จากการเสียชีวิตของ George Floyd อย่างไม่เป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจที่เข่ากดบริเวณคอของเขาขณะเข้าจับกุมนำไปสู่ประเด็นการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาที่สร้างความร้อนระอุไปทั่วทุกรัฐ กระทั่งเกิดการประท้วงทั้งภาคพื้นดิน และการส่งเสียงของดารา เหล่าผู้มีชื่อเสียง รวมถึงแวดวงกราฟิกดีไซเนอร์เองก็เช่นกัน และนี่คือเหล่า 17 ดีไซเนอร์จากทุกมุมโลกที่เลือกส่งเสียงเหตุการณ์นี้ผ่านรูปภาพ ลายเส้น และสีที่สะท้อนถึงทรรศะของพวกเขาเอง
Mona Chalabi
นักข่าวและนักเขียนชาวอังกฤษนำเสนอสถิติข้อมูลจำนวนคนผิวสีที่ถูกตำรวจทำร้ายในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1974-2020 และมีผู้ชายและเด็กผิวสีถึง 251 คน ที่ถูกฆ่าโดยตำรวจสหรัฐอเมริกาในปี 2019
Sacrée Frangine
คู่หญิงสาวครีเอทีฟเลือกสะท้อนแคมเปญนี้ผ่านสามคำบนเด็กผู้ชายว่า black children matter และชายหนุ่มว่า black lives matter และคำว่า black future matter บนใบหน้าของหญิงสาว และปิดท้ายภาพด้วยคำว่า no more silence แม้จะเป็นรูปภาพที่เรียบง่ายมีเส้นทรวดทรงใบหน้าและรูปร่างของคนแต่เรากลับสัมผัสได้ถึงพลังเจตนารมย์โดยเฉพาะประโยคปิดสุดท้ายของทั้งคู่ได้อย่างดีทีเดียวเลยล่ะ
Courtney Ann
เมื่อไม่นานมานี้ Courtney Ann นักวาดภาพประกอบลูกครึ่งสหรัฐ-เกาหลี เธอทำซีรีย์ภาพที่ว่าด้วย A Guide to White Privilege ในช่วงกุมภาพันธ์ที่มา พร้อมกับประโยคที่ชวนเราขบคิดอย่าง “White privilege doesn’t mean your life hasn’t been hard, it means your skin tone isn’t one of the things making it harder” โดยจุดประสงค์ของการทำซีรีย์นี้ เธอต้องการสื่อสารว่า เหล่าคนผิวขาวสามารถช่วยเหลือและเป็นกระบอกสีให้กับขีวิตคนผิวสีอย่างไรได้บ้าง
Reyna Noriega
ศิลปินและนักเขียนชาวผิวสีละติน-อเมริกา สะท้อนความรู้สึกของเธอเองที่มีต่อเหตุการณ์นี้และความเจ็บปวดชีวิตหญิงผิวสีคนอื่นๆ ผ่านของเรือนร่างของหญิงสาวผิวสีที่นอนคว่ำพร้อมกับเลือดที่ไหลนองและเต็มไปด้วยชื่อของคนผิวสี ผู้เสียชีวิต และตำรวจที่เอาปืนจ่อหัวของหญิงสาว
Brandy Chieco
Enough is Enough ศิลปินนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนทรรศนะของตนเองผ่านรูปเท่านั้น เธอยังแสดงเจตจำนงค์ผ่านแคปชั่นว่า หากคุณเป็นคนผิวขาวที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถช่วยอย่างได้ไรบ้าง ฉันขอแนะนำว่าคุณควรทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้เสียก่อนและความรู้คือพลัง
Laura Breiling
ภาพวาดนี้แม้จะมีสีสันที่สดใสของดอกไม้ที่พื้นหลังแต่ก็ยังชวนเราหดหู่ไม่น้อยเพราะบุคคลที่อยู่กลางรูปคือ George Floyd เหยื่อคนผิวสี ผู้เสียชีวิตจากความไม่เป็นธรรม และแฮชแท็กด้านบน #sayhisname ที่ศิลปินต้องการสื่อว่า นี่คือชื่อของเหยื่อผู้ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมของสังคมกระทั่งต้องจบชีวิตของตนเองลง
Quentin Monge
กราฟิกดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เธอมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เคยจบลงและสิ่งที่เธออยากเห็นเองก็คือคนผิวขาวและคนผิวสีมีไมตรีสันติต่อกันผ่านหญิงสาวผิวขาวและผิวสีที่โอบกอดซึ่งกันและกัน
Petra Eriksson
น้อยแต่มาก เต็มไปด้วยพลังจากเฉดสี นี่คือความรู้สึกของเราแวบแรกที่เห็นภาพของศิลปินคนนี้ แม้จะไร้ซึ่งประโยคใดๆ บนภาพแต่เราก็รับรู้ถึงความสะเทือนใจต่อเหตุการณ์นี้ของ Petra ได้เป็นอย่างดี
