ว่ากันว่ามนุษย์เรา สามารถค้นหาตัวเองได้ตลอดชีวิต นั่นทำให้ไม่มีอะไรจะมาลิมิตว่าเมื่อไหร่ที่เราควรจะหยุดค้นหาตัวเอง
การสำรวจความหลงใหล ทักษะ และคุณค่าของตน จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เราเดินตามความฝันได้อย่างมีจุดหมาย
ที่งาน 'Creative all around - แนะแนวชีวิต นักคิดสร้างสรรค์’ ในเซสชัน 𝐓𝐡𝐢𝐧𝐤 𝐚𝐫𝐨𝐮𝐧𝐝 - ‘คิด’ ยังไงให้เจองานที่ใช่ ด้วยการนั้น คุณบิ๊ก - ภูมิชาย (เจ้าของรายการ คำนี้ดี จาก The Standard), คุณเล็ก - ดมิสาฐ์ (SOUR Bangkok ผู้สร้างตัวละคร ‘แนนโน๊ะ’) และคุณท็อป - ศรัณย์ (CEO Fungjai, ผู้จัด Maho Rasop Festival) ก็ได้ให้เกียรติ เข้ามาร่วมพูดคุยถึงวิธีการใช้ความครีเอทีฟมาประกอบอาชีพ รวมถึงแนะแนวการหาค้นหาตนเอง ว่าจะทำอย่างไร ถ้าอยากทำอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
สำหรับในงานโฆษณา คุณเล็กเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘คนรับแก้ปัญหา’ เพราะงานครีเอทีฟโฆษณาคือการช่วยลูกค้าแก้ปัญหา ซึ่งชาเลนจ์ของพวกเขาเป็นการช่วยเหลือลูกค้า ถ้าหากโปรดักต์ออกมาไม่ดี แล้วพวกเขาจะซ่อมโปรดักต์ให้ดีขึ้นยังไงได้บ้าง ไม่ว่าจะผ่านหนังโฆษณาหรือโซเชียลแคมเปญเองก็ตาม
สำหรับงานธุรกิจคอนเสิร์ต คุณท็อปนิยามงานตัวเองว่าเป็น Decision Maker หรือ ‘นักเคาะ’ โดยงานหลัก ๆ ของการทำธุรกิจคือช่วยทีมแก้ปัญหา ด้วยการลงไปคลุกคลี และตัดสินใจ ฉะนั้นแล้ว งานหลัก ๆ ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจ จึงเป็นงานที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง เพราะต่อให้เกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องตัดสินใจเพื่อคิดหาทางแก้ปัญหาให้กับมัน
ในฝั่งของนักสร้างสรรค์ คุณบิ๊กนั้นก็นิยามอาชีพตนเองว่าเป็น ‘นักแก้ปัญหาให้คนดู’ ซึ่งคุณบิ๊กเล่าให้ฟังว่าความครีเอทีฟในแบบของคุณบิ๊ก คือการใช้เวลาพัฒนาโปรดักต์ของตน ต้องหาให้เจอว่าคนดูอยู่ไหนแล้วก็จะก้าวไปตรงนั้นยังไง ฉะนั้นเขาจึงไม่ได้นิยามตัวเองว่าจะทำอะไร แต่ต้องนิยามโปรดักต์ของตนเองว่าจะคุยกับใคร และเพื่ออะไรให้ได้ เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน ถ้าเรายึดความครีเอทีฟอันเป็นหัวใจหลักของเราไว้ ก็จะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ได้เสมอ แม้จะต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มก็ตาม
🤔 หลักการคิด และกระบวนการแก้ปัญหาของนักสร้างสรรค์เป็นยังไง 🤔
สำหรับในวงการโฆษณาสิ่งสำคัญที่ต้องใช้คือครีเอทีฟมายด์เซต ซึ่งไม่ใช่แค่แผนกครีเอทีฟที่ต้องใช้ แต่แผนกอื่น ๆ เองก็ต้องใช้สิ่งนี้ด้วย เพราะเราต้องคอยคิดว่าจะครีเอทีฟวิธีการยังไงให้ทีมอื่นสามารถเดลิเวอร์งานต่อไปได้ หรือกระทั่งหาโซลูชันเพื่อเบาแรงแผนกครีเอทีฟ ต้องรู้จักตัดสินใจให้เป็น นั่นทำให้สำหรับวงการโฆษณาแล้ว ทุกคนจึงต้องมีครีเอทีฟมายด์เซตหมด
ส่วนของครีเอทีฟงานคอนเสิร์ตจะต่างกัน เพราะงานคอนเสิร์ตจะไม่ได้คิดจากปัญหา แต่อันดับแรกเราต้องดูว่างานนี้จะทำเพื่ออะไร ต่อมาเมื่อเราเริ่มได้ก้อนไอเดียแล้ว เราจะค่อย ๆ แตกกิ่งก้านสิ่งที่ต้องสร้างเพิ่มออกมาได้ แล้วจากนั้นเราจะรู้เองว่าเรามีปัญหาอะไรที่ต้องจัดการเพื่อให้งานมันราบรื่น
ส่วนของคอนเทนต์ครีเอเตอร์นั้น กระบวนการคิดแทบจะ 100% เราต้องคิดทุกอย่างมาจาก ‘Pain’ โดยคุณบิ๊กได้ยกตัวอย่างให้ฟังผ่านรายการของเขาอย่าง ‘คำนี้ดี’ ซึ่งเกิดจากการที่เขาอยากจะพัฒนาภาษาให้คนไทย แต่จะทำยังไงเมื่อคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก นั่นทำให้วิธีคิดของคุณบิ๊กปรับเป็นการ ‘ทำยังไงก็ได้’ ให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน จึงออกมาเป็นรายการคำนี้ดี ที่ทำให้ผู้ฟังได้ฟังทุกวัน รวมถึงตัวคุณบิ๊กก็ได้ใช้ภาษาในการจัดรายการ เพราะเมื่อเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เจอกับชาวต่างชาติตลอด เราจึงต้องสะสมคลังคำศัพท์เยอะ ๆ
🔎 การค้นหาความสร้างสรรค์ต้องทำอย่างไร 🔎
เริ่มแรก เราก็ต้องรีเสิร์ชดูว่าในตลาดที่เราจะลงไปสร้างนั้น มีใครทำอะไรกันบ้าง ซึ่งไอเดียแบบที่เราต้องการ มันมีคนทำอยู่แล้วไหม ต่อมาเราก็ต้องดูว่าเขาทำกันยังไง แล้วเราจะจัดการยังไงกับก้อนไอเดียที่มี หาจุดต่างให้ได้ และค่อยหาจุดยืนที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเรา
หากจะหาไอเดีย จงคิดเสมอว่า การเลือกไอเดียที่ดีคือการเลือกไอเดียเดียวที่ถูกต้องในเวลานั้น ซึ่งการเลือกไอเดียนั้นก็เหมือนกับการหาคู่ เพราะมันไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องคู่กับอะไรซักอย่างตลอดไป เพียงแต่เราต้องดูว่าไอเดียอะไรที่เหมาะกับเรา ณ เวลานั้นมากที่สุด
เมื่อก้อนไอเดียของเราเริ่มเป็นธุรกิจ เราต้องใส่ใจเรื่องเงินให้มากขึ้น หาให้เจอก่อนว่าเราต้องการขายอะไร และให้ใคร ซึ่งมีลูกค้า 2 ประเภทที่เราต้องใส่ใจ
- คือลูกค้าที่จ่ายเงิน ซึ่งทำให้ธุรกิจเรารันได้
- คือกลุ่มลูกค้าที่จ่ายเราด้วยเวลา
เราต้องคิดเสมอว่าจะทำยังไงให้เขาหยุดดูเรา โดยสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ เพราะใครก็สามารถดึงเวลาจากคนไปได้หมด ฉะนั้นแล้วเราจึงต้องสร้างคอมมูนิตี้เพื่อหาคนแบบเดียวกับเราให้เจอ แล้วเราจะดึงดูดเขาเอง
💯 อะไรสำคัญสำหรับความครีเอทีฟ 💯
ชีวิตมันคือการตัดสินใจ เวลาเราไปเจออะไรมา ลองหันกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งนี้มันคือใช่หรือไม่ใช่ ชีวิตมันคือ Journey แต่มันไม่ใช่ One Big Moment เสมอไป หาให้เจอว่า Audience ของเราเป็นคนแบบไหน กำลังสนใจอะไร เครียดเรื่องอะไร หรือใช้เงินแบบไหน เพราะการรู้จักคนของเรา จะทำให้เรามองเห็นเขามากขึ้นว่าเขา Connect กับอะไร ซึ่งจะทำให้เรา Serve เนื้อหาได้ตรงกลุ่มมากขึ้น
คอยเช็กตัวเองว่าเราทำในสิ่งที่ชอบอยู่หรือเปล่า เมื่อตื่นมาในวันจันทร์ เราเกลียดมันมั้ย เพราะถ้าเราเกลียด เราไม่ชอบสิ่งนั้น มันก็แปลว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ไม่ใช่เรา ดังนั้นแล้ว เราก็ควรหางานที่ทำให้เราไม่เกลียดวันจันทร์
จะรู้ได้ยังไงว่าชอบอะไร ก็หาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้านก็พอ ที่เปรียบแบบนี้ก็เพราะ เราอยู่บ้านแล้วรู้สึกสบายใจ ไม่มีใครมาด่าเราว่าทำแล้วมันผิด ซึ่งการได้เจอสิ่งที่สบายใจ แปลว่าเราได้เจอสิ่งที่มันเหมือนบ้าน และเป็นเซฟโซนของเรา
ท้ายที่สุด จงอย่าคิดมากกับแพสชั่นนักเลย เพราะแพสชั่นเป็นสิ่งที่หาเพิ่มได้ตลอด มันไม่ได้เกิดมากับตัวตนเรา ซึ่งถ้ายังไม่มีแพสชั่นก็ลองหาด้วยสิ่งเหล่านี้ดู
- สิ่งที่เราทำได้ดี
- สิ่งที่ทำแล้วช่วยคนอื่นได้
- สิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเราตอนนั้น
เพราะชีวิตมันเป็นแบบนี้ มันไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องมีแค่จุดสำคัญจุดเดียว เราแพ้ได้เราเฟลได้ แล้วซักวันเราก็จะผงาดได้ การที่ชีวิตมันขึ้นลงตลอดเวลา จะทำให้เราทุกคนมี Journey ของตัวเอง ฉะนั้นแล้วก็จงหา Journey นั้นให้เจอซะ
เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์