อัปเดตเทรนด์ผู้บริโภคในปีหน้า!

Accenture Life Trends 2024 เมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป แล้วธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร?

Last updated on พ.ย. 28, 2023

Posted on พ.ย. 21, 2023

หัวใจสำคัญของ ‘เทรนด์ มักเกิดจาก มนุษย์’

Accenture Life Trends 2024 ที่จัดโดย Accenture ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี และธุรกิจระดับโลก พูดเกี่ยวกับภาพรวมใหญ่ของผู้บริโภค และเทคโนโลยีของโลกในปีนี้ และที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ ๆ ความเร็วของโลกเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรามาดูกันดีกว่า 5 เทรนด์ ที่เราจะรับมือกับความต้องการลูกค้าเปลี่ยนไป แล้วธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร

เทรนด์ที่ 1

🤔 การปรับราคาขึ้น หรือลดคุณภาพเป็นเรื่องที่ลูกค้าไม่พอใจ

หลายปีที่ผ่านมาเราสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘Customer Centric’ หรือยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจทุกครั้ง แต่ในปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจกำลังบังคับให้กับหลายธุรกิจให้ต้องลดต้นทุนทั่วทั้งองค์กร ซึ่งเรื่องนี้นำไปสู่ความไม่พอใจของลูกค้า ไม่ว่าจะปรับราคาของสินค้าขึ้น, การลดคุณภาพสินค้า, การสมัครสมาชิกรับข้อมูลต่าง ๆ แบบไม่สมเหตุสมผล และการบริการลูกค้าที่ไม่ดีเหมือนเก่า

จากผลสำรวจของ Accenture ของฝั่งผู้บริโภค และแบรนด์ในปีนี้ระบุไว้ว่า

  • 37% ของคนทั่วโลกคิดว่าหลายบริษัทให้ความสำคัญกับผลกำไรที่สูงขึ้น มากกว่า ประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น
  • 40% ของ CXOs (Customer Experience Officer) กล่าวว่าพวกเขาตั้งใจที่จะปรับขึ้นราคาเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้า

แน่นอนว่าเราต้องยอมรับเรื่องของผลกำไร หากบริษัทไหนไม่สามารถทำได้ โอกาสอยู่รอดก็จะไม่นาน จากผลสำรวจเราจะเห็นปัจจัยอยู่หลายอย่างด้วยกันทั้งในด้านการลดคุณภาพหรือขนาด (shrinkflation) เช่น ขนมถุงเท่าเดิม แต่ปริมาณกลับลดลง หรือการลดเรื่องการบริการ (skimpflation) เช่น ร้านนี้แต่ก่อนพนักงานต้อนรับหลายคน แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือแล้ว ซึ่งหลายแบรนด์ก็มีการปรับอย่างเงียบ ๆ ซึ่งลูกค้าบางกลุ่มจะหงุดหงิดกับการกระทำของแบรนด์ และจะนำไปสู่ผลกระทบในระยะยาวที่ลูกค้าเมินไม่สนใจอีกต่อไป

แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
  • ธุรกิจต้องคิดหาทางสร้างประสบการณ์กับลูกค้าร่วมกัน หากเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแล้วควรประนีประนอมกับลูกค้า เพื่อรักษาความไว้วางใจ และรักษาลูกค้าในระยะยาว
  • สมดุลระหว่างต้นทุนที่อาจจะกระทบกับลูกค้าคืออะไร คิดให้รอบด้านโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอยู่เสมอ
  • อย่าเมินสิ่งที่ลูกค้าสงสัย การตอบคำถามและตอบสนองอย่างรวดเร็วสำคัญมาก ห้ามปล่อยให้ลูกค้าสงสัยนาน ธุรกิจหรือแบรนด์ควรมีเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีในการติดตามความคิดเห็นของลูกค้า ใส่ใจให้มากขึ้นกว่าที่ผ่าน ๆ

เทรนด์ที่ 2

🤔 Generative AI กำลังอัปเกรดผู้คน

Generative AI กำลังยกระดับประสบการณ์อินเทอร์เน็ตของผู้คนจากการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าโลกดิจิทัลเกี่ยวข้องกับตัวเองมากกว่าที่เคย ในด้าน interface จะถูกยกระดับหน้าตาใหม่ ๆ เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมจาก AI และที่สำคัญ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เป็นรูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชนิดหนึ่งที่โมเดลถูกเทรนด้วยข้อมูลข้อความมากมายมหาศาลจากอินเทอร์เน็ต จะเป็นตัวขับเคลื่อนอินเทอร์เฟซใหม่ ๆ ให้กับผู้คนมากขึ้นในอนาคต

ในด้านผลสำรวจการใช้ Conversational AI (เช่น ChatGPT) ของคนส่วนใหญ่บอกว่า

  • 77% ทราบเรื่องนี้
  • 52% เคยใช้แล้ว (หรือรู้จักใครที่เคยใช้)
  • 42% เปิดใจยอมรับคำแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้

จากผลสำรวจของคนทั่วโลกในการใช้ Generative AI พบว่า

  • 39% ของผู้ที่มีอายุ 18-34 ปี รู้สึกตื่นเต้นกับคำตอบเชิงสนทนาระหว่าง AI มากกว่า การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
  • 42% รู้สึกสะดวกสบายโดยใช้การสนทนา AI เพื่อค้นหาคำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่สนใจ

แบรนด์หรือธุรกิจต้องเริ่มหันมาสนใจเรื่องของ Generative AI มากยิ่งขึ้น และต้องรู้ลึกมากกว่าเดิม อะไรที่เหมาะสมกับเรา หรือแมทช์กับแบรนด์ของเรา พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลให้การค้นหาสินค้าบางอย่างเปลี่ยนไป

เช่น จากเดิมถ้าหากอยากซื้อ ‘ทีวี 42 นิ้ว’ เราจะค้นหาทีวียี่ห้ออะไร คุณสมบัติอะไร แต่ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มให้ AI คำนวณแล้วว่าห้องขนาด 4x8 โดยพื้นที่มีโซฟาขนาด 1 ม. ห่างออกไป 2.25 ม. ให้ AI แนะนำหน่อยว่าทีวีขนาดไหนเหมาะกับห้องของเรา เป็นต้น เรื่องนี้จะมีผลกระทบอย่างมากสำหรับการทำอินเทอร์เฟซในเว็บไซต์ หรือการเปลี่ยนโครงสร้างของเทคโนโลยี หรือธุรกิจของแต่ละบริษัท

แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
  • คุณต้องลงลึกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันรวดเร็ว และความคาดหวังของลูกค้า มากกว่าการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
  • ให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI หรือส่งเสริมการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ

เทรนด์ที่ 3

🤔 ความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์เริ่มจางหาย

ความคิดสร้างสรรค์ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชม หรือลูกค้า แต่ในปัจจุบันเวลาเราจะทำหนัง ทำสินค้าออกมาอย่างไรให้แตกต่าง ทุกวันนี้กลับขึ้นอยู่กับ ‘เทคโนโลยี’ มากขึ้น ไม่ว่าจะเทคนิคการถ่ายทำ หรือใช้เทคโนโลยีในการสร้างโฆษณาให้ล้ำสมัย

มีสถิติที่น่าสนใจถึงผู้บริโภคทั่วโลกจาก Accenture พบว่า

  • ภาพยนตร์ยอดนิยมที่เป็นภาคต่อ, ภาคแยก หรือรีเมก เพิ่มขึ้น 80% ในปี 2019 และยังคงเพิ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เหตุผลเพราะการทำตามสูตรสำเร็จเดิมได้ผล
  • 35% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีปัญหากับการออกแบบแอปพลิเคชันจากแบรนด์ (App Designs) พวกเขาแยกไม่ออก หรือแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร หลายแอปมีความคล้ายกันซึ่งในกลุ่มอายุ 18 - 24 ปี รู้สึกมากถึง 40%

เรื่องนี้มีความสำคัญกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงมากเกี่ยวข้องกับ ‘ความพึงพอใจของลูกค้า’ เป็นเรื่องที่ไม่มีผิดมีถูกถ้าเกิดคุณอยู่ในวงการหนังแล้วทำหนังภาคต่อ หรือไม่มีถูกมีผิดถ้าเกิดคุณทำสินค้าแล้วคล้ายกับคนอื่น แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดในอนาคตอันใกล้นี้คือ ‘ความแตกต่าง หรือ ความแปลกใหม่’ คือหัวใจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ

แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
  • การสร้างความแตกต่าง และยังคงรักษาเอกลักษณ์แบรนด์คือกุญแจสำหรับในการแข่งขัน
  • นำเทคโนโลยีมาขยายต่อยอดให้กับคนในองค์กรด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ใช่เพื่อมาแทนที่คน
  • รู้จักตัวเอง รู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแบรนด์ และต้องมีตัวชี้วัดผลงานที่ทำออกมา

เทรนด์ที่ 4

🤔 ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวกับเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

การมาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน กำลังทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนเป็นโทษ มากกว่าเป็นประโยชน์ ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังดูภาพยนตร์ที่เทคโนโลยีแซงหน้ามนุษย์ แต่สิ่งนี้กำลังเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป หลายครั้งที่มีงานเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ แพลตฟอร์มใหม่ ผู้บริโภคมักจะพิจารณาถึงความคุ้มค่าอยู่เสมอ รวมไปถึงรู้สึกด้วยว่ามันเร็วเกินไป ของใหม่มาอีกแล้ว และยังมีความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีจนรู้สึกว่าอนาคตดูน่ากลัวไปหมด

จากการสำรวจผู้คนทั่วโลกพบว่า

  • 47% ความเร็วของเทคโนโลยีใหม่นั้นเยอะจนเกินไป
  • 41% เทคโนโลยีทำให้ชีวิตของเราซับซ้อนมากขึ้นพอ ๆ ในทางกลับกันก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
  • 37% การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าวิธีการใช้งานเทคโนโลยี
แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
  • ตรวจสอบและสอบถามให้แน่ชัดว่า การมีเทคโนโลยีช่วยลดภาระให้กับพนักงานหรือไม่ และไปช่วยอะไรให้กับลูกค้า ถ้ารู้ว่าเป็นการเพิ่มภาระทางจิตใจของลูกค้าอย่าฝืนที่จะไปต่อ
  • ระมัดระวังในการนำเทคโนโลยีใหม่มาสู่พนักงานและลูกค้า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของลูกค้าในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี แต่แบรนด์ต้องหยิบจับเทคโนโลยีที่ใช่มาปรับใช้กับองค์กร หรือลูกค้า

เทรนด์ที่ 5

🤔 ทศวรรษแห่งการรื้อถอน - อะไรที่เคยดีในอดีต จะไม่ดีอีกต่อไป

เส้นทางชีวิตแบบเดิม ๆ กำลังถูกเปลี่ยนไป สู่เส้นทางข้อจำกัดใหม่ ความจำเป็นที่เคยมี และโอกาสที่เคยหวัง จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากผลสำรวจของผู้คนระบุไว้ว่า

  • 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าการระบาดใหญ่และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เวลานั้นทำให้พวกเขาตั้งคำถาม และให้ความสำคัญเกี่ยวกับ ‘การเลือกใช้ชีวิต’
  • 48% กล่าวว่าพวกเขาวางแผนล่วงหน้าในอนาคตน้อยกว่าหนึ่งปีหรือไม่เลย
  • 30% กล่าวว่าการแต่งงานเป็นสิ่งสำคัญเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 21%

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความหมายของอายุ, เพศ, กลุ่มเศรษฐกิจและสังคม หรือระดับอาชีพนั้น อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับแบรนด์อีกต่อไป แนวความคิดใหม่กำลังเกิดขึ้น พฤติกรรมใหม่ ๆ มีให้เรียนรู้จากผู้คนมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดมุมมองที่แตกต่างสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ แนวทางที่เน้นชีวิตเป็นศูนย์กลางช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ องค์กรควรปรับตัวไปตามเส้นทางที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้คนให้มากขึ้น

แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
  • เหตุการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นทำให้หลายครอบครัวลำดับความสำคัญเรื่องของ การซื้อบ้าน, การแต่งงาน, การสร้างครอบครัว ความคิดเหล่านี้ส่งผลต่อการเต็มใจที่จ่ายสินค้า ซึ่งแบรนด์ต้องกลับมาคิดเรื่องเหล่านี้ให้ลึกขึ้น เข้าใจถึงแก่นความต้องการของลูกค้าจากพฤติกรรมใหม่มากขึ้น
  • กลยุทธ์ที่เคยมีแล้วได้ผลในอดีต บางครั้งมันอาจจะไม่ได้ผลในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือควรทำความเข้าใจพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคให้มากขึ้นเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และโอกาสที่เพิ่มขึ้นของรายได้

แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags