ปรับนิสัยเลิกพูดว่า "ไว้ก่อน" ได้ใน 3 ขั้นตอน

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on เม.ย. 12, 2019

คุณรู้ไหมคะ ว่าวันที่คนชอบออกกำลังกายมากที่สุดคือวันไหน … คำตอบคือ “วันพรุ่งนี้” คนเรามักจะผัดผ่อนภารกิจของตัวเอง งานต่าง ๆ ไปก่อน รอจนเหลือเวลาจวนเจียนค่อยทำ เหลือเวลาน้อยก็ทำลวก ๆ ล่ก ๆ จนผลงานออกมาไม่ดี ต้องกลับมาแก้ไขไม่จบสิ้น มีข้อผิดพลาดเดือดร้อนไปถึงคนอื่น หรือบางครั้งผัดไปจนงานไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องใหญ่บานปลายใหญ่โต

แต่ก็น่าสนใจอีกเช่นกัน ว่าทำไมเราเลื่อนบางเรื่องไปเรื่อย ๆ แต่กับบางเรื่องเราไม่ยอมที่จะเลื่อนไปแค่ซักวินาที หรือบางครั้งอาจจะอยากให้มันมาถึงก่อนเวลาด้วยซ้ำ

นั่นเป็นเพราะเรื่องที่เราอยากให้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นั้น

เป็นเรื่องที่ “เราจะมีความสุขหรือได้ผลประโยชน์บางอย่าง”

หรือ “เราจะชอบตัวเองมากขึ้น” เมื่อเรื่องนั้นสำเร็จ

เพราะเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ คือ มนุษย์ทุกคนย่อมอยากทำให้ตัวเองมีความสุข

ดังนั้นหากจะทำให้งานสำเร็จโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทริคสำคัญคือทำให้งานนั้นดึงดูดใจ อยากให้เรื่องนั้นสำเร็จ เราจะมีความสุขและชอบตัวเองมากกว่าวันนี้ที่กำลังเริ่มต้นทำ

ขั้นตอนที่ 1. หาให้เจอก่อนว่าเรื่องไหนมีแนวโน้มที่เราจะเลื่อนออกไป

เช่น ในบรรดาเรื่องทั้งหมดที่จะต้องทำ 5 เรื่อง เรื่องไหนที่เราไม่อยากทำที่สุดให้เลือกออกมา แล้วลองหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ว่า

– เรื่องนี้ต้องเป็นเราเท่านั้นที่จะทำให้สำเร็จได้ใช่ไหม

– ถ้าเราทำเรื่องนี้สำเร็จ เราจะชอบตัวเองในด้านไหนมากขึ้นอีก

– ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้จะมีใครเดือดร้อนบ้าง และเดือดร้อนอะไรบ้าง เรารับได้และเขารับได้ไหม

ถ้าทั้ง 3 ข้อข้างบนตอบตัวเองไม่ได้ แสดงว่าสิ่งนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเป็นคนทำก็ได้ เราเลยผัดไปเรื่อยเปื่อย เราอาจจะเอางานที่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเราทำ เราอาจจะเอางานที่ไม่ได้พัฒนาตัวเองมาทำ และงานนี้อาจจะไม่ได้จำเป็นที่จะต้องทำเลยก็ได้เพราะไม่มีใครเดือดร้อนด้วยซ้ำถ้าเราไม่ได้ทำให้สำเร็จ

แต่ถ้าตอบตัวเองได้ทั้ง 3 ข้อ นั่นหมายความว่า นี่ล่ะคืองานที่เราต้องทำจริง ๆ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเห็นความจำเป็นและไม่เคยคิดมาก่อนว่าทำงานนี้แล้วจะดีกับเราอย่างไร

ขั้นตอนที่ 2. กำหนดวันที่เรื่องนี้จำเป็นต้องเสร็จ

กำหนดวันแล้วเสร็จอาจจะแบ่งเป็นระยะ หรือแบ่งเป็น phase ย่อย ๆ ได้ เพื่อทยอย re-check เรื่องต่าง ๆ ให้แล้วระหว่างทาง 

