ทำงาน 5 วันไปทำไม เมื่อทำสัปดาห์ละ 4 วันดีกว่า

Last updated on ก.พ. 1, 2022

Posted on ม.ค. 24, 2022

ใครอยากหยุดอาทิตย์ละ 3 วัน ทำงานอาทิตย์ละ 4 วันบ้าง ยกมือขึ้น!

หากถามแบบนี้ไม่ว่าพนักงานคนไหนก็ต้องรีบยกมือยิ้มรับแน่ อันที่จริงความพยายามในการปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น “ทำ 4 หยุด 3” แบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ‘Richard Nixon’ ของสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ แถมถ้ามองกลับมาในเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่เพิ่มวันทำงานเป็น 6 วันต่อสัปดาห์กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความหวังของพนักงานที่จะ “ทำ 4 หยุด 3” แทบจะเลือนหายไป

แต่คำทำนายของ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเคยเขียนไว้ว่าภายในปี 2028 ระบบการทำงานจะเหลือเพียงสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงเท่านั้นกำลังจะเป็นจริง เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนผ่านการทำงานเป็นรูปแบบใหม่ Work from Home, Work from Anywhere, Hybrid Workplace, Gig Economy ต่างเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานอยากมีอิสระในการทำงาน รวมถึงความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น หลายๆ องค์กรจึงจำเป็นต้องฟัง “ความต้องการ” ของพนักงาน และปรับตัวเพื่อรักษาบุคลากรของบริษัทไว้ 

ซึ่งทางเลือก “ทำ 4 หยุด 3” ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งกระแสการทำงานที่มีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เริ่มต้นจากประเทศไอซ์แลนด์ที่รัฐบาลประกาศทดลองซึ่งเริ่มลดวันทำงานให้กลายเป็น “ทำ 4 หยุด 3” ตั้งแต่ช่วงปี 2015 – 2019 ซึ่งในตอนนั้นหลายๆ คนยังมองว่าเป็นเรื่องที่  “เป็นไปไม่ได้” แต่ผลปรากฏว่าทางรัฐบาลออกมาประกาศในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมาว่าเป็นการทดลองที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เพราะนอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพกายและใจดีขึ้นตามไปด้วย ลดโอกาสการเกิดภาวะ Burnout ได้ดี และทำให้ผลผลิตในการทำงานโดยรวมมีคุณภาพมากขึ้น

และภายหลังการประกาศผลการทดลองของไอซ์แลนด์ หลายๆ องค์กรใหญ่ๆ ก็เริ่มเอาความคิด “ทำ 4 หยุด 3” มาพิจารณา อย่างปลายปีที่ผ่านมา ‘Unilever’ ในประเทศนิวซีแลนด์เองก็ประกาศจะลองทำเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบนี้ รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาก็นำความคิดนี้ไปปรับใช้ในองค์กรเรียบร้อยแล้วอย่าง Service Direct, Wonderlic, Healthwise รวมถึง Bolt ที่เพิ่งประกาศที่จะใช้ระบบนี้แบบถาวรเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากทดลองทำงานแบบ “ทำ 4 หยุด 3” แล้วพบว่ากว่า 94% ของพนักงานอยากให้ระบบนี้ดำเนินต่อไป และ 86% ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางบริษัทเชื่อมั่นในวัฒนธรรมองค์กรที่ให้พนักงานทุกคนคิดเหมือนผู้ก่อตั้ง คือ จะทำอย่างไรกับวันหยุด 3 วันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวเอง การใช้เวลากับครอบครัว ฯลฯ

นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ หลายๆ คนเชื่อว่าการลดจำนวนวันทำงานยังช่วยเหลือโลกได้ด้วย เพราะหนึ่งในการวิเคราะห์จาก University of Massachusetts Amherst พบว่าการลดวันทำงานช่วยลดรอบเท้าคาร์บอนได้เกือบ 30%  เพราะวันทำงานที่น้อยลงหมายถึงการเดินทางไปทำงานที่น้อยลง การใช้พลังงานที่ลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนเป็น “ทำ 4 หยุด 3” ก็สร้างความวุ่นวายพอสมควร เมื่อต้องเกี่ยวเนื่องกับการติดต่อจากบริษัทอื่นๆ ที่ยากที่จะนัดวันเวลาให้ตรงกันในบางกรณี รวมถึงการติดต่อจากลูกค้าที่อาจจะต้องรอวันนานขึ้น กว่าจะถึง “เวลาทำการ” อีกครั้ง ดังนั้นถึงแม้ว่า ผลลัพธ์ของการ “ทำ 4 หยุด 3” ดูแล้วจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ข่าวร้ายก็คือ พนักงานอาจจะก็ยังต้องรออีกสักระยะหนึ่งกว่าจะสามารถสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ 


ที่มาของข้อมูล


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

trending trending sports recipe

Share on

Tags