เคยสังเกตไหมว่าทำไมบนกล่องซีเรียลถึงต้องมีตัวการ์ตูนมองต่ำ ? หากคุณลองไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตและสังเกตไปที่โซนกล่องซีเรียลหรือคอนเฟล็ก แน่นอนว่าส่วนใหญ่ 90% มักจะเป็นตัวการ์ตูน แล้วเจ้าตัวการ์ตูนเหล่านั้นก็มีทั้ง เสือ หนู ไก่ หรือแม้กระทั่งมินเนี่ยน
ต้นเหตุของความสงสัยนี้มาจากวันหนึ่งเลื่อนฟีด Facebook ไปเจอกับโฆษณาหนึ่ง แต่ไม่ได้สนใจอะไร เลยเลื่อนผ่านไปจนสะดุดกับอีกโฆษณาหนึ่งซึ่ง เป็นรูปผู้หญิงธรรมดา ไม่สวยหรือไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าอะไรที่ทำให้เราสนใจโฆษณานี้ จนได้คำตอบว่ามันเป็นเพราะ ‘eyes contact’ นั่นเอง
ทฤษฎี eyes contact เป็นทฤษฎีพื้นฐานของการออกแบบว่าการสร้าง eyes contact กับคนดูจะสามารถได้รับความสนใจจากคนดูได้ เมื่อลองกลับมาสังเกตที่กล่องซีเรียลที่มีตัวการ์ตูน ทำไมต้องเป็นตัวการ์ตูน? อาจจะเดาได้ไม่ยากว่าเพราะเขาอยากจะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เมื่อลองสังเกตดูดี ๆ จะพบว่าการ์ตูนพวกนี้แทบจะทุกตัวมักจะมองล่าง แล้วทำไมมันถึงต้องมองล่าง ?
เฉลย… เพราะมันมี eyes contact กับผู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจซื้อ (decision maker) นั่นก็คือ เด็ก เพราะซีเรียลเป็นอาหารที่เด็กทานในยามเช้า
ถึงแม้คุณแม่จะเป็นผู้ซื้อก็ตาม แต่ถ้าเด็กร้องว่าอยากกินซีเรียลรูปเสือก็ต้องตามใจเด็กกันไป เด็กถึงเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจซื้อซีเรียลนั้น
ดังนั้น ที่ตัวการ์ตูนต้องมองล่าง เพราะเด็กนั้นตัวเตี้ย การมองล่างคือการ make sure ว่าเจ้าเสือ เจ้านก หรือมินเนี่ยนได้มี eyes contact กับเด็กแน่นอน
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ธรรมดา แต่มีคนที่ทำงานในบริษัทผลิตซีเรียลยี่ห้อหนึ่งบอกกับเราว่า ทางบริษัทมีไบเบิลของบริษัทว่า ถ้ามีตัวการ์ตูนบนกล่องซีเรียล ต้องเน้นให้ตัวการ์ตูนนั้นมองล่างเพื่อสร้าง eyes contact กับเด็ก
แล้วคุณจะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร เมื่อคุณจะทำโฆษณา?
คุณจะรู้ได้เลยว่าผู้อ่านหรือผู้ชมมีการตัดสินใจแค่เสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น ว่าเขาจะหยุดอ่านหรือไม่ เมื่อมีเกิดการ eyes contact จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เขาหยุดอ่านงานนั้นมากขึ้น
ถ้าคุณจะนำไปปรับใช้ในชีวิตส่วนตัว หากคุณชอบโพสต์ภาพลง instargram ถ้าอยากให้เพื่อนหยุดดูที่รูปของคุณ ลองถ่ายรูปที่มองกล้อง เพื่อสร้าง eyes contact กับคนดู แน่นอนว่าเพื่อนของคุณจะหยุดมองรูปของคุณอย่างแน่นอน
ภาพจาก Photo by Samantha Gades on Unsplash
ถอดความจาก: Design You Don’t See Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
เรียบเรียงโดย ภัทราวดี ศรีชัย นักศึกษาเอกฟิล์มที่มักจะมองทุกเรื่องในชีวิตให้เป็นเรื่องตลก