รู้ไหมว่าห้องสมุดในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่แห่ง?
10, 20, 30?
เราอาจจะรู้สึกว่าห้องสมุดในไทยนั้นหาได้น้อยเหลือเกิน อยากนั่งอ่านหนังสือสิ่งแรกที่เรานึกถึงคือร้านกาแฟ อยากหาข้อมูลเพิ่มเติม เรานึกถึง Google ห้องสมุดไม่ใช่สิ่งแรกที่คนไทยนึกถึง
เป็นเพราะห้องสมุดมีน้อย? หรือหาไม่มี?
ข้อมูลจาก Online Computer Library Center (OCLC) บอกว่าประเทศไทยเรามีห้องสมุดรวมมากถึง 34,751 ห้องสมุด!!
ตัวเลขนี้รวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดแห่งชาติ หรือแม้แต่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ห้องสมุดในไทยไม่ได้น้อยหน้าห้องสมุดประเทศชั้นนำอย่าง ญี่ปุ่นที่มี 45,823 ห้อง และแซงหน้าประเทศที่เจริญมาก ๆ อย่างสิงคโปร์ที่มีเพียงแค่ 429 ห้องสมุดเท่านั้น!
มาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายคนเริ่มจะคิดแล้วว่า “จำนวนห้องสมุดอาจจะไม่ได้มีผลอะไร” หรือ “จำนวนห้องสมุดก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละประเทศด้วย”
แน่นอนว่า สิงคโปร์ที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ จะให้มีห้องสมุดจำนวนมากเท่าประเทศไทยทั้งประเทศคงไม่ไหว
และแน่นอนว่า “ปริมาณ” ที่มากกว่า ไม่ได้หมายถึง “คุณภาพ” ที่มากเท่า
แล้วห้องสมุดที่มี “คุณภาพ” ควรเป็นอย่างไร?
มีหนังสือจำนวนมาก? มีที่นั่งพร้อม? มีความเงียบสงบ?
ทั้งหมดที่ว่ามาอาจจะ “ถูก” และ “ผิด” ได้ทั้งคู่
มาลองดูห้องสมุดในอเมริกาที่ผมเคยสัมผัสดูกันครับ..
ผมมีโอกาสได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา และมีโอกาสได้ใช้ห้องสมุดทั้งในมหาวิทยาลัยและ ห้องสมุดประชาชน ที่ให้บริการกับใครก็ได้ในชุมชน
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้นไม่ต่างอะไรกับห้องสมุดของไทยเท่าไหร่ ความหมายคือ ห้องสมุดนั้นเต็มไปด้วยหนังสือ เน้นไปที่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิชาในมหาวิทยาลัย มีโซนคอมพิวเตอร์ มีหนังสือพิมพ์เก่าให้ค้นหา และมีความเงียบ พร้อมกับโต๊ะเก้าอี้ที่เพรียบพร้อม
แต่ห้องสมุดประชาชนนี่กลับแตกต่าง
แน่นอนว่า หนังสือต้องมีจำนวนมาก และหลากหลายกว่าของมหาวิทยาลัย มีหนังสือสำหรับเด็ก หนังสือนิทาน หนังสือธุรกิจ หนังสือคอมพิวเตอร์ ยาวจนไปถึงหนังสือเบื้องหลังการทำภาพยนตร์ นิยาย ดนตรี ฯลฯ
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประทับใจ
แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก ๆ คือห้องสมุดที่นี่สามารถ “ยืมหนังสือได้”
ไม่ว่าจะเป็นเล่มไหน แมกกาซีนเก่าใหม่ สามารถยืมกลับบ้านได้ และยืมได้นานหลายสัปดาห์ และยืมได้ทีละหลาย ๆ เล่ม!
