“แมกาซีนจะตายหมดหรือเปล่า”
“ถ้าถามกลับ เขาซื้อแมกาซีนเพราะอะไร เพราะกระดาษหรือเปล่า”
เมื่อมนุษย์มีความต้องการข่าวสารที่เฉพาะสำหรับตนเองแล้ว รายการวิทยุจึงกลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดของสื่อ Digital แต่รายการวิทยุหรือสื่อสมัยเก่านั้นจะเปลี่ยนตนเองได้อย่างไร
ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ไทยรัฐ A day และบันลือสาส์น ได้เปลี่ยนตนเองจากสื่อสมัยเก่ามาเป็นสื่อ Digital แม้จะอยู่ในช่วงทดลองมีการปรับเปลี่ยน ผิดบ้าง สำเร็จบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่สำนักพิมพ์เหล่านี้ชนะได้คือ การเอาชนะความยึดติดของตนเอง ทั้งความยึดติดโลกของกระดาษ ความยึดติดที่ว่าแมกาซีนหรือหนังสือพิมพ์ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่อีกต่อไป ความยึดติดที่ว่าราคาค่าโฆษณาของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือแมกาซีนที่ขึ้นราคาแพงมากจนเกินไป
“ถ้าคนซื้อแมกาซีนหรือหนังสือพิมพ์ไม่ได้ซื้อที่กระดาษแล้ว แล้วเขาซื้อที่อะไร?”
“คำตอบคือ เขาซื้อที่เนื้อหา”
แมกาซีนที่ยังอยู่บนแผงในวันนี้ หลายเล่มมีเนื้อหาที่น่าสนใจ น่าหยิบอ่าน แต่ก็มีปัญหาหลายประการ คือ
- ประการแรก ไม่ฟรี แต่อาจจะมีฟรีบ้างตามร้านกาแฟ
- ประการที่สอง ช้า ไม่อัปเดต ในกรณีนี้ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของนักอ่าน แต่นักเขียนก็ต้องหาข้อมูลให้เชื่อว่าจะไม่ล้าสมัยที่หนังสือพิมพ์หรือแมกาซีนจะนำไปวางแผงแล้วเช่นกัน
- ประการที่สาม ต้องพกพา บางครั้งเทอะทะ หนัก
- ประการที่สี่ ไม่เป็นส่วนตัว ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากการใช้กระดาษเป็นสื่อทั้งสิ้น การปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนัก จึงหันเข้ามาสู่ยุค Digital มากขึ้น ด้วยการมีเว็บไซต์ รายการ YouTube Facebook Page ของตัวเอง สร้างคอนเทนต์ฟีดทุกวัน และด้วยตัวคอนเทนต์เองที่มีความแข็งแกร่ง มีเทคนิคในการเขียน เนื้อหาที่ดี และการปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital ได้ทันท่วงที จึงทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักสามารถที่จะทำลายข้อจำกัดสามถึงสี่ข้อที่กล่าวมาได้
ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว ในปัจจุบันยังไม่สามารถจัดเนื้อหาได้ตรงกับคนอ่านโดยอัตโนมัติ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ตัวเลือกให้ผู้อ่านได้เลือกอ่าน เลือกชม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ
ในกรณีของวิทยุอาจจะแตกต่างกับแมกาซีนหรือหนังสือพิมพ์ เพราะวิทยุนั้นฟรี และอัปเดตเรียลไทม์ ไม่ต้องพกพา แต่ยังขาดเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งจริง ๆ แล้ว วิทยุไม่ได้ต่างอะไรกับโทรทัศน์ที่เราต้องทนฟังในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง เปลี่ยนช่องไปเรื่อย เพื่อหารายการที่ดีกว่า และต้องฟังให้ตรงเวลา มิฉะนั้นจะพลาดเพลงที่ต้องการฟัง และเนื้อหาที่น่าสนใจได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โทรทัศน์ทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วย YouTube Line TV สิ่งเหล่านี้ดีกว่าโทรทัศน์ตรงที่เราไม่ต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปดูละครเรื่องโปรดตอนสองทุ่มเหมือนเมื่อก่อน ถ้าอยากดูเมื่อไร ก็สามารถกลับมาดูได้ตามที่ต้องการ แต่คอนเทนต์ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของวิทยุและโทรทัศน์ ดังนั้นถ้าโทรทัศน์มี YouTube วิทยุก็มี Podcast
คอนเซปต์ของ Podcast จะเป็นเหมือน YouTube เพียงแต่ไม่มีภาพ กล่าวคือ สามารถกดฟังเมื่อไรได้ ฟังย้อนหลังได้ และกด Subscribe รายการ เพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีตอนใหม่ได้
ความจริงคือ Podcast เกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะนักจัดรายการไม่ใช่นักจัดรายการมืออาชีพหรือเป็นดีเจที่มีประสบการณ์มากมาย ประกอบกับผู้ฟังเองยังไม่คุ้นชินกับการฟังแบบตามความต้องการของตนเองในช่วงนั้นก็เป็นได้ ทั้งนี้ คาดว่า Podcast จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งภายในปีหน้า แต่อันที่จริงแล้ว Podcast ก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในปีนี้
ยกตัวอย่าง นักเขียนจากสำนักพิมพ์ Salmon Books และ MD Minimal อย่างคุณแชมป์ ทีปกร ก็ทำ Podcast ร่วมกับ คุณโตมร ศุภปรีชา ในรายการ Omnivore ส่วนเว็บไซต์ Momentum ในเครือแมกาซีน A Day ก็ผลิต Podcast ของตนเองขึ้นมาเช่นเดียวกัน ซึ่งมีหลายรายการ เช่น รายการที่เชิญ คุณหนุ่ม เมืองจันท์ มาร่วมรายการ หรือ Money Coach ที่พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องการเงิน
Podcast ในไทยและต่างประเทศมีมากมาย ทั้งที่มีสาระ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยี รายการสัมภาษณ์คนเก่ง หรือรายการแนว Edutainment ที่สนุกและได้ความรู้ เช่น รายการ Tell me something I don’t know ซึ่งรายการนี้เติบโตมากกว่าการเป็น Podcast ธรรมดา คือเป็นรายการโชว์ที่รับสมัครผู้ร่วมรายการในห้องอัดได้ คือ ให้ผู้ร่วมรายการเข้ามาร่วมสนุกในห้องอัด อีกทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นในรายการได้อีกด้วย
ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการจราจรติดขัด ประกอบกับคนไทยกระหายความรู้เป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นคนขี้เกียจอ่านอะไรมาก ๆ เช่นเดียวกัน Podcast จึงเป็นช่องทางที่ทำให้คนไทยได้รับความรู้เพิ่มเติมได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้น Podcast ก็น่าจะเป็นสื่อที่ตอบโจทย์ผู้ฟังในอนาคตอันใกล้ได้
Photo by Skitterphoto from Pexels
ถอดความจาก: Creative Wisdom Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
บทความที่เราแนะนำ
- CTC2019: Podcast is The Next Big Wave?
- ทำไม Spotify ถึงกำลังทำลายวงการดนตรี
- แกะความสำเร็จ Viral Marketing ผ่านคลิป Our Floating Dreams ค่ายดิสนีย์