ผู้นำยุคเก่าจะตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ผู้นำยุคใหม่จะเปิดให้คนทั้งองค์กรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

Last updated on ธ.ค. 4, 2023

Posted on พ.ย. 23, 2023

หลายธุรกิจมีความเชื่อว่าหลังจากพ้นเรื่องของโรคระบาด สถานการณ์จะกลับมาสู่ความปกติ แต่….กลายเป็นว่าความท้าทายใหม่กลับส่งผลให้วิถีชีวิต และวิถีการทำงานเปลี่ยนไป ไหนจะเรื่องของสงครามที่เกิดขึ้น ส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยไปทั่วทั้งโลก

จากการรายงานของ IESE Business School สถาบันธุรกิจระดับโลกที่เปิดสอนหลักสูตร MBA และ Executive Education ขึ้นชื่อว่าเป็นโปรแกรมที่ดีที่สุดของโลก ได้รายงานถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วง และพูดถึงเทรนด์ในปี 2024 ที่จะช่วยทำให้รอดพ้นสถานการณ์เหล่านั้น ด้วยการเรียนรู้ เติบโต และบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในเทรนด์นั้นคือเรื่องของ “Decision-Making”

🌎 Decision-Making คืออะไร ?

คำคำนี้ถูกพูดถึงมาหลายปีที่ผ่านมา Decision-Making คือหนึ่งในทักษะที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ! ทักษะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับผู้นำ แต่ในเชิงของคนทั่วไปก็มีเรื่องให้ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มากมาย

Sebastian Hafenbrädl ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการบุคคลในองค์กรของ IESE กล่าวถึงในปีหน้า 2024 ซึ่งเป็นปีที่แนวโน้มเศรษฐกิจ “a bit bumpy” หรือเศรษฐกิจโลกจะขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เราจะเจอกับการตัดสินใจที่ยากขึ้น การดำเนินงานยากขึ้น ดังนั้นการ Boosting หรือส่งเสริมเรื่องตัดสินใจที่ดีจะมีความสำคัญอย่างมากยิ่งขึ้นสำหรับองค์กร


🌎 ทำไมการตัดสินใจถึงมีความสำคัญในปีหน้า!

การ Boosting เรื่องของการตัดสินใจคือการส่งเสริมความสามารถของบุคคล ในฐานผู้นำจะต้องรู้ว่า ‘พนักงานของเราไม่รู้อะไร และรู้อะไรบ้าง’ ตัวอย่างเช่น ถ้าองค์กรยังไม่พร้อมเรื่องการใช้ ChatGPT ไม่เข้าใจการใช้งานเบื้องต้น เราต้องเข้าไปเสริมแกร่งพัฒนาจุดที่เขาอยากรู้ให้ตรงจุด

Sebastian Hafenbrädl ยังได้บอกอีกว่าเรื่องนี้มีความสำคัญในระดับองค์กรไปจนถึงสังคม เพราะในยุคที่ผันผวน มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น มีความคลุมเครือหลากหลายอย่าง (VUCA) ข้อมูลมากมายถูกกระจายไปอย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของผู้นำทุกคนต้องจดจ่อกับรายละเอียดมากขึ้น โฟกัสเป้าหมายมากขึ้นเสมือนทุกคนในองค์กรคือลูกบอล เราจะควบคุมอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

บางครั้งโครงสร้างแบบลำดับชั้นที่ CEO ดำเนินถือปฏิบัติมานานอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ในทางกลับกัน ทุกคนในองค์กรควรได้มีส่วนร่วมในการค้นหาทิศทางใหม่ ๆ กลยุทธ์ใหม่ ๆ ในอนาคต และพวกเขามีสิทธิ์ที่จะกล้าตัดสินใจได้ หากใครในองค์กรขาดความสามารถในด้านการตัดสินใจ นับเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไปในปีถัดไป


🌎 แล้วเราจะทำอย่างไรให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จในเรื่องของการตัดสินใจที่ดีที่สุด แต่วันนี้จะขอนำหนึ่งในบทความ Faster Decision Making จากทาง Linkedin โดยขอนำ 3 กลยุทธ์สำคัญที่ได้รับการพิสูจน์จากองค์กรชั้นนำทั่วโลกว่าเห็นผล ช่วยให้การตัดสินใจในหลาย ๆ ครั้งแม่นยำยิ่งขึ้น ดังนี้

🎯 ทุก ๆ การตัดสินใจต้องชี้แจงเป้าหมาย

เพื่อให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ต้องเริ่มด้วยการสร้างเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น คุณต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร ? โดยทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่จะไป และกำจัดตัวเลือกที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ เป้าหมาย และความชัดเจนต้องมี

🎯 จัดลำดับความสำคัญของข้อมูล

โดยใช้กฎ 80/20 ของ Pareto principle หรือทำน้อยแต่ได้มาก คือผลลัพธ์ 80% มาจากตัวแปร 20% หรือทำเพียงแค่น้อยนิดเพียง 20% แต่ได้ผลลัพธ์มากถึง 80% นั่นเอง ตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการจัดลำดับความสำคัญของ การใช้กฎ 80/20 โดยการ List งานออกมาให้มากที่สุด แล้วนั่งรีเช็กว่างานไหนสำคัญ งานไหนสำคัญน้อย หรืองานไหนไม่สำคัญ ซึ่งจะทำให้เราโฟกัสงานที่สำคัญ และลดงานที่ไม่สำคัญออกไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจทุกครั้งก่อนเริ่มทำงาน ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยในเชิงการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดการจัดลำดับความสำคัญของงานได้เช่นกัน

🎯 ยอมรับกฎ 2 นาที เพื่อเปลี่ยนงานยุ่งเหยิงให้เป็นระเบียบ

the 2-Minute Rule จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อมีการตัดสินใจเรื่องที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งงานลักษณะนี้มักจะเข้ามาหาเราบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการเซฟเวลาของตัวเองในการไปทำงานที่เป็นลำดับแรก ๆ ของเรา การใช้กฎ 2 นาที คือการตัดสินใจไม่เกิน 2 นาที จะช่วยให้เรามีประสิทธิภาพ และที่สำคัญกฎนี้ยังช่วยหยุดการผัดวันประกันพรุ่งได้อีกด้วย เพราะเราต้องลงมือทำทันทีด้วยระยะเวลาไม่เกิน 2 นาที


สุดท้ายนี้ นี่เป็นเพียงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการตัดสินใจอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป ในฐานะผู้นำองค์กรการเตรียมพร้อมรับมือ และเรียนรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การตัดสินใจที่ใช่คือตัวกำหนดการเปลี่ยนเกมของทั้งองค์กร หากองค์กรไหนที่ผู้นำตัดสินใจได้เก่ง และทีมบริหาร หรือลูกทีมก็มีสิทธิ์ตัดสินใจและเป็นกำลังขับเคลื่อนให้กับองค์กรได้ องค์กรนั้นจะเติบโตแบบก้าวกระโดด และอยู่รอดในทุกยุคสมัย


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags