หมดไฟในการทำงาน แก้ไขได้อย่างไร

Last updated on ส.ค. 27, 2019

Posted on ส.ค. 23, 2019

ผมเป็นคนหนึ่งที่หมดไฟบ่อย เซง ๆ เบื่อ ๆ ไม่อยากทำงาน ไม่รู้ว่าจะมาทำงานทำไม ความทุกข์อย่างหนึ่งของคนเป็นหัวหน้า คือเวลาที่เรารู้สึกเศร้าหรือเหนื่อย เราบอกคนอื่นไม่ค่อยได้ เพราะถ้าคนที่ทำงานให้เรา ได้ยินเราพูดว่าเหนื่อย เบื่อ ขี้เกียจทำงาน เขาก็จะรู้สึกเบื่อและท้อแท้ไปด้วย ผมเลยคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าเราหมดไฟ เรามีวิธีแก้ 2 วิธี คือ แก้ไขในระยะสั้น และ ระยะยาว

1. แก้อาการหมดไฟระยะสั้น

หลายคนน่าจะทำกัน คือการหนีไปเที่ยว การเที่ยวไม่ใช่การเติมไฟ แต่เป็นการหลีกหนีจากสิ่งที่เราเบื่อ เช่น ทะเลเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เจอ นั่งดูทะเล นั่งฟังเสียงลม เราก็รู้สึกพอใจแล้ว ในขณะเดียวกันคนที่ทำงานอยู่กับทะเลตลอด เขาก็หนีเข้าเมืองในช่วงที่เขาเบื่อความจำเจเช่นกัน

ประเด็นคือ ถ้าเราอยากหลีกหนีจากความน่าเบื่อที่เจอเป็นประจำ อาจไม่ต้องไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ได้ แต่ลองไปทำอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยทำ

ครั้งหนึ่งที่ผมลองแล้วชอบคือ การเที่ยวกรุงเทพฯ ตอนนั้นผมได้บัตรนอนโรงแรมฟรี ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ อาจจะคิดว่านี่ก็โรงแรมในกรุงเทพจะนอนทำไม แต่พอไปจริง ๆ เรารู้สึกเหมือนเป็นนักท่องเที่ยวเลย นั่งตุ๊ก ๆ ไปเที่ยวสวนลุมไนท์ ตกกลางคืนมานอนโรงแรม ตอนเช้าตื่นมากินอาหาร ว่ายน้ำ แล้วเช็กเอ้าท์กลับบ้าน

หรือลองไปสถานที่ที่ไม่เคยไป เช่น หอศิลป์ ริมคลอง ตลาดน้ำ ลองทำอะไรแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำ หรือเรื่องง่าย ๆ ที่เราไม่ค่อยได้ทำ เช่น จากปกติขับรถไปทำงานทุกวัน ลองไปนั่งรถเมล์หรือสองแถวดูบ้าง จะช่วยให้เราหลุดจากความจำเจได้

2. แก้อาการหมดไฟระยะยาว

การแก้ปัญหาระยะยาว เราต้องรู้จักกับปัญหาก่อน ถ้าสามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้

ผมอาจไม่รู้ว่าปัญหาระยะยาวของทุกคนคืออะไร เช่น อาจเป็นเจ้านาย เพื่อน หรือเนื้องานของเราเอง แต่มีหนึ่งวิธีที่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้แบบครอบจักรวาล นั่นคือ ในเมื่อเราบอกว่าต้นเหตุของการหมดไฟคือความน่าเบื่อ ซ้ำซาก จำเจ เช่น ถ้าเราเป็นพ่อครัวในร้านอาหาร ความน่าเบื่อคือตอกบัตรเข้างานทุกวัน เจอกระทะใบเดิม เมนูเดิม ทำแบบนี้ทุกวัน เป็นเพราะสิ่งที่เราทำทุกวันมันจำเจ และมองมันในระยะที่ใกล้เกินไป เรามองมันเป็น Day-To-Day Job

วิธีแก้คือให้ลองถอยหลังกลับมาเพื่อมองภาพที่ใหญ่ขึ้น มองเห็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง เราจะมีความสุขยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการมองว่างานพ่อครัวคือทำกับข้าว เป็นเพราะพ่อครัวคือหัวใจสำคัญของร้านนี้ ต่อให้มีการบริการที่ดี ราคาถูก แต่ถ้าอาหารไม่อร่อย ยังไงร้านก็อยู่ไม่รอด เราจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเรายิ่งใหญ่ เป้าหมายของเรายิ่งใหญ่กว่าเดิมที่มีอยู่ มีผลต่อธุรกิจนี้มาก และถ้าไม่มีเราธุรกิจนี้อาจจแย่เลยก็ได้

หากเราอยากเติมไฟ อยากรู้สึกมีคุณค่ามากกว่านั้น ลองถอยออกมาให้ไกลกว่าร้านอาหาร และมองไปถึงลูกค้า สำหรับลูกค้าบางคน ร้านอาหารเป็นมากกว่าความอิ่มและอร่อย ถ้าเราเป็นพ่อครัว จริง ๆ แล้วเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก คู่ค้าบางคน บางครั้งการไปร้านอาหารเพราะเราอยากคุยกับลูกค้า แฟน ครอบครัว ไม่ใช่แค่เพราะร้านอาหารร้านนี้อร่อย แต่เพราะเราเชื่อว่ามันจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนอื่น ๆ ได้ เมื่อรู้แล้วว่าเรามีความสำคัญที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของคนอื่น ๆ ดีขึ้นได้ เป้าหมายของเราจึงยิ่งใหญ่มากกว่าแค่การเหยาะซอสและทำกับข้าวไปวัน ๆ

ครั้งต่อไปที่คุณทำกับข้าว คุณอาจให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น คุณจะหั่นผักให้ชิ้นเล็กกว่าเดิม คนจะได้ไม่ต้องอ้าปากกว้างไปจนดูไม่สวย อาจจะคิดเมนูใหม่ หรือปรับเมนูให้ลดเครื่องเทศลง เพื่อไม่ให้คู่ค้าที่เจรจากันต้องฉุนจมูก หรือเผลอทำอะไรน่าเกลียดต่อหน้าคู่ค้า ดังนั้น งานของเราก็จะไม่น่าเบื่อ แล้วมันก็จะสนุกขึ้นด้วย

การทำงานทุกวันนี้ ถ้าเรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เราก็จะรู้สึกดีขึ้นได้ง่าย ๆ เช่น ดีไซน์เนอร์ ต้องออกแบบโลโก้ระดับชาติ คนไทยและต่างชาติต้องเข้าใจ มันคือตัวแทนของหน่วยงานรัฐในบางส่วน เราจะรู้สึกว่ามันทำลวก ๆ ไม่ได้ หรืออย่างงาน Creative Talk เราไม่ได้แค่อยากทำให้มันจบ ๆ ไป คิดเงินสปอนเซอร์ คิดเงินค่าบัตร แต่หัวใจคืออยากให้คนฟังได้ความรู้อย่างเต็มที่ มีพลัง

อาจใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปเลยก็ได้ ทั้งการทำอะไรแปลก ๆ และการค้นหาเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเราเอง มันจะทำให้เราอยากทำงานต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ผมเน้นอยู่ตลอดคือ อย่าเอาเงินเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน แต่อยากให้มองว่าเงินคือรางวัลที่ได้จากการทำบรรลุเป้าหมาย

ภาพจาก Peter Kraayvanger, Pixabay

ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags