ทั้งที่มีศิลปินมากขึ้น แต่ทำไมธุรกิจเพลงไทยถึงโตช้ากว่ายุคก่อน

สรุป 7 เรื่องสำคัญ ที่คนทำธุรกิจดนตรี และคนวงการเพลงควรรู้ จากงาน THACCA SPLASH : Soft power forum 2024

Last updated on มิ.ย. 30, 2024

Posted on มิ.ย. 30, 2024

อุตสาหกรรมเพลงไทย ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศ เพราะเรามีศิลปินที่พร้อมเติบโตเป็น Super Star มากหน้าหลายตา แต่จะทำอย่างไร เมื่อประเทศเรากลับไม่สามารถผลักดันศิลปินไปให้ไกลกว่านี้ได้

ที่งาน THACCA SPLASH : Soft power forum 2024 ในเซสชัน ‘Strategies for Expanding the Thai Music Industry into the Global Market - กลยุทธ์สำหรับการขยายอุตสาหกรรมดนตรีของไทยไปสู่ตลาดโลก’ นั้น คุณพงศ์นรินทร์ อุลิศ จาก Cat Radio, คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม จาก T-Pop Incorporation, คุณคาล คงขำ จาก Warner Music Thailand และคุณพลกฤต ศรีสมุทร จาก YUPP! ก็ได้มาร่วมเสวนาใน 7 เรื่องสำคัญ ที่คนในอุตสาหกรรมดนตรี และวงการเพลงไทยควรรู้

1. นักดนตรีเก่งขึ้น แต่คนฟังยังเข้าไม่ถึง

ใน 20 ปีมานี้ วงการเพลงไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะสมัยก่อนคนที่ทำดนตรีคือเด็กอาร์ต แต่ตอนนี้คือเด็กที่จบด้านดนตรีมาโดยเฉพาะ ซึ่งเพลงไทยสามารถไปถึงระดับสากลได้ง่าย ๆ แต่ปัญหาคือคนฟังยังตามไม่ค่อยทัน นั่นทำให้แม้คนทำเพลงจะเก่ง แต่คนฟังยังเข้าไม่ถึง ก็ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างศิลปินกับผู้ฟังขาดหายไป


2. เราให้อัลกอริทึมมากำหนดต่อมรับฟัง

บทบาทของเพลงสมัยก่อนหน้านั้น DJ ในคลื่นวิทยุจะเป็นตัวกำหนด ยิ่งเพลงไหนถูกเปิดบ่อย ๆ ก็จะยิ่งดัง ซึ่งเรียกได้ว่าศิลปินเติบโตด้วยวิทยุ แต่ปัจจุบันเราฟังสตรีมมิงเป็นหลัก ทำให้ลักษณะการฟังนั้น ถูกเสิร์ฟด้วยอัลกอริทึมแทน ซึ่งทำให้คนไทยรู้จักเพลงได้น้อยลง


3. เพลงที่จะดัง คือเพลงที่ทำเพื่องานกลางคืน

ในต่างประเทศนั้น ตัวชี้วัดว่าเพลงจะดังค่อนข้างมีหลายปัจจัย เพลงจะดังได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในวงสังคมเดียว แต่ของเพลงไทยนั้นค่อนข้างแตกต่าง เพราะเพลงไทยไม่ได้มีแรงสนับสนุนขนาดนั้น ซึ่งพูดเลยว่าเพลงที่จะดังได้คือเพลงที่ ‘ทำเพื่องานกลางคืน’ อย่างผับ บาร์ เพราะค่อนข้างถูกจริตกับคนไทย แต่ดันไม่ใช่ทุกเพลงที่จะเล่นในงานกลางคืนได้ นั่นทำให้หลายเพลงขาดการสนับสนุน


4. คนไทยยังไม่สนับสนุน ‘แผ่น’ เท่าที่ควร

สมัยที่เป็นยุคเทปล้านตลับ คนสนับสนุนศิลปินมาก อยากฟังเพลงก็ต้องจ่าย แต่ในยุคปัจจุบัน คนมักมองว่าเพลงต้องฟังฟรี ซึ่งหลายคนสนับสนุนศิลปินด้วยการซื้อ Merchandise อย่างโปสเตอร์ หรือเสื้อวงก็จริง แต่กลับไม่ซื้อแผ่น ทั้งที่ความจริงการซื้อแผ่นจะช่วยสนับสนุนศิลปินได้ดีที่สุด


5. ทุกคนสามารถปล่อยของได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น Superstar ได้

พฤติกรรมการฟังของคนเปลี่ยนไป เพราะยุคนี้เรามูฟออนจากเพลงได้ไวขึ้น สมัยก่อนที่หลายเพลงยังเป็นอมตะ มันเกิดจากการที่เราได้แบ่งปันเพลงให้คนอื่นได้ฟัง แต่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ทำให้คนต่างคนต่างฟัง เพลงก็เลยดังยากขึ้น แม้จะเป็นยุคที่ทุกคนทำเพลงได้ดีก็ตาม เพราะเดี๋ยวนี้เพลงทำง่าย ทุกคนสามารถปล่อยของในอินเทอร์เน็ตได้ แต่การจะเป็น Superstar เหมือนแต่ก่อนนั้นมันไม่ง่ายเลย


6. เราควรสร้างพื้นที่ให้คนฟังได้คอนเนกต์กับศิลปิน

คนไทยเก่งขึ้น ยุคนี้เราสามารถสร้างศิลปินได้ง่ายขึ้น นั่นทำให้เราต้องหาทางเชื่อมต่อคนฟัง และศิลปินเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการ…

  1. สร้าง Fandom ซึ่งเราต้องมีกลุ่มแฟนคลับที่พาศิลปินไปพบ และให้การสนับสนุนศิลปินอยู่เสมอ
  2. สร้างระบบนิเวศที่ทำให้ศิลปินได้เติบโต โดยค่ายต้องสร้างระบบนิเวศให้คนมาเอนเกจมากขึ้น

7. จะพาศิลปิน Go Inter ได้ต้องคำนึงถึงพลังของวัฒนธรรมสร้างสรรค์

  1. เราควรจะมีฐานคนฟังในบ้านก่อน ค่อยไปปักในต่างประเทศ ดังนั้น Soft power จึงจะเกิด แต่หลายครั้งคนในบ้านไม่ค่อยรู้จัก ยกตัวอย่าง 20 ปีก่อนคนทั่วโลกรู้จักผู้กำกับ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แต่เมื่อเดินไปถามคนไทย กลับไม่มีใครรู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ดังนั้นตลาดเพลงต้องโตกว่านี้ เราจึงจะได้ไปต่อ เพราะไม่งั้นศิลปินจะทำเพลงเป็นงานอดิเรกแทน ทั้งที่เก่งแค่ไหน แต่ก็โตไม่ได้

  2. การมี Stage ให้ศิลปินได้โชว์ จะช่วยทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จัก เพราะหลายครั้ง คนต่างประเทศก็รู้จักศิลปินจาก Stage แต่ปัญหาคือการทำ Stage ไม่ค่อยได้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้หลายที่ไม่ได้ทำต่อ

  3. เมืองไทยดูเป็นตลาดที่มีความหวังจะเติบโตสำหรับคนต่างชาติ เพราะพวกเขามองว่าเราอาจเป็น New Wave ของวงการเพลงอาเซียน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่มีแค่เราที่ขยับ เพราะฟิลิปปินส์เองก็กำลังผลักดัน P-Pop และญี่ปุ่นก็กลับมาส่งออก J-Pop ด้วยอนิเมะ จนเป็นอีกเวฟที่น่าจับตามอง


แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ ถ้าอยาก Go Inter อย่าไปคิดว่าไปต่างประเทศเพื่อเล่นให้คนไทยที่นั่นดู แต่ควรคิดว่าไปเล่นให้ใคร กลุ่มคนฟังเป็นแบบไหน ซึ่งบางครั้งเพลงที่เวิร์คสำหรับไทย และต่างประเทศนั้นต่างกัน เราต้องค่อย ๆ บิลด์ทาง ถ้าอยากทำเพลงให้ปัง ไม่ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษ 100% หรอก เพราะเพลงจะดังได้ นั้นขึ้นอยู่กับ Vibe ถ้าถูก Vibe ไม่ว่าภาษาอะไร คนฟังมันเอาหมด

trending trending sports recipe

Share on

Tags