เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย หลายครั้งเรามักไม่อยากจะเผยจุดอ่อนของตัวเองให้ใครรู้ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นสิ่งที่ให้อีกฝ่ายใช้เอาเปรียบ แต่ไม่ใช่เสมอไป… ในบางสถานการณ์ “การเปิดเผยจุดอ่อน” ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน
1. การเกริ่นนำด้วยจุดอ่อน จะช่วยลดความเป็นปรปักษ์ของผู้ฟัง
ประโยคหนึ่งที่ศาสตราจารย์ด้านการตลาดได้บอกไว้ คือ “เมื่อเรารู้ว่าใครสักคนกำลังพยายามโน้มน้าวใจเราอยู่ เราจะสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมจากคู่สนทนา เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนว่า เราจำเป็นต้องป้องกันตัวเองจากการถูกชักจูง” ความมั่นใจกลายเป็นเรื่องร้ายแรงให้คนฟังสร้างเกราะป้องกัน ดังนั้น การพูดแต่เรื่องที่ดีอย่างเดียว จึงทำให้คนฟังรู้สึกว่า เขากำลังถูกโน้มน้าวใจ หรือถูกหลอกขายบางอย่าง
แต่ถ้าเรานำเสนอจุดบกพร่องหรือข้อเสียออกไปก่อน มันทำให้เขารู้สึกว่า พวกเขากำลังช่วยกันแก้ปัญหา มากกว่ากำลังถูกเสนอขาย และการเปิดเผยจุดอ่อน ยังทำให้คนฟังรู้สึกว่า เราเป็นคนถ่อมตนและจริงใจอีกด้วย
2. การเกริ่นนำด้วยข้อจำกัดของแนวคิดหรือปัญหาต่าง ๆ จะทำให้เราดูฉลาด
มันเป็นการบอกกับอีกฝ่ายว่า เราประเมินข้อบกพร่องของตัวเองมาก่อนแล้ว รวมถึงฉลาดพอที่จะทำการบ้าน และคาดเดาปัญหาที่อาจจะต้องพบเจอ การทำแบบนี้เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า เราไม่ได้ถูกแนวคิดของตัวเองชักจูง และไม่ได้ใช้แนวคิดนั้นชักจูงคนอื่น
3. การเปิดเผยจุดอ่อน ทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ตัวอย่างในมุมของการเจรจาทางธุรกิจ หน้าที่ของนักลงทุน คือการมองหาข้อผิดพลาดของบริษัท การบอกข้อบกพร่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางธุรกิจให้นักลงทุนได้รู้ก่อน จึงเปรียบเหมือนการทำงานบางส่วนแทนพวกเขา ซึ่งจะทำให้นักลงทุน มีความเชื่อใจในธุรกิจเรามากขึ้น
4. การเปิดเผยจุดอ่อน ทำให้ผู้ฟังประเมินเเนวคิดของคุณในแง่ดีมากยิ่งขึ้น
เมื่อผู้ฟังทราบถึงข้อเสียต่าง ๆ แล้ว เขาจะไม่พยายามหาข้อเสีย ตั้งแง่ หรือตั้งคำถามต่างอีก เพราะคุณได้บอกเขาไปก่อนแล้ว มันจะเป็นเรื่องยากมากกว่า ถ้าผู้ฟังจะพยายามหาข้อด้อยข้อที่ 6 ของคุณ หากคุณบอกข้อด้อยออกไปก่อนแล้วถึง 5 ข้อ
เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้คือ ประโยชน์ของ “การเปิดเผยจุดอ่อน” นั่นเอง…
ถอดความจาก Morning Call Podcast
เรียบเรียงโดย สนธยา สุตภักดิ์