คิดแบบเสด็จพ่อโนแลนต้องทำอย่างไร กับเทคนิคการหาไอเดียในแบบฉบับผู้กำกับ Oppenheimer

ทำไมคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) จึงมักถูกแฟนหนังเรียกว่า ‘เสด็จพ่อ’ กันล่ะ เพราะความอลังการจากผลงานที่เขาสร้าง หรือเพราะความคิดสร้างสรรค์ที่เขามี เรามาดูกันดีกว่าว่าทำไมชายคนนี้ถึงสร้างภาพยนตร์ดัง ๆ ได้มากมาย

Last updated on ก.ค. 25, 2023

Posted on ก.ค. 21, 2023

คริสโตเฟอร์ โนแลน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องคนหนึ่งของฮอลลีวูด เขามีผลงานดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไตรภาค The Dark Knight, Inception, TENET และเรื่องล่าสุดอย่าง Oppenheimer ซึ่งหนังของเขามีจุดเด่นด้านการเล่าเรื่องที่บีบคั้นจิตใจ และเนื้อหาที่ซับซ้อน เขาคิดบทเหล่านี้ด้วยวิธีไหน ทำไมไอเดียเหล่านี้ถึงโดนใจคนทั่วโลก?

1. แก้บททุก 4-5 หน้า

ปกติคนเขียนบทมักจะใช้วิธีเขียนให้เสร็จแล้วค่อยแก้บท แต่โนแลนจะใช้วิธีเขียนไป 4-5 หน้า จากนั้นจึงเขียนใหม่ซ้ำ ๆ อย่างละเอียด แล้วค่อยแก้ไข วิธีการนี้ช่วยให้เขาสามารถสำรวจไอเดียแต่ละส่วนได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้เขามั่นได้ใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ จะมีความสอดคล้องกัน

สำหรับคนทำงานที่ต้องใช้ความครีเอทีฟแล้ว วิธีปรับแต่งทีละขั้นตอน ด้วยการค่อย ๆ ทบทวน และปรับปรุงงานอยู่ตลอดจะช่วยให้เราค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และได้ไอเดียที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ


2. ติดไดอะแกรมบนกำแพง

ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของโนแลนคือการเลือกใช้วิธีการที่มองเห็น และสัมผัสได้ ในขณะที่เขาพัฒนาโปรเจกต์ เขาจะวาดรูปทรงกับไดอะแกรม แล้วนำสิ่งนั้นมาเขียนไอเดียเพื่อติดมันเข้าไปกับผนัง

ไดอะแกรมเหล่านี้ ทำให้เราสามารถติดตามได้ว่าไอเดียไหนจะสามารถต่อยอดไปสู่อะไรได้บ้าง ซึ่งการติดไดอะแกรมเข้ากับผนัง ทำให้เราเข้าใจกระบวนการที่ซับซ้อน สามารถจัดลำดับความสำคัญ พร้อมทั้งได้ไอเดียที่ทำให้เราเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้


3. ใช้กระดาษ Post-It เพื่อควบคุมไอเดีย

นอกเหนือไปจากการติดไดอะแกรมบนกำแพงแล้ว โนแลนยังเป็นคนที่ชอบใช้กระดาษโพสต์อิท หรือ Index Cards เอามาก ๆ โดยเขาใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อจดช่วงเวลาสำคัญของบทหนัง และใช้รหัสสีเพื่อให้สังเกตได้ง่าย ซึ่งการใช้โพสต์อิทมาจดประเด็นไปจนถึงจัดเรียงโครงสร้างไอเดีย จะทำให้งานของเราสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิด และปรับปรุงไอเดียได้ง่ายขึ้น


4. ใช้ปากกากับกระดาษในการจดดราฟต์แรก

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ ที่รู้ว่าโนแลนตั้งใจหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ในช่วงเริ่มต้นของการคิดไอเดีย เพราะเขานั้นชอบปากกากับกระดาษที่จับต้องได้มากกว่า ซึ่งการใช้ปากกามาจดไอเดียลงไป จะทำให้เราปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ เพราะมือที่จับปากกานั้นทำงานไปพร้อมกับสมองของเรานั่นเอง


5. การทำงานพร้อมกันหลายโปรเจกต์ สร้างแรงบันดาลใจ

โนแลนไม่ใช่คนที่มุ่งความสนใจไปที่โปรเจกต์เดียว เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจกต์หลายตัวพร้อม ๆ กัน แม้ว่าการทำงานหลายโปรเจกต์อาจเป็นเรื่องที่ดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วมันช่วยเพิ่มไอเดีย และป้องกันการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ได้


การสลับไปมาระหว่างโปรเจกต์ที่แตกต่างกัน ทำให้จิตใจของเรารู้สึกมีแรงบันดาลใจมากขึ้น ฉะนั้นแล้วเมื่อเราเผชิญปัญหาในโปรเจกต์หนึ่ง ลองเปลี่ยนไปโฟกัสอีกโปรเจกต์ดูสิ เพราะมันอาจนำมาสู่มุมมอง และแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ ได้นะ


ที่มา

Share on

Tags