เอาไปอ่านกันยาว ๆ นอนบนกองหนังสือกันไปเลย
ซึ่งคำว่า “นอนบนกองหนังสือ” ไม่ใช่คำเปรียบเปรยนะครับ แต่เด็ก ๆ ในครอบครัวที่ผมไปอยู่ด้วยทำกันมาแล้ว
หนังสือที่นั่นคุณสามารถยืมได้ และ “คืนเมื่อไหร่ก็ได้”
คำว่าคืนเมื่อไหร่ก็ได้คือ ที่ด้านนอกของห้องสมุดจะมี “ตู้รับหนังสือ” คือคุณสามารถแวะมาทิ้งหนังสือไว้ในตู้เหล็กขนาดยักษ์นี้เมื่อไหร่ก็ได้ เที่ยงคืนก็ได้ ตีสามก็ไม่มีปัญหา
อีกสิ่งที่ประทับใจสำหรับห้องสมุดในอเมริกาคือ “กิจกรรม”
ทุกวันเสาร์ และ อาทิตย์ ที่ห้องสมุดจะมีจัดกิจกรรมมากมาย
เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง ดังนั้นเด็ก ๆ บ้านไหนสนใจ เสาร์นี้ก็มาเจอกัน
หรือกิจกรรมพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับหนัง Starwars เรื่องใหม่ที่กำลังจะเข้า
ผมว่ามันทำให้คนในพื้นที่ได้มาพบปะกัน นอกจากจะได้มาพูดคุย ลับสมอง แล้ว วันเสาร์อาทิตย์พวกเขาไม่จำเป็นต้อง “เดินห้างฯ” เพียงอย่างเดียว
ไม่ต้องเดินห้างฯ เข้าห้องสมุดก็เจอแอร์เย็น ก็มีอะไรทำเหมือนกัน
กลับมาดูห้องสมุดที่ไทยบ้าง
ห้องสมุดไทยดีดีก็มีหลายที่นะครับ แต่ที่ผมประทับใจที่สุดเห็นจะมีอยู่ 3 ที่
ที่แรกคือ TK Park ชั้น 7 อาคาร Central World
ที่นี่เป็นห้องสมุดเหมือนอย่างที่ผมได้พูดถึงในต่างประเทศ คือ มีกิจกรรมที่น่าสนใจทุกสัปดาห์ มีหนังสือมากมายตั้งแต่วิชาการ ความรู้ แมกกาซีน จนถึงการ์ตูนโดเรมอน
ที่นี่ค่าเข้าราคาถูกมาก แค่ 20บาท
และที่นี่ ยืม-คืน หนังสือได้ .. แต่ไม่มีระบบคืน 24 ชม. เท่านั้นเอง
และที่นี่มีระบบอ่านหนังสือออนไลน์ได้ด้วย
ห้องสมุดที่สอง คือ TCDC บางรัก
ที่นี่เป็นห้องสมุดใหญ่ เน้นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ สถานที่เงียบ และมีกิจกรรมดี ๆ มากมายในระดับอินเตอร์ฯ
และห้องสมุดสุดท้ายที่ชอบคือ ห้องสมุดมารวย อาคารตลาดหลักทรัพย์ ถนนรัชดา
ที่นี่ดีจริง ๆ ห้องเงียบ หนังสืออัพเดท ที่จอดรถมี และใช้บริการฟรี มีระบบให้อ่านหนังสือออนไลน์ด้วย
เอาเข้าจริง ๆ สามที่นี้ ผมคิดว่ามีความดีแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์คือ ที่ TK Park นั้นดีมาก แต่พื้นที่เล็ก จำนวนคนมากกว่าพื้นที่ ทำให้หลายครั้งที่ไปรู้สึกแออัด
ที่ TCDC ดี แต่ไกลไปหน่อย ส่วนที่ห้องสมุดมารวย นี่ดีมาก แต่คนไม่ค่อยรู้จัก
ส่วนตัวคิดว่าถ้าเมืองไทยเอา TK Park เป็น Model เริ่มต้น แล้วขยายออกไปให้ได้ไกล ๆ น่าจะดีกับประชาชนในทุกพื้นที่
จะเริ่มจากในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ผมก็ว่าน่าสนใจ
เพราะนี่ล่ะ คือห้องสมุดในแบบที่ควรจะเป็น