ความสำคัญของคนในทีม รวมไปถึงลูกทีมเองก็สามารถให้ความสำคัญกับเพื่อน กับหัวหน้าทีมได้เช่นกัน
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : อยากขอความเห็นเพิ่มเติม และคุณคิดว่าอย่างไรบ้าง ?
การถามแบบนี้ อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความคาดหวัง กรณีที่เราได้ข้อมูลไม่เพียงพอ หรือมีคน Feedback สั้นเกินไป ทำให้เราลังเลใจว่ามันดีใช่ไหมนะ ? ซึ่งทางที่ดีถ้าไม่แน่ใจ ให้เราเดินไปถามความเห็นเพิ่มเติมได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับกับความเห็นเหล่านั้นด้วย ยิ่งคนเป็นหัวหน้าทีมการยอมรับ Feedback ในทีมสำคัญ ลดความหัวดื้อลง แล้วลงมือทำในสิ่งที่เห็นสมควรร่วมกันกับทีม
รูปแบบคำถามที่ 2 : สิ่งที่ฉันทำไป ถูกต้องไหม, มีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือเปล่านะ ?
เวลาที่เราไม่แน่ใจ ว่าอีกฝ่ายเข้าใจเหมือนกับเราหรือเปล่า ให้ลองถามประโยคนี้ เพื่อทบทวนเรื่องราวว่าทั้งทีมเห็นตรงกันไหม เข้าใจถูกต้องร่วมกันหรือไม่ หรือมีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือเปล่า
รูปแบบคำถามที่ 3 : เธอคิดว่าสิ่งที่ฉันทำไป มันจะไปถึงเป้าหมายได้หรือเปล่า ?
คำถามนี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อปรับโฟกัสร่วมกันกับทีมได้เช่นกัน
รูปแบบคำถามที่ 4 : ฉันพลาดอะไรไปหรือเปล่า ?
คำถามนี้ถามได้นะ เพราะบางครั้งเวลาเราเป็นผู้ฟัง โอกาสพลาดฟังผิดฟังถูกเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือเราอย่ากลัวที่จะพูดว่าไม่เข้าใจ เพราะยิ่งปล่อยเวลาเลยไป ตัวเราต่างหากจะสร้างผลกระทบให้กับทีม รู้แบบนี้แล้ว ควรรีเช็กตัวเอง กล้าถามว่าเราไม่เข้าใจ
เทคนิคที่ 6 : คุยเพื่อเช็กเป้าหมายของเรา ว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรหรือเปล่า
ชุดคำถามนี้มักใช้ตอนที่ทำงานแล้วขาดทิศทางการทำงาน หรือบางคนหมดไฟกับการทำงาน ทำมานานมากแล้วหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ดังนั้นเรามาดูชุดคำถามกันดีกว่า ว่าควรทำอย่างไร
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : มันมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ที่ฉันควรจะรู้บ้างไหม ?
เช่น น้องในทีมคุยกับหัวหน้า มันมีอะไรในองค์กรที่ผมควรจะรู้บ้าง ซึ่งน้องในทีมถามได้ หรือหัวหน้าทีมก็ถามได้เช่นกันว่า สิ้นปีนี้อยากจะทำอะไรพิเศษบ้าง, หรือปีหน้าเราคาดหวังอะไรบ้าง อยากทำอะไรบ้าง เพราะบางครั้งอาการหมดไฟอาจจะเป็นเพราะเราหมดเป้าหมาย จึงต้องถามคำถามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไปสู่เป้าหมายใหม่ ๆ นั่นเอง
รูปแบบคำถามที่ 2 : ถ้าเต็ม 10 พี่จะให้กี่คะแนน ?
คำถามนี้จะนำไปสู่การเห็นทิศทางใหม่ ๆ เช่น ถ้าเกิดหัวหน้างานลองประเมินตัวเรา หรือลองประเมินภาพใหญ่ขององค์กรเป็นตัวเลข เช่น ผมให้ 7 คะแนน มันจะเกิดคำถามต่อว่า แล้วอีก 3 คะแนนหายไปไหน แล้วทำไมตอนนี้คุณถึงให้ 7 คะแนน เพื่อที่จะได้รู้ถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้นต่อไป
รูปแบบคำถามที่ 3 : ตอนนี้พี่กำลังเตรียมทำอะไรอยู่บ้าง ?
การถามแบบนี้จะนำไปสู่การรู้โปรเจกต์ในอนาคต เพื่อให้เห็นว่ามีอะไรที่เราเติมเต็ม หรือต้องเตรียมรับมือบ้าง
รูปแบบคำถามที่ 4 : มีงานไหนที่เราต้องรับผิดชอบ หรือเป็นแกนสำคัญบ้างไหม ?
คำถามนี้จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของคนทำงาน ว่าเขาจะเป็นแกนสำคัญอะไรบ้างในอนาคตต่อจากนี้ แล้วคนทำงานเองก็จะได้รู้ทิศทางของปีหน้า ว่าเราจะมีบทบาทอย่างไร ต้องรับมืออย่างไร หรือถ้างานมันท้าทายมาก เราต้องไปฝึกทักษะอะไรเพิ่มบ้าง ไปเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้างนั่นเอง
เทคนิคที่ 7 : คุยเพื่อคอยมองหาโอกาสในการเติบโต และความก้าวหน้าทางอาชีพ
การคุยลักษณะนี้จะเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางอาชีพ หรือไปถึงขั้นการย้ายงานเลยก็ได้ เพราะถ้าหากมิชชันขององค์กรไม่ตรงกับเรา เราก็จะได้รู้ก่อนว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือถ้ามิชชันองค์กร เราอยากจะท้าทายกับมัน ตัวเราก็จะได้รู้ว่า ในอนาคตตำแหน่งหน้าที่การงานเราจะเติบโตได้อย่างไร
คำแนะนำชุดคำถามที่สามารถนำไปใช้ได้
รูปแบบคำถามที่ 1 : พี่คิดว่าในอนาคต เราอยู่ในแผนพิเศษอะไรของพี่บ้าง ?
ความหมายคือตัวพนักงานต้องการเปลี่ยนแปลง เราอยากรู้ว่า เราจะเติบโตไปในทิศทางไหนบ้าง เพราะการถามแบบนี้แสดงถึงตัวพนักงานไม่ได้อยากอยู่อย่างที่เป็นทุกวันนี้ แต่อยากมีความก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น
รูปแบบคำถามที่ 2 : พี่ว่าทักษะของเรามีอะไรที่น่าจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้บ้าง ?
การถามแบบนี้จะช่วยให้เรารู้จุดอ่อน และจุดแข็งของตัวเอง อย่างชัดเจน เพื่อให้คนที่เป็นหัวหน้าได้ Feedback ได้ส่งเสริมพัฒนาร่วมกัน
รูปแบบคำถามที่ 3 : พี่เคยคิดจะเปลี่ยนงานบ้างไหม อะไรที่ทำให้พี่ไม่คิดจะเปลี่ยนไปไหน ?
การถามแบบนี้ อาจจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่งก่อนจะถามลองฝึกสังเกตบรรยากาศให้ดีก่อน แต่คำถามที่ตรงแบบนี้ มันหมายถึงคนทำงานกำลังตามหาความหมายของชีวิต เพราะเขาจริงจังกับการทำงานมาก และเขาอยากเห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ในฐานะผู้นำควรตอบให้ชัดเจนเป็นข้อ ๆ ให้เขาเห็นภาพจะเป็นการตอบโจทย์ทีมงานได้ดี
อย่าลืมลองนำ 7 เทคนิคนี้! ไปลองปรับใช้ในการทำ 1:1 Meeting ในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ การมีโอกาสได้พูดคุยกันแบบเปิดอกแบบนี้สำคัญมาก
🤩 ประโยชน์ดี ๆ มาบอกต่อกัน 🤩
แอบมาบอกว่าสำหรับใครที่กำลังหา ‘สมุดจด’ ในรูปแบบ Planner ที่จะเป็นสมุดคู่ใจเพื่อหยิบมาเขียนทบทวนตัวเอง และยังสามารถทำ Brain Dump + Prioritization แบบสำเร็จรูปไม่ต้องนั่งตีตารางเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง CREATIVE TALK เองก็ได้จริงจัง และใส่ใจกับการทำสิ่งที่เรียกว่า…
“The Organice Planner by CREATIVE TALK” โดยเป็นการ Collab กันระหว่าง CREATIVE TALK และ ZEQUENZ เพราะเรารู้ว่าการจัดการเวลาในแต่ละวันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจะนำเครื่องมือช่วยจัดลำดับความสำคัญ และลับคมความคิด ให้ทุกคนได้กระตุ้นสมอง
Planner ที่จะมาช่วยคุณจัดการความคิดและกระตุกไอเดียสร้างสรรค์ได้ในทุก ๆ วัน ที่มีจำกัดเพียงแค่ 500 เล่มเท่านั้น!!
📖 สมุดเล่มนี้ทำอะไรได้บ้าง? 📖
- ลับคมความคิด ผ่าน Creative Exercise 12 รูปแบบ เลือกทำเดือนละครั้ง
- About Yourself คุณรู้จักตัวเองดีแค่ไหน? รู้จักตัวเอง เพื่อทบทวนความคิดอยู่เสมอ
- ติดตามอารมณ์ บันทึกอารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ด้วยการกำหนดสีแทนอารมณ์
- จัดระเบียบงาน เริ่มต้นด้วยการดึงทุกสิ่งที่อยู่ในสมองของเราออกมาวางไว้ด้านนอก
- จัดการงานได้มีประสิทธิภาพ ด้วย Brain Dump, Prioritize, Monthly Planner และ Weekly Planner และพื้นที่จดไดอารี่บันทึกเรื่องราวประจำวัน
- สมุดแพลนเนอร์ แบบไม่ระบุวันที่ ผลิตจากกระดาษคุณภาพดีปราศจากสิ่งปนเปื้อนหรือสารเคมี
- เปิดกางได้ 360 องศา สันโค้งมน ยืดหยุ่น ตามแบบฉบับ ZEQUENZ
- มาพร้อม Magnetic Bookmark สำหรับคั่นหน้ากระดาษ มีให้เลือก 2 สี คือ สีขาว (White) หรือ สีชมพู (Magenta)
เปิดให้ทุกคนจับจองกันแล้ว! จำนวนจำกัดเพียง 500 เล่มเท่านั้น
✱ ราคาเล่มละ 750 บาท (ค่าจัดส่งแบบ EMS เริ่มต้นที่ 50 บาท) ✱
สั่งซื้อได้ทาง Facebook inbox : m.me/zequenz
เรา CREATIVE TALK และ ZEQUENZ เชื่อว่า Planner เล่มนี้จะช่วยเปลี่ยนชีวิต ความคิด และการจัดการ ทำให้คุณรู้สึกดีได้ในทุกวัน
เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