นักวิจัยบอกว่าในสภาพแวดล้อมที่แออัด – ธรรมชาติจะช่วยทำหน้าที่ให้ผู้คนรู้สึกเชื่อมต่อกันมากขึ้น
อ้างอิงจาก Dr. Vivek Murthy (ผอ.หน่วยบริการสาธารสุขของรัฐบาลสหรัฐในยุคบารัค โอบามา และโจ ไบเดน) บอกว่าความเหงาที่ลุกลามอย่างรวดเร็วบนโลกใบนี้ ถือเป็นเป็นผลกระทบตามมาจากการใช้ชีวิตในเมืองที่นำมาซึ่งความเสี่ยงของอายุขัยที่ลดลง
ซึ่งถ้าเรามองลึกลงไปอีก คุณจะพบว่าความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงานั้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจ, ภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล และภาวะสมองเสื่อม หรือคุณอาจสังเกตบรรดาสถานที่ทำงานหลายๆ แห่งที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วคุณอาจพบว่าความโดดเดี่ยวก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับศักยภาพการทำงานที่ลดลงด้วย เพราะมันจำกัดความคิดสร้างสรรค์ และอาจทำให้ความสามารถในการทำงานด้านต่างๆ ของเราแย่ลง
แต่แม้จะมีหลายวิธีในการตั้งรับกับความเหงาในเมือง อย่างเช่น การปรับดีไซน์ของโครงสร้างสถาปัตยกรรมเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันได้ง่ายขึ้น หรือทำให้การเลี้ยงสัตว์สักตัวสองตัวเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับคนเมือง แต่การศึกษาล่าสุดก็ยังแนะนำว่าควรเพิ่มธรรมชาติเข้ามาหลอมรวมกับสิ่งเหล่านี้ด้วย
เพราะจากการค้นพบที่เผยแพร่ใน The Journal Scientific Reports ตามด้วยรีวิวการประเมินโดยผู้ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกว่า 750 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครใช้แอปพลิเคชั่นที่สร้างมาเฉพาะเพื่อสอบถามความรู้สึกแบบ real time ในระยะเวลาสองเดือน
ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมการทดลองนั้นถูกสุ่มถามคำถาม 3 ครั้ง / วัน ในช่วงเวลาตั้งแต่ตื่นนอน ด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า “ecological momentary assessment” ซึ่งเป็นการถามถึงพฤติกรรมและประสบการณ์ที่พบเจอแบบ real time เกี่ยวกับความหนาแน่นในเมืองที่มากเกินไปและการรับรู้เกี่ยวกับสังคม ซึ่งคำถามที่อาสาสมัครถูกถามนั้นมีตัวอย่างเช่น ตอนนี้คุณเห็นต้นไม้บ้างไหม? หรือคุณพอจะเห็นพืชบ้างหรือเปล่า? ตอนนี้มองเห็นหรือได้ยินเสียงนกร้องไหม? แล้วคุณมองเห็นแหล่งน้ำบ้างหรือเปล่า? ซึ่งจากการสอบถามนี้พบว่าความรู้สึกของความโดดเดี่ยวชั่วครู่ ถูกจัดอยู่ในลำดับ 5 คะแนน
และจากผลการประเมินที่ได้รับกว่า 16,600 คำตอบ พบว่าสภาพแวดล้อมที่หนาแน่นแออัดนั้นเพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาไปกว่า 38% อย่างน่าตกใจ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ เชื้อชาติ อาชีพ หรือระดับการศึกษาเลย ทว่าเมื่อผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สีเขียวหรือได้ยินเสียงนกร้อง หรือแม้แต่ได้มองท้องฟ้า การรับรู้เรื่องความโดดเดี่ยวก็ลดลงไปถึง 28%
ซึ่งถ้าความเปลี่ยวเหงาถูกบรรเทาได้ด้วยการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ การยกระดับและปรับปรุงการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและสีฟ้าที่มีคุณภาพ อย่างเช่นสวนสาธารณะและแหล่งน้ำในพื้นที่เมืองอันหนาแน่นก็อาจช่วยให้ผู้คนรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวน้อยลงได้
และการค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับการวิจัยก่อนหน้า ในเรื่องของประโยชน์ทางด้านจิตใจของการเดินเล่นในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งปรากฎการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อของ “Forest Bathing” หรือการอาบป่า ซึ่งเป็นการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 โดย International Journal of Environmental Research ที่พบว่าการหลอมตัวเองเข้าสู่บรรยากาศของป่าจะช่วยลดความเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายได้
ซึ่ง ‘Forest Bathing’ หรือ ‘การอาบป่า’ นั้นถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกในทุกๆ ด้าน การบำบัดด้วยกลิ่นจากพืชพันธุ์ หรือเสียงใบไม้กระทบกันในป่า, เสียงนกร้อง หรือเสียงน้ำไหล รวมถึงการกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัสทางการมองเห็นจากดอกไม้ไปจนถึงสัตว์ประจำถิ่น และการรับรู้ผ่านผิวสัมผัสของผืนดินนุ่มๆ ใต้ฝ่าเท้าหรือใบไม้บนมือ ประสบการณ์ต่างๆ ที่หลอมรวมกันนี้ ต่างทำหน้าที่เพื่อเยียวยาความเครียดของมนุษย์ให้ลดลง และช่วยปรับปรุงสุขภาพทางกายได้ดีพอๆ กับสุขภาวะทางจิตใจ เพราะอากาศของป่านั้นสะอาดกว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเมือง และบรรดาต้นไม้ก็มี phytoncide สารประกอบจากธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากพีช ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง รวมถึงการสร้างเสริมเซลล์ภูมิคุ้มกันได้
แต่แม้การเพิ่มและผสมผสานความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเมือง จะถูกมองเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้กับ climate change หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่มันก็ชัดเจนว่าการวัดผลยังคงมีความสำคัญต่อการปรับปรุงและยกระดับความอยู่ดีมีสุขของประชากร รวมถึงควบคุมความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของผู้คนได้
ที่มาของข้อมูล – https://www.treehugger.com
เรื่อง: ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