ผลวิจัยเผย ‘ความกล้าเสี่ยง’ คือสิ่งที่ทำให้ลีดเดอร์ที่ดี ตัดสินใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร

บางครั้งคนที่กล้าเสี่ยง ก็ตัดสินใจได้ไม่ดีเสมอไป

Last updated on พ.ย. 21, 2023

Posted on พ.ย. 14, 2023

เรามักเข้าใจกันว่าความเชี่ยวชาญจะนำไปสู่การตัดสินใจที่น่าเชื่อถือ เพราะผู้คนมองว่าผู้นำที่มีประสิทธิภาพ จะกล้าเสี่ยงเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่เอาเข้าจริง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และล้มเหลวนั้นก็มีเท่ากัน

ในขณะที่ผู้นำบางคนเลือกใช้แนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยยึดมั่นในกลยุทธ์ที่ช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด แต่ทำไมผู้นำบางคนถึงเต็มใจที่จะยอมรับความเสี่ยง?

วาเลเรีย เรย์นา (Valerie Reyna) และเพื่อนร่วมงานจาก Cornell University ได้ร่วมวิจัยเรื่องการประเมินกระบวนการตัดสินใจของคน 3 กลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง 36 คน กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 63 คน และผู้ใหญ่ที่ได้รับการศึกษาระดับวิทยาลัย 54 คน

เรย์นาขอให้ทั้งหมดร่วมตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมติที่เกี่ยวข้องกับความเป็น/ความตาย โดยผู้เข้าร่วมวิจัยจะต้องเลือกความน่าจะเป็นในการรับประกันจำนวนชีวิตที่ลดลงได้ หรือเลือกแนวทางการดำเนินการที่มี 'โอกาส' มากที่สุด

ยกตัวอย่างคำถาม สหรัฐฯ เตรียมรับมือโรคระบาดขนาดใหญ่ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 600 ราย หากเราเป็นผู้นำ เราสามารถเลือกตัวเลือกที่ช่วยชีวิตคนได้ 200 รายอย่างแน่นอน หรือเลือกตัวเลือกที่มีความน่าจะเป็นว่ามีคนเพียง 1 ใน 3 ของ 600 รายจะรอดชีวิต หรือความน่าจะเป็นที่ 2 ใน 3 ของ 600 รายจะไม่มีใครรอด?

หรืออีกคำถามหนึ่ง ในสถานการณ์เดียวกัน เราสามารถเลือกตัวเลือกที่ต้องมีคนเสียชีวิต 400 รายอย่างแน่นอน หรือความน่าจะเป็นที่ 2 ใน 3 ของ 600 รายจะตายทั้งหมด และความน่าจะเป็น 1 ใน 3 ที่จะไม่มีใครตายเลย

จากการทดลองเหล่านี้เรย์นาพบว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ตีค่าตัวเลือกที่คล้ายกันนี้ ว่าไม่เท่ากัน ซึ่งพวกเขาเต็มใจที่จะเลือกตัวเลือกที่มีความเสี่ยงมากกว่า จนอาจทำให้มีการสูญเสียชีวิตมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่พนันว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จะเกิดขึ้น ณ เวลาที่มีความเสี่ยงสูง

โดยพื้นฐานแล้ว การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญหรือผู้นำที่รับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีอำนาจ มีแนวโน้มที่จะยอมให้บริบทหรือกรอบของปัญหาส่งผลต่อการตัดสินใจของพวกเขา และเลือกเส้นทางที่หุนหันพลันแล่นหรือเสี่ยงกว่า เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้นำ 16% มีแรงผลักดันทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ตัดสินใจ แต่มักไม่ปล่อยให้ตนมีเวลาเพียงพอในการตัดสินใจ หรือไม่ต้องการฟังผู้อื่นเมื่อทำการตัดสินใจ เพราะพวกเขาอาจรู้สึกอึดอัด หากถูกควบคุมผลลัพธ์ของการตัดสินใจ และถ้าหากลีดเดอร์ถูกบังคับให้ต้องทิ้งการตัดสินใจ เนื่องจากความคิดเห็นของผู้อื่นหรือสถานการณ์พาไป มันจะทำให้พวกเขารู้สึกโล่งใจมากขึ้น จนรีบผลักดันการตัดสินใจไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายอย่างรวดเร็ว

“เราสามารถลดโอกาสในการตัดสินใจผิดพลาดได้หรือไม่?”

