สงครามมลพิษแห่งอนาคต เมื่อจีนรบกับฝุ่นควันด้วยพลัง Big Data

หลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยของเราต้องสู้รบตบมือกับปัญหามลพิษมาเนิ่นนาน ผู้คนมากมายต้องทนทุกข์กับฝุ่นที่ลอยอยู่บนอากาศ ความเจ็บปวดจากฝุ่นควันไม่ได้สร้างบาดแผลให้เราแค่ที่เดียว แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็ยังต้องกุมขมับกับเรื่องนี้เช่นกัน

Last updated on พ.ค. 10, 2023

Posted on พ.ค. 9, 2023

ประเทศจีนถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตมลพิษระดับโลก พวกเขาถือว่าเจนจัดในสายการสู้รบกับฝุ่นควัน ทั้งการปิดแหล่งผลิตมลพิษ ปรับจิตสำนึกประชาชน จวบจนนำเข้าสู่วาระแห่งชาติ และล่าสุดจีนยังใช้ Big Data เข้ามาช่วยจัดการปัญหามลพิษ แต่กว่าจะถึงจุดนี้พวกเขาทำยังไง และอะไรคือจุดเปลี่ยนให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ CREATIVE TALK จะแถลงไขให้ฟัง


ย้อนกลับไปในปี 2008 เวลานั้นจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหามลพิษมหาศาล พวกเขาเผชิญสภาพอากาศแบบนี้มาเป็นสิบปี ซึ่งปัญหานี้ก็หนักหน่วงเอาการ ขนาดที่ว่าประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศหลักล้านคนต่อปี

เวลาเดียวกัน จีนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก ทำให้จีนโดนนานาประเทศจับตามอง เพราะพวกเขากังวลว่า สภาพอากาศเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อนักกีฬาผู้เข้าแข่งขัน จีนจึงเริ่มแผนการระยะสั้นเพื่อปรับปรุงสภาพอากาศ พวกเขาระงับการใช้รถยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษ 300,000 คัน, ระงับการก่อสร้างและปิดโรงไฟฟ้า ทำให้คุณภาพอากาศในช่วงโอลิมปิกดีขึ้นถึง 30% เลยล่ะ

แม้จะปรับปรุงสภาพอากาศให้ดีแค่ไหน แต่หลังจากผ่านโอลิมปิกไป มาตรการต่าง ๆ ก็เริ่มผ่อนปรนจนปัญหามลพิษทางอากาศกลับมาหนักอีก มีฝุ่นปกคลุมท้องฟ้า ทำให้ปักกิ่งกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยประชาชนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘วันสิ้นโลก’ เลยทีเดียว ซึ่งเสียงโวยวายเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ก็ทำให้รัฐบาลต้องนำเรื่องนี้มาจัดการโดยด่วน

ปี 2013 รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศ ‘สงครามกับมลพิษ’ พร้อมนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระแห่งชาติ ภาครัฐปรับมาตรการใหม่เพื่อความยั่งยืน ตั้งแต่ย้ายที่ตั้งโรงงานออกจากพื้นที่อยู่อาศัย ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเพื่อกีดกันการเผาพืชไร่ ตลอดจนทำแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ

มาตรการเหล่านี้ได้นำอากาศที่สดใสกลับมาสู่ท้องฟ้าจีนอีกครั้ง คุณภาพอากาศของจีนดีขึ้นถึง 35% จำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจลดลง ทว่าแม้จะจัดการได้ดีแค่ไหน ปัญหาใหม่ก็ยังโผล่ขึ้นมาให้พวกเขาตามแก้

ดั่งหนังที่มีตัวร้ายแล้วก็ต้องมีบอสที่อยู่สูงกว่า การศึกษาใหม่พบว่า นอกจากจีนจะมีฝุ่น PM 2.5 ในตอนกลางวันแล้ว ในเวลากลางคืนยังมีก๊าซไนเตรตที่ถูกผลิตออกมาอีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอโซนและ PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศอย่างมาก โดยก๊าซไนเตรตได้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของจีน

ซ้ำร้าย นอกจากพวกเขาต้องสู้กับธรรมชาติ จีนยังต้องสู้กับคนของตนอีก ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาที่จีนพบเจอก็คือการตรวจไม่พบและเจ้าหน้าที่ติดสินบน อันเกิดมาจากระบบสุ่มตรวจ นั่นเพราะทางภาครัฐจะมีการสุ่มตรวจโรงงานที่ละเมิดกฏการปล่อยมลพิษ แต่ทว่าไม่ว่าจะตรวจมากแค่ไหน ทางการก็พบสถานที่ที่ละเมิดกฏอยู่เพียง 6-7% จากสถานที่ทั้งหมดเท่านั้น และนั่นก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจใช้ Big Data เข้ามาช่วยจัดการมันซะเลย

ทางภาครัฐได้ตั้งโครงการ ที่ทำร่วมกับกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม (EDF) และสถาบัน Big Data ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการนำเข้าข้อมูลมลพิษแบบเรียลไทม์ พวกเขาจะติดตั้งเครื่องมือตรวจมลพิษไว้กับรถแท็กซี่กว่า 50 คัน และเครื่องมือนี้จะครอบคลุมระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตรเลยล่ะ โดยเครื่องมือแต่ละชิ้น จะตรวจวัดสภาพอากาศทุก 3 วินาที นั่นจึงทำให้ทางภาครัฐได้ Big Data มหาศาลที่ทำให้มองเห็นสภาพอากาศของเมืองได้ทันทีและแม่นยำ

ด้วยการใช้ Big Data เข้ามาจัดการนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจดูได้ทันทีว่า จุดใดของเมืองที่ส่งมลพิษ โดยหลังจากใช้งานเครื่องมือนี้ไป 3 เดือน เจ้าหน้าที่ก็พบแหล่งที่มาของการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งเป็นยอดที่มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า โดยเครื่องมือชิ้นนี้ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ตรวจสอบสภาพอากาศต่อไป

ผลลัพธ์อันโดดเด่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่เป็นไปได้ ในการตรวจวัดคุณภาพของสภาพอากาศแบบเจาะจง ระบบนี้ไม่ได้ช่วยแค่จีน แต่ยังสามารถนำมาช่วยประเทศอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต และแม้ว่าในปัจจุบันจีนจะประสบความสำเร็จในการจัดการกับมลพิษแล้ว แต่ทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงปรับปรุงวิธีการรักษาคุณภาพอากาศของประเทศต่อไป เพราะหากพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาสภาพอากาศนี้ได้อย่างยั่งยืนเมื่อไหร่ มันจะทำให้อายุไขของชาวจีนเพิ่มขึ้นอีก 2.3 ปีเลยทีเดียว


เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย แม้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับฝุ่นมาหลายปี แต่ก็เป็นเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกันกับจีน พวกเขาต้องสูญเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา กว่าจะได้มาซึ่งวิธีการที่จะกำจัดมลพิษทางอากาศ หากเราจะทวงคืนท้องฟ้าสีคราม คงต้องหวังพึ่งรัฐให้ยกเรื่องฝุ่นเป็นวาระระดับชาติ เพื่อที่คนไทยจะได้อายุที่ยืนยาวกว่ากลับมา


เรื่อง: ต้าร์ – พีรพล นักเขียนที่ชอบคิด คิดเก่งมาก โดยเฉพาะคิดเกินเพื่อน ไม่มีใครเก่งไปกว่าผมอีกแล้วครับ

trending trending sports recipe

Share on

Tags