พูดถึงเรื่องกำหนดวันมีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง คือวิธีการมอง Launch Date ซึ่งอาจจะมองได้ 2 ลักษณะ คือลบที่สุด กับบวกที่สุดไปเลยคือ

– ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้ทำเลย วันที่จะร้ายแรงที่สุดคือวันไหน นั่นคือ Deadline คือตายจริงๆ ถ้าปล่อยให้เวลาเดินไปถึงเส้นนั้นแล้วทุกอย่างไม่เสร็จ

– มองอีกแบบคือ วันที่ฉันจะได้ถึงเส้นชัยจริง ๆ วันที่ฉันจะได้เก่งขึ้นอีกเรื่องคือวันไหน วันที่ user ทั้ง 500,000 คนจะได้ login เข้ามาเจอระบบที่ดีกว่าเดิมคือวันไหน คนที่ชวนให้โจ้คิดแบบนี้คือให้คิดเหมือนวันที่จะได้แต่งงานค่ะ แต่ระหว่างนั้นอาจจะ bridezilla หรือเปล่าก็ว่ากันอีกเรื่อง

การกำหนด deadline หรือ launch dead นี้ จะทำให้คุณวางแผนทยอยทำได้ด้วยว่า เรื่องไหนที่ต้องทำก่อนหลัง บางคนชอบเอาเรื่องยากมาทำก่อนเพื่อให้กำลังใจตัวเองว่าผ่านเรื่องยากมาแล้วเจอเรื่องง่ายจะทำให้เรามั่นใจและ clear tasks ง่าย ๆ นั้นได้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่บางคนเลือกที่จะทำงานง่ายก่อนเพื่อให้ตัวเองมั่นในและเหลือเวลาไปกับสิ่งที่ควรต้อง focus ในตอนท้ายให้มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็แล้วแต่สไตล์ของตัวเอง

ขั้นตอนที่ 3 . ให้รางวัลกับความสำเร็จ

ข้อนี้สำคัญที่สุด ทำเส้นชัยให้มีความสุขแล้วคุณจะอยากวิ่งไปถึงที่นั่นให้เร็วที่สุด เร่งวันเร่งคืนให้เป้าหมายนั้นมาถึงเร็ว ๆ รางวัลนั้นอาจจะไม่ต้องใหญ่มาก แค่ชานมไข่มุก ขนมปังเนยสด หรือกาแฟดี ๆ ซักแก้ว ก็ยังได้ หรือถ้าจะให้ดี ของเป็นรางวัลร่วมกันที่มากกว่าแค่เราคนเดียว เช่น ถ้างานนี้สำเร็จเราไปกินอาหารเกาหลีกัน ถ้างานนี้สำเร็จเราไปร้องคาราโอเกะกัน เรามีความสุขว่าชุ่มชื่นหัวใจแล้ว ถ้าเราได้รู้ว่าแรงที่เราลงไปทำให้คนรอบข้างมีความสุข จะยิ่งทำให้เรารู้สึกมีประโยชน์มีคุณค่า ตัวโตขึ้นกว่าวันที่เริ่มงานนี้อีกเป็นกอง

เมื่อรู้แล้วว่าที่เส้นชัยมีอะไรรออยู่ ก็อยู่ที่เราแล้วค่ะว่าเราจะยอมให้ความขี้เกียจทำให้ความสุขถอยห่างออกเราไปเรื่อย ๆ อีกนานแค่ไหนก็เท่านั้นเอง

ติดตามสาระการจัดการดี ๆ กับ The Organice Podcast ที่จะมาชวนคุณพูดคุยกัน ว่าด้วยเรื่องการจัดการตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ให้ชีวิตของคุณ  Nice ขึ้นได้ทุกวัน อัพเดทกันได้ทุกวันศุกร์ที่ www.creativetalklive.com หรือ Subscribe กันได้ที่ CREATIVE TALK Podcast ในช่องทางที่คุณสะดวกกันได้เลย

https://www.podbean.com/podcast-detail/sjw6x-74533/CREATIVE-TALK-podcast

trending trending sports recipe

Share on

Tags