การตัดสินใจที่ถูกต้องคือการทำความเข้าใจว่าบางครั้ง แรงผลักดันทางอารมณ์ก็มีผลต่อการตัดสินใจของเรา เมื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำความเข้าใจถึงความเสี่ยง ไม่เพียงช่วยเพิ่มแรงผลักดันทางอารมณ์ของเราอย่างเดียว แต่เรายังสามารถใช้การตัดสินใจของคนอื่น มาเป็นกุญแจสำคัญในการเป็นผู้นำที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้น และการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างประสบความสำเร็จ

⭐ ทริคเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ⭐

✨ 1. ฝึกรับความเสี่ยงเล็ก ๆ ✨

การยอมรับความเสี่ยง โดยรับความเสี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ จำนวนมาก (เช่น ความเสี่ยงที่รับได้ง่าย และมีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้นิดหน่อย) มันอาจจะง่ายพอ ๆ กับการเปลี่ยนรสชาติของกาแฟในห้องทำงาน ซึ่งเราสามารถฝึกเสี่ยงในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ทำงานได้ ตัวอย่างเช่น หากเรากลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้อื่นในเรื่องข้อผิดพลาดของพวกเขา ให้ฝึกฝนโดยขอให้ลูกทีมแก้ไขข้อผิดพลาด หากเราเห็นข้อผิดพลาดดังกล่าว

สิ่งสำคัญคือการมองหาโอกาสในการสัมผัสกับความรู้สึกไม่สบายใจ และพยายามเผชิญผลที่ตามมาของการเสี่ยง เมื่อเรารู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะรับความเสี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสถานการณ์ที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน จะทำให้เราสามารถก้าวหน้าไปสู่การรับความเสี่ยงที่มากขึ้น พร้อมกับยอมรับผลที่ตามมาได้


✨ 2. ใช้การตัดสินใจด้วยความคิดว่า ‘เพื่อประโยชน์ส่วนรวม’ ✨

เมื่อตัดสินใจว่าตัวเองควรเสี่ยงหรือไม่ ให้พยายามมองข้ามผลลัพธ์ส่วนบุคคล และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ส่วนรวม ที่อาจเกิดขึ้นสำหรับเพื่อนร่วมงาน และองค์กรของเรา เพราะผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำการตัดสินใจที่เสี่ยงกว่าเล็กน้อยหากเป็นการตัดสินใจเพื่อคนหมู่มาก ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กลัวความเสี่ยง

เพื่อให้คำนวณได้ดีขึ้นว่าเราควรรับความเสี่ยงอย่างไร เราสามารถเริ่มต้นด้วยการตัดสินใจจากลิสต์รายการผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ และต้นทุนของความเสี่ยงสำหรับตัวเรา เพื่อนร่วมงาน และองค์กร นอกจากนี้ ให้ลองคิดดูเสมอว่าความเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อแต่ละฝ่ายอย่างไร หากมันสำเร็จหรือล้มเหลว แล้วจึงค่อยใช้ข้อมูลนั้นในการตัดสินใจที่จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อทีม และองค์กรของเราในท้ายที่สุด


✨ 3. หาคนเชี่ยวชาญไว้ปรึกษาในเรื่องที่ไม่ถนัด ✨

ก่อนที่จะเสี่ยง เราสามารถลดจำนวนความไม่แน่นอนที่มีได้ โดยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ให้มากที่สุด จากนั้นก็ให้พิจารณาว่าคนรอบตัวของเราคนไหนที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวข้อนี้ และกำหนดเวลาการประชุมเพื่อขอความคิดเห็น


การเข้าใจแนวโน้มทางอารมณ์เมื่อต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่เสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ มันชี้ให้เห็นว่าเมื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาแรงผลักดันทางอารมณ์ของตนเอง และคนรอบตัวด้วย เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงความเสี่ยง และวิธีการตัดสินใจแล้ว มันจะนำไปสู่การเป็นผู้นำที่ดีได้ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags