อยากให้ทีมกล้าถาม ลอง 3 กลยุทธ์ด้วยการเปลี่ยนวิธีพูด

Last updated on ต.ค. 5, 2024

Posted on ก.ย. 30, 2024

“มีคำถามอะไรเพิ่มเติมไหม”
“มีความเห็นยังไงกับเรื่องนี้บ้าง”

เชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคข้างต้นนี้จากเวลาประชุมทีม ประชุมงานต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตกอยู่เหมือนกัน เมื่อหัวหน้าเองก็อยากได้คำตอบ แต่ลูกน้องก็ไม่อยากตอบ เพราะเดี๋ยวตอบไม่โดนใจก็จะโดนติเอาอีก

ผลสำรวจจากเว็บไซต์ letsgrowleaders ระบุว่า 67% ของคนทำงานไม่กล้าถาม หรือแสดงความเห็นเพราะส่วนใหญ่ผู้นำก็มักจะทำตามแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมา และ 45% บอกว่าในองค์กรไม่ได้สอนให้พวกเขารู้จักการคิดแบบ Problem-solving และ Critical thinking ทำให้ไม่มั่นใจในการตอบคำถามหรือแชร์ความคิดเห็นเท่าไหร่

ในมุมของคนไทยเรื่องนี้น่าจะหล่อหลอมมาตั้งแต่สมัยเรียน ที่เรามักถูกเรียกให้ตอบคำถามหน้าชั้นเรียน และพอตอบผิดก็มักจะโดนดุยกใหญ่ สุดท้ายเลยส่งผลให้ตอนทำงานเองก็ไม่กล้าที่จะพูดออกไปเหมือนกัน หรือพูดได้แต่ก็ใช้เวลากลั่นกรองค่อนข้างมากทีเดียว

ในหนังสือ ‘หนังสือสำหรับหัวหน้าที่อยากให้ลูกน้องคิดเองเป็น’ โดยชิโนฮาระ มาโคโตะ มีบทหนึ่งได้พูดถึงกลยุทธ์ในการช่วยให้ลูกน้องหรือคนในทีมกล้าถาม กล้าแสดงความคิดเห็นเอาไว้ 3 ข้อด้วยกัน

✋ 1. บอกให้รู้ตัวก่อน ไม่ต้องสะดุ้งทีหลัง

ถ้าคุณเคยถามทีมว่า “มีคำถามอะไรไหม” บางทีอาจไปจุดความวิตกบางอย่างของทีมที่อาจจะรู้สึกว่า “อ้าว ต้องถามด้วยเหรอ” หรือ “เราควรต้องถามอะไรไหม” สุดท้ายก็อาจจะเป็นความรู้สึกว่าแล้วถ้าถามไปไม่ตรง ผิดเป้าจะโดนว่ารึเปล่า

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เล่าว่าตัวเขาลองปรับวิธีใหม่ แทนที่จะเปิดคำถามช่วงท้ายประชุม ก็เปลี่ยนมาบอกไว้เนิ่น ๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมเลยว่า “พออธิบายเสร็จ อยากให้ทุกคนเตรียมคำถามสักคนละ 2-3 คำถาม” ซึ่งช่วยให้คนในที่ประชุมตั้งใจฟังเนื้อหามากขึ้น และรู้มากขึ้นว่ามีอะไรที่เขาจำเป็นต้องรู้ แต่ไม่เข้าใจรึเปล่า


✋ 2. ไม่ตั้งคำถามกว้างไป ไกลประเด็น

ผู้เขียนเล่าว่าบางครั้งการตั้งคำถามกว้าง ๆ เช่น “คิดไงกับเรื่องนี้บ้าง” ก็อาจจะทำให้ทีมไม่แน่ใจว่าเราต้องการความเห็นจุดไหนเป็นพิเศษ และอาจลงเอยที่ “ไม่มีอะไร” หรือ “ไม่ทราบเหมือนกัน” ไปเลยก็ได้

วิธีแก้เกมเรื่องนี้ เขาบอกว่าให้เราให้ข้อมูลก่อน เช่น “ผมคิดว่าแผนงานนี้น่าสนใจมากเลย แต่คนอาจจะยังเข้าถึงยาก คุณคิดว่าพอจะมีทางแก้ไขเรื่องนี้ไหม” คือเป็นการระบุเรื่องที่อยากจะขอความเห็นก่อน และบอกด้วยว่าคิดยังไง แล้วจึงตีกลับไปที่อีกฝ่ายเพื่อให้เขารู้สึกว่าความคิดเห็นนั้นไม่มีถูกผิดนะ และในประชุมนี้เรามาเพื่อพูดคุยกันจริง ๆ


✋ 3. ฟังให้มาก ถามต่อให้บ่อย

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกน้องไม่กล้าถาม หรือแสดงความคิดเห็นเพราะบางทีก็โดนหัวหน้าสกัดดาวรุ่ง ทั้งที่ยังพูดไม่จบ ซึ่งบางทีตัวหัวหน้าเองก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่พลั้งไปเพราะอาจจะรู้สึกขัดใจกับคำตอบที่ได้รับกลับมา

บางครั้งในการประชุมไม่ใช่ทุกคนที่จะมีไอเดียสุดครีเอทีฟ แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา บางทีไอเดียก็อาจจะออกมาซ้ำ ๆ เหมือนคนอื่น ๆ ก็ได้ ในฐานะผู้นำควรตั้งใจฟัง และถามต่อให้ลึก เพื่อขุดคุ้ยที่มาที่ไปของไอเดียนั้น บางทีไอเดียที่ออกมาเหมือนกัน อาจจะมาจากอินไซต์บางอย่างที่ต่างกันก็ได้ และการถามต่อถึงที่มาของคำตอบ หรือไอเดียของเขาอย่างใจเย็น ก็อาจจะยิ่งช่วยให้คู่สนทนารู้สึกดีด้วยซ้ำ เพราะรับรู้ได้ถึงความสนใจ และความใส่ใจมากขึ้นนั่นเอง


ถ้าลีดเดอร์คนไหนกำลังเจอปัญหานี้ หรือพบว่าคนในทีมยังดูอึดอัดเวลาจะต้องถามคำถาม หรือออกความเห็นใดใด ก็ลองเอากลยุทธ์นี้ไปทดลองใช้กันดู เพื่อค่อย ๆ ฝึกให้ทีมได้ลองคิดเอง ทำเองมากขึ้น อย่าปล่อยให้ทีมทำงานตามสั่งอย่างเดียว


แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags