เคยเผลองีบหลับ แต่กลับคิดงานออกไหม หลายครั้งเราจะพบว่าสุดยอดไอเดีย มักจะมาหลังจากเราเผลอหลับ สิ่งนี้คือสภาวะสะกดจิตสั้น ๆ ที่ช่วยให้เราแก้ปัญหาตรงหน้าหลังจากตื่นนอนได้
การนอนหลับไม่เหมือนกับการเปิดสวิตช์ ที่เราสามารถเลื่อนเปิด-ปิดมันได้หรอกนะ เพราะในขณะที่เราอยู่ในภวังค์ กล้ามเนื้อของเราจะเริ่มผ่อนคลาย ร่างกายกำลังเข้าสู่นิมิต จิตกำลังประมวลภาพต่าง ๆ ซึ่งสภาวะนี้ทำให้เกิดอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น จนกลายเป็นสภาวะสะกดจิต
แม้เราจะเคยได้ยินว่าการสะกดจิต ต้องให้คนอื่นทำให้ แต่อันที่จริงเราสามารถเข้าสู่สภาวะนี้ได้ด้วยตัวเองมานานแล้ว โดยหลายครั้งนักคิดในประวัติศาสตร์ก็มักเข้าสู่สภาวะสะกดจิตตัวเองสั้น ๆ เพื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้ตนเอง
เทคนิคนี้ถูกเรียกว่า ‘CREATIVE NAP’ ซึ่งเป็นสภาวะการทำให้ตัวเองงีบหลับ แล้วตื่นมาปั๊บคิดงานออก
หนึ่งในคนที่ใช้เทคนิค CREATIVE NAP ก็คือนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) โดยว่ากันว่า เอดิสันมักจะถือลูกเหล็กไว้ในมือตอนพักกลางวัน จากนั้นก็นอนหลับ และเมื่อไหร่ที่กล้ามเนื้อของเขาผ่อนคลาย ลูกบอลจะตกกระแทกพื้น ซึ่งเสียงลูกบอลตกนี่แหละ ที่กระตุกให้เขาตื่นขึ้นมา แล้วคิดงานออก
นอกจากนั้นอีกคนที่ทำเทคนิคนี้ก็คือศิลปินซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ในเวลาที่ดาลีจะหาไอเดียมาสร้างงานศิลปะ เขาก็ทำเทคนิคแบบเดียวกับเอดิสันนี่แหละ แต่ต่างกันที่ดาลีจะถือช้อนแทน
คุ้น ๆ เหตุการณ์นี้กันไหม มันคือความรู้สึกในตอนที่เราเห็นนักสะกดจิตในทีวีดีดนิ้วให้ตื่นจากภวังค์ยังไงล่ะ ซึ่งสถาบัน Paris Brain Institute ก็ได้ทำการทดลองแบบเดียวกัน เพื่อดูว่าสภาวะสะกดจิตสามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้ไหม
ในการศึกษาครั้งนี้ พวกเขาจึงเลือกอาสาสมัครที่สามารถหลับเร็ว 100 คนมาร่วมการวิจัย โดยแต่ละคนจะได้รับโจทย์คณิตศาสตร์มาให้แก้ เพื่อทดสอบตรรกะในการหาความถูกต้อง
หากใครที่แก้ปัญหาไม่ได้ นักวิจัยจะให้เวลาพวกเขา 20 นาที มาพักผ่อนบนเก้าอี้ โดยหลับตาพร้อมถือถ้วยพลาสติกไว้ในมือ หากใครทำถ้วยพลาสติกหล่น พวกเขาจะถูกนักวิจัยขอให้พูดสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวทันที
โดยภาพที่เกิดขึ้นนั้นก็มีแต่สิ่งน่าสนใจ อาทิ ม้าในโรงพยาบาลหรือตัวเลขที่เต้นระบำอยู่
ในช่วงที่ผู้ร่วมวิจัยหลับ นักวิจัยจะใช้หมวกกันน็อก EEG มาบันทึกการทำงานในสมองของผู้เข้าร่วมวิจัย ซึ่งทำให้พวกเขาเห็นว่าอาสาสมัครเปลี่ยนจากสภาวะสะกดจิต ไปสู่ระดับการนอนหลับที่ลึกขึ้นตอนไหน
หลังจากงีบเสร็จ ผู้เข้าร่วมการวิจัยก็กลับไปแก้โจทย์คณิตศาสตร์อีกครั้ง และการใช้เวลาอยู่ในสภาวะสะกดจิตโดยไม่หลับลึกเกินไปดูเหมือนจะช่วยให้พวกเขาพบทางลัดในการแก้โจทย์ได้
ในช่วง 15 วินาทีแรก ๆ ของการงีบหลับ (ช่วงครึ่งหลับครึ่งตื่น) ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะครีเอทีฟได้ถึง 3 เท่า ทว่าผลกระทบนี้จะหายไป หากผู้ถูกทดสอบเข้าสู่โหมดนอนหลับลึก
อย่างไรก็ตาม การถือของแล้วปล่อยออกจากมือ ไม่ได้หมายความว่า ช่วงเวลาปิ๊งไอเดียนั้นจะเกิดขึ้นทันที เพราะบางคนก็เข้าสู่สภาวะหลับลึกไปแล้ว หรือบางครั้งนักวิจัยก็ปลุกเร็วเกิน
นั่นทำให้การศึกษานี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะนักวิจัยยังไม่สามารถหาช่วงเวลาที่แน่ชัดได้ว่า ต้องงีบเท่าไหร่ ถึงจะช่วยให้สมองตื่นมาแล้วคิดไอเดียออก ซึ่งพวกเขากำลังศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้
ฉะนั้นแล้ว ถ้าเราติดขัด แล้วอยากทดลองหาไอเดียให้คิดไอเดียได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ลองใช้เทคนิคถือของในมือ แล้วงีบหลับดูสิ เพราะมันอาจช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามการ CREATIVE NAP อาจไม่ได้ช่วยแก้ทุกปัญหาที่กำลังติดอยู่ แต่การได้นอนหลับสักพัก เพื่อให้สมองได้งีบเพื่อชาร์จพลัง ก็ช่วยให้เราสดชื่นขึ้นได้นะ
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Need a Creative Boost? Nap Like Thomas Edison and Salvador Dalí
- Edison and Dali’s “creative nap” trick seems to actually work