Ashley Lukashevsky
“การเหยียด ลัทธิอาณานิคม สิ่งเหล่านี้ควรถูกเผาทิ้งไป” “เรามาสร้างโลกใบใหม่ที่คนผิวสีใช้ชีวิตกันอย่างปรกติสุข…” ส่วนตัวแล้วเราชอบผลงานนี้ที่ทั้งสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันและให้พลังอะไรบางอย่างที่ชวนให้ทุกคนเรียนรู้ ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้ต่อภายภาคหน้าว่า สิ่งที่เราควรทำคือการเรียนรู้การกระทำในอดีตที่และก้าวไปสู่วันข้างหน้าด้วยการไม่ผิดพลาดเช่นในอดีต
Harriet Lee-Marrion
ดนตรี อารยธรรมและสิ่งต่างๆ ที่คนผิวสีต่างสร้างสรรค์ขึ้นบนโลกใบนี้ คือสิ่งที่ศิลปินบอกเล่าผ่านภาพชายผิวสีที่บรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในหัวของเขาเอง
Matt Blease
เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่อาจทำได้เพียงคนคนเดียว การร่วมแรงร่วมใจของผู้คนคือพลังที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับแนวคิดของนักวาดภาพประกอบชาวลิเวอร์พูล แห่งอังกฤษ เขานำเสนอแคมเปญนี้ผ่านกลุ่มคนที่ช่วยกันยกกำปั้น สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ด้วยกันเสมือนว่าพวกเราทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับเหตุการณ์นี้
Worry Lines
หากใครที่ตั้งคำถามว่า เราจะช่วยให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดีได้อย่างไรบ้าง ภาพของ Worry คือแนวทางหนึ่งที่เราสามารถกระทำได้ เขาเลือกสื่อสารผ่านคาแรกเตอร์ตัวละครที่สื่อสารได้อย่างเข้าใจง่ายพร้อมกับประโยคสั้นๆ ของแต่ละการกระทำ
Reuben Dangoor
“ไร้ความยุติธรรม ไร้ความสันติสุข” จะมีอะไรที่สะท้อนเหตุการณ์นี้ไปได้ดีกว่าประโยคดังกล่าว ศิลปินคนนี้ยังย้ำข้อความที่ว่านี้ด้วยมือของคนผิวสีที่แม้จะแสดงสัญลักษณ์แห่งความสันติสุขแต่ก็ยังไม่วายมีกุญแจมือของตำรวจล็อกสองนิ้วนี้
Chole Bennett
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและเตะตาเราตั้งแต่แวบแรกที่เห็น ด้วยตัวอักษรสีชมพูที่มีขาของผู้คนทุกผิวสี และประโยคที่กินใจ “no justice no peace”
Sarah Wako
George Floyd ไม่ใช่เหยื่อคนผิวสีที่ต้องจบชีวิตลงอย่างไม่เป็นธรรม Sarah Wako ยังใช้ภาพวาดของเธอบอกเล่าเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นคนผิวสีข้ามเพศอีกสองคนที่โดนกระทำความรุนแรงโดยตำรวจเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมานี้
Aurélia Durand
นอกจากผลงานชิ้นนี้ที่เตะตาใครหลายคนแล้ว ศิลปินชาวฝรั่งเศสคนนี้ยังสร้างผลงานภาพประกอบผ่านรูปแบบหนังสือที่ชื่อว่า 20 lessons on how to wake up, take action, and do the work, by Tiffany Jewell. อีกด้วยเช่นกัน
Kristen Barnhart
ศิลปินคนสุดท้ายของแคมเปญนี้ เธอไม่ได้ต้องการสื่อเพียงแค่เหตุกาณ์นี้ของคนผิวสีเท่านั้น Do something ของเธอยังหมายถึง เรื่องการศึกษา ความไม่เท่าเทียมกัน และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับคนผิวสีอีกด้วย
อ้างอิง : Graphic designers share illustrations and resources in support of Black Lives Matter
เรื่อง : CREATIVE TALK
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ
- กราฟแสดงผู้ติดเชื้อโควิด19 กับความลับของดีไซน์ที่ซ่อนอยู่
- อินทีเรียดีไซน์เนอร์แชร์เทคนิคการจัดสเปซห้องให้คุณอยู่สุขตลอดวัน อยู่ยันตลอดเดือน
- Call to Action เทคนิคที่คนทำคอนเทนต์และดีไซน์ต้องรู้!