ทำไมกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นอนาคตขององค์กรกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุดในที่ทำงาน
หัวหน้าระดับกลางต้องเผชิญภาวะอะไร ผลวิจัยเผย การเป็นคนตรงกลาง ทำให้ลีดเดอร์รุ่นใหม่หมดไฟมากขึ้น
ในยุคที่ทุกคนต้องติดอาวุธความรู้ให้ตัวเอง การขึ้นไปสู่แถวหน้าขององค์กรหรือขึ้นเป็นลีดเดอร์นั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทว่าหลายครั้งเรากลับพบว่าเพื่อนร่วมงานที่ได้โปรโมตไม่นานกลับเกิดอาการหมดไฟ หรือน้องร่วมทีมที่เข้ามาใหม่ ดันลาออกไปหลังจากทำงานได้ไม่นานซะงั้น
เมื่อดูจากรายงานของ World Economic Forum แล้วจะพบว่า ภายในปี 2025 เราจะมีคนรุ่นใหม่ในที่ทำงานจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้มีถึง 27% ที่เป็นชาว Gen Z ซึ่งทุกองค์กรคาดหวังว่าพวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ทำไมเราถึงพบว่าคนรุ่นใหม่มักจะลาออกกันเร็วนักนะ
จากงานวิจัยของปีล่าสุดของ Fast Company พบว่าคนรุ่นใหม่ และชาว Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุดในที่ทำงาน เพราะหากงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่พวกเขาคาดไว้ คนกลุ่มนี้ก็เต็มใจที่จะลาออก เพื่อไปเริ่มทุกอย่างด้วยตนเอง
การเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่ง ทำให้พวกเขาก้าวไปสู่แถวหน้าขององค์กร และเป็นหัวหน้าระดับกลางได้อย่างรวดเร็ว ทว่าการที่ต้องรับแรงกดดันจากคนข้างบน ขณะเดียวกันก็ต้องหวังพึ่งผลลัพธ์จากคนข้างล่าง ทำให้พวกเขามีความกดดันที่สูง
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 2015 พบว่า 18% ของหัวหน้าระดับกลางมีอาการซึมเศร้า ในขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติการกับผู้บริหารจะเป็นซึมเศร้าเพียง 11-12% เท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว การรักษาความสัมพันธ์ในสถานที่ทำงานนั้นยากกว่าผู้นำระดับสูง เพราะการเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้พวกเขานั้นต้องทำงานกับคนต่างเจนตลอดเวลา
ในหลายองค์กรนั้น ตำแหน่งหัวหน้าระดับกลาง มักจะตกเป็นของพนักงานรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเอง จากความกดดันในแบบทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะเขายังเป็นเด็กใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องบริหารคนอื่นไปด้วย ซึ่นอกจากนั้นการบริหารคนที่อายุมากกว่าทำให้พวกเขาทำงานได้ยาก
🚨 ทำไมหัวหน้ารุ่นใหม่ถึงหมดไฟเร็ว 🚨
🔥 ไฟแรงแต่โดนพัดดับได้ง่าย 🔥
หัวหน้ารุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z เป็นรุ่นที่โดดเด่นด้วยแพชชั่นที่แรงกล้า อย่างไรก็ตามความทะเยอทะยานตามธรรมชาตินี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกกดดัน และความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อความเป็นจริงไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของพวกเขา ทำให้เกิดความรู้สึกคับข้องใจขึ้นมา
🔥 งานประจำกัดกินเวลาส่วนตัว 🔥
การค้นหาสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นทางอาชีพ และชีวิตส่วนตัว มักเป็นปัญหาสำคัญสำหรับหัวหน้ารุ่นใหม่ เพราะพวกเขารู้สึกว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องไปทุ่มทุกอย่างให้กับงาน ทว่าด้วยวัฒนธรรมองค์กรนั้นก็อาจทำให้เขา แยกทั้งสองได้ยาก เนื่องจากงานแย่งเวลาส่วนตัวไปจากชีวิตพวกเขามากเกินไป
🔥 วัฒนธรรมการทำงานตลอดเวลา 🔥
คนมักจะคิดว่าหัวหน้ารุ่นใหม่คือชาวดิจิทัลโดยกำเนิด คนรุ่นมิลเลนเนียลได้เห็นการเพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำให้หลายองค์กรต่างคาดหวังว่าพวกเขาจะต้องสแตนด์บายเพื่อทำงานตลอดเวลา ยิ่งตอน Work From Home นั้น ทำให้ระดับสูงมักจะคิดว่าพวกเขาต้องพร้อมตลอด ซึ่งความพร้อมเหล่านี้ ทำให้หัวหน้ารุ่นใหม่ชาร์จแบตชีวิตได้ยาก จนนำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง
การเป็นหัวหน้าระดับกลางในยุคที่เร่งรีบนี้ อาจทำให้หัวหน้ารุ่นนี้รู้สึกเหนื่อยหน่ายมากขึ้น ซึ่งแนวคิดที่ว่ายิ่งเราทำงานงานหนักก็ยิ่งสำเร็จนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขายึดมั่นอีกต่อไป เพราะการที่เราเองหมดไฟนั้น จะทำให้การดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของลูกทีมนั้นยากขึ้นไปอีก ซึ่งหัวหน้ารุ่นใหม่นั้นควรต้องเป็นกระบอกเสียงเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานหนักเกินไป มากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ๆ ในบริษัท เพราะเราคือคนที่เข้าใจดีทั้งความกดดันของคนด้านบน และความรับผิดชอบของคนด้านล่าง
ในขณะที่ลีดเดอร์รุ่นใหม่นำความทะเยอทะยาน และนวัตกรรมมากมายมาสู่องค์กร แต่วัฒนธรรมที่กัดกินพวกเขานั้น ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟได้ง่าย ดังนั้นแล้วองค์กรเองก็ควรพิจารณา เพื่อหาวิธีที่จะตระหนักถึงความท้าทาย เพื่อใช้กลยุทธ์ในการสนับสนุนหัวหน้ารุ่นใหม่ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่ทุกคนจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขขึ้นมา
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Why millennial managers are burned out
- Managing career expectations for Gen Z
- Who is Gen Z and How Will They Impact the Workplace?