ศิลปะของการบริหารพนักงานฟรีแลนซ์ กับ 4 เทคนิค ทำอย่างไรให้ฟรีแลนซ์ อยากทำงานกับเรานาน ๆ

ผลสำรวจนั้นเราจะพบว่าองค์กรที่ก้าวกระโดดหลายแห่ง ใช้ฟรีแลนซ์มาทำงานให้ถึง 38% เลยทีเดียว

Last updated on ก.ย. 28, 2023

Posted on ก.ย. 26, 2023

ยุคปัจจุบันคนเริ่มหันมาเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น นั่นเพราะองค์กรเองก็อยากได้คนเก่ง ๆ มาทำงานให้ ในขณะที่คนเก่งเหล่านั้นก็ไม่อยากยึดติดกับบริษัทเดียว นั่นทำให้เรามักจะพบว่าองค์กรต่าง ๆ เริ่มจ้างฟรีแลนซ์เข้ามาทำงานแทนในหลายตำแหน่ง ตั้งแต่เล็ก ๆ อย่างระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงตำแหน่งใหญ่อย่างกลุ่มผู้นำ และทีมบริหาร

ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำ 4 เทคนิคสำคัญให้เหล่าลีดเดอร์ในองค์กร มาช่วยบริหารกลุ่มฟรีแลนซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. อย่าจัดการแบบ Micro management

พนักงานฟรีแลนซ์ชอบทำงานในความเป็นอิสระ ภายใต้ความไว้วางใจ ฉะนั้นแล้วนายจ้างที่ดีไม่ควรก้าวก่ายเนื้องานพวกเขามากจนเกินไป แต่ควรบรีฟทุกอย่างให้เคลียร์ตั้งแต่การคุยครั้งแรก เพราะการเข้าไปจุกจิกเกินงาม จะทำให้พวกเขาทำงานได้ยาก ในกรณีเดียวกัน เมื่อพวกเขาต้องการคำตอบ เราก็ควรมีช่วงเวลาเพื่อคุยให้เคลียร์ ซึ่งการไว้วางใจให้ฟรีแลนซ์จัดการงานของตนจะช่วยทำให้พวกเขาครีเอทีฟงานได้ดีเพราะไม่ต้องรู้สึกว่าถูกตามงาน


2. บรีฟดี มีกรอบเวลาชัด สื่อสารได้ถนัด

มาร์ซิน ซโกลา (Marcin Zgola) ผู้ก่อแพลตฟอร์มฟรีแลนซ์อย่าง Wage ได้บอกว่า ฟรีแลนซ์คือคนที่ทำงานด้วยความยืดหยุ่น พวกเขาให้ความสำคัญกับอิสระเหนือสิ่งอื่นใด นั่นทำให้แต่ละวันพวกเขาจะมีกรอบเวลาที่ชัดเจนเพื่อคุยกับลูกค้า ฉะนั้นแล้วเราต้องมีความชัดเจนให้เขาทั้งในแง่ของบรีฟ กรอบเวลาการทำงาน และช่องทางการสื่อสาร เพราะความชัดเจนทำให้งานไม่ต้องแก้ไปมา แถมช่องทางการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้ฟรีแลนซ์ทราบว่าโปรเจกต์จะดำเนินไปยังไง ตอนนี้ถึงสโคปไหนอยู่ ซึ่งเราเองก็ควรปรับแพลตฟอร์มการคุยเป็นช่องทางกลางที่ทุกคนถนัด เพื่อให้สามารถตามตัวพวกเขาได้ในกรณีที่มีปัญหา รวมถึงลดความเสี่ยงที่งานจะผิดพลาดได้


3. สนใจงานยังไง ก็จงเลือกคนทำงานแบบนั้น

ด้วยการแพร่กระจายของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมโยงนายจ้างกับเหล่าฟรีแลนซ์ ทำให้เราสามารถหาฟรีแลนซ์ได้อย่างไม่ยาก โดยเราสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อตรวจสอบโปรไฟล์ ดูตัวอย่างงาน และบทวิจารณ์จากการคนอื่นได้อย่างละเอียด เพราะการหาคนที่เข้าใจจุดแข็ง และมีความสนใจเดียวกัน จะทำให้นายจ้างสามารถสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานที่เข้มแข็ง และเป็นประโยชน์ร่วมกันกับเหล่าฟรีแลนซ์ได้


4. สร้างคอมมูนิตี้ให้พวกเขาคิดถึงเราอยู่เสมอ

แม้ว่าฟรีแลนซ์อาจไม่ใช่พนักงานประจำขององค์กร แต่การสร้างคอมมูนิตี้ให้พวกเขาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ การส่งเสริมให้พวกเขาได้เข้าร่วมบางกิจกรรมกับพนักงานประจำโดยไม่แบ่งแยก จะทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า และสร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขามากขึ้น นอกจากนั้นเราควรมีคอมมูนิตี้ฟรีแลนซ์ของตน เพื่อติดต่อกับพวกเขาอยู่เสมอ เพราะไม่แน่ว่าเราอาจต้องการให้พวกเขากลับมาทำงานให้อีก ฉะนั้นแล้วจึงเป็นการดีที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารเอาไว้


นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ในเว็บไซต์ LinkedIn ยังแนะนำว่า เรายังสามารถให้ Reward กับเหล่าพนักงานฟรีแลนซ์เพื่อเป็นแรงจูงใจได้ด้วย ตั้งแต่โบนัส คำอ้างอิง แนะนำลูกค้า ซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินว่า บางบริษัทถึงขนาดให้ Reward เป็นทริปเที่ยวต่างประเทศเลยก็มี เพราะสิ่งจูงใจเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้กลุ่มฟรีแลนซ์อยากกลับมาทำงานให้เราอยู่เสมอ


การเมเนจพนักงานฟรีแลนซ์ที่ทำงานให้องค์กร เป็นแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันบางบริษัทถึงกับใช้พนักงานฟรีแลนซ์เกิน 80% เลยก็มี ฉะนั้นแล้วการมีแนวทางที่ปรับให้เหมาะสมกับองค์กร จะทำให้ลีดเดอร์สามารถนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนกับกลุ่มฟรีแลนซ์ นอกจากนั้นแล้วเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ ยังช่วยให้เราสามารถดึงคนเก่งมาช่วยงาน โดยที่ยังคงประสิทธิภาพ และเพิ่มความสำเร็จทางธุรกิจโดยรวมได้


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags