การโดนรบกวนในที่ทำงานสามารถเป็นเรื่องที่ดีได้ หากคุณ “รบกวนเป็น”
แม้ว่าการรบกวนระหว่างทำงานเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ แต่จากการศึกษาล่าสุด พบว่า 31% ของการโดนรบกวนในที่ทำงานสามารถเป็นเรื่องดีได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการรบกวนอย่างมีศิลป วันนี้จึงขอเสนอ “6 กลยุทธ์ในการรบกวนอย่างมีศิลปะ” ให้คุณเข้าไปรบกวนผู้อื่นได้แบบเนียนๆ โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกรบกวนแต่อย่างใด ให้คุณได้ลองเอาไปปรับใช้กันดู
ประเมินว่างานนั้นจำเป็นแค่ไหน
คนจะเห็นว่าการโดนรบกวนนั้นควรค่าแก่เวลาของเขา ต่อเมื่องานนั้น “สำคัญ” โดยเฉพาะถ้ามันสำคัญกว่างานที่เขากำลังทำอยู่ เพราะฉะนั้นก่อนจะไปรบกวนเวลาใครต้องดูด้วยว่างานนั้นสำคัญและจำเป็นแค่ไหน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณไม่พอใจแน่นอน
ถ้าเขางานเยอะอยู่แล้ว อย่าเพิ่งเพิ่มงานให้เขา
เช่นเดียวกันกับข้อที่แล้ว ถ้าเขาถูกรบกวนในเวลาที่เขารู้สึกว่างานท่วมหัวอยู่แล้ว เขาย่อมรู้สึกไม่โอเค ก่อนที่ไปรบกวนใคร อย่าลืมตรวจสอบก่อนว่าคนนั้นไม่ได้กำลังถูกกองงานถล่มอยู่ หากเขางานเยอะอยู่จริง คุณต้องไปรบกวนคนอื่นที่ว่างกว่าแทน (หากงานเร่งด่วน) หรือรอจนกว