อยากปั้นทีมให้มีความครีเอทีฟ ต้องรู้จักสร้าง Sandbox

5 เทคนิคสร้าง Sandbox เพื่อให้ทีมได้สร้างสรรค์

Last updated on ก.ค. 24, 2024

Posted on ก.ค. 15, 2024

ผู้นำเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการสร้างวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราคือคนที่กำหนดว่าจะทดลองอะไร ทำเทสต์แบบไหน เพื่อให้ทีมสามารถครีเอทีฟได้ดียิ่งขึ้น และถ้าหากเราสามารถสร้างสนามทดลอง ให้ทีมได้ลองทำ ได้ล้มเหลวเต็มที่ สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาลูกทีมให้สามารถไดรฟ์ผลงานไปได้ไกลกว่าเดิม

ในงาน PEOPLE PERFORMANCE CONFERENCE 2024 นั้น คุณประกรรษ์ จันทร์ทอง, Director of Human Resources and Administration Division of TCP ก็ได้เคยกล่าวว่า องค์กรเองควรมี Sandbox ที่เป็นพื้นที่ให้พนักงานปล่อยของ ปล่อยสิ่งที่มี หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งดูว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเพราะอะไร ไม่ได้เกิดเพราะใคร ซึ่งการสร้างพื้นที่ให้คนรู้สึกว่ามันมีสังคม จะทำให้การพูดคุยมีความสำคัญมากขึ้น

และถ้าหากอยากสร้าง Sandbox หรือพื้นที่ให้พนักงานได้โยนไอเดีย ระดมความคิด เราก็สามารถเริ่มได้ด้วย 5 เทคนิคนี้

🌟 1. ผู้นำต้องยอมรับก่อน

ก่อนที่จะเริ่มให้พนักงานเรียนรู้ได้ หัวหน้าต้องกล้าที่จะยอมรับข้อผิดพลาด และความไม่รู้ของตัวเอง ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเราอาจไม่มีคำตอบให้กับลูกทีมทั้งหมด และการทำสิ่งนี้จะทำให้ลูกทีมรู้สึกสบายใจที่จะนำเสนอไอเดียต่าง ๆ โดยในการสร้างพื้นที่ทดลองนั้น การเปิดพื้นที่ให้ลูกทีมได้เสนอไอเดีย จะช่วยสร้างวัฒนธรรมของการรับฟัง ที่พนักงานจะปรับแต่งความคิดของตน จากการยอมรับฟังผู้อื่นได้


🎯 2. รู้จักหาไอเดียจากนอกสายงาน

การมีสนามทดลองให้ลูกทีม คือการมีพื้นที่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าเสี่ยงขึ้นมา ดังนั้นแล้วจุดที่ที่ดีที่สุดในการค้นหาไอเดีย มักจะมาจากสิ่งที่อยู่นอกสายงานของเรา ซึ่งบางครั้งไอเดียที่ดีอาจได้มาจากคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานเราเลยก็ได้

หลายครั้งโปรเจกต์ที่ดี และมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไอเดียสดใหม่เลย แต่มันเป็นไอเดียที่เคยทำขึ้นมาก่อน ทว่าลูกทีมหลายคนก็เอาไอเดียของคนอื่นมาปรับแต่งให้เข้ากับบริบทขององค์กรของตนอีกที จนสิ่งนั้นกลายเป็นโปรเจกต์ที่สำเร็จก็มี ซึ่งการศึกษาแรงบันดาลใจของคนอื่น จะช่วยเสริมกลยุทธ์ให้โปรเจกต์มีความครีเอทีฟมากขึ้น


⚫ 3. อย่าพยายามใส่หมุดสี่เหลี่ยม ลงในรูกลม

การทดสอบสนามทดลอง ด้วยวิธีการทดลองใหม่ ๆ ถือเป็นเรื่องดี ตั้งแต่การทดสอบระบบโครงสร้างทีมใหม่ ไปจนถึงระบบคู่หูที่จับคู่พนักงานอาวุโส และรุ่นน้องที่ไม่คุ้นเคยมาทำงานร่วมกัน ซึ่งการมีไอเดียมากมาย จะนำมาซึ่งความสดใหม่ในองค์กร ช่วยกระตุ้นสภาพแวดล้อม ไปจนถึงขจัดความรู้สึกจำเจได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือวัตถุประสงค์ของการทดลองนี้คืออะไร เพื่อเสริมจุดแข็งให้ดีขึ้นใช่ไหม เพราะหลายครั้งข้อผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ก็มักจะมาจากการที่คนโฟกัสผิดจุด


🔥 4. รู้จัก Cut Loss เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ใช่แค่ใช้ในแง่ของการลงทุน แต่สามารถใช้ในแง่ของการทดลองได้ด้วย เพราะความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ หลายครั้งการทดลองมักจะออกมาล้มเหลวในช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะสำเร็จเสมอ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เริ่มเปิดโปรเจกต์ใหม่ ให้เราประเมินระยะเวลาให้ดีว่า มันจะเห็นผลเมื่อไหร่ ทั้งผลที่ล้มเหลว และผลที่สำเร็จ ซึ่งเราไม่ควรขัดจังหวะการทดลองกลางคัน แต่ควรรู้ว่าเมื่อพัฒนาไปถึงสเตปหนึ่ง ถ้าหากมันไปต่อไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ควรดึงปลั๊กออก เพื่อตัดไฟไม่ให้เสียเงินทุนกับเวลาไปมากกว่านี้


🎳 5. เช็กลิสต์ประเมินความเสี่ยงว่าอะไรควรไปต่อ

แม้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะเป็นส่วนสำคัญของสนามทดลอง แต่การประเมินความเสี่ยงก็มีความสำคัญพอกัน จงพิจารณาว่าการทดลองไหนที่ควรไปต่อ และอันไหนที่ควรทิ้งไป ซึ่งสิ่งสำคัญคือผู้นำต้องช่วยให้ลูกทีมสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลตอบแทนก่อนทำการทดลองใด ๆ ด้วยคำถามต่อไปนี้

  • กรณีที่ดีที่สุดจากการทดลองนี้คือสิ่งไหน
  • กรณีที่เลวร้ายที่สุดจากการทดลองนี้คืออะไร
  • การทดลองนี้สร้างความเสียหายอันร้ายแรงต่อธุรกิจได้หรือไม่
  • การทดลองนี้ส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจในที่ทำงานได้หรือเปล่า

เมื่อเราตอบคำถามเหล่านี้แล้ว การตัดสินใจในการลงสนามทดลองจะง่ายขึ้นมาก เพราะเรารู้แล้วว่าเมื่อไหร่ ที่จะเราจะเบรกการทดลองที่กำลังทำอยู่นั่นเอง


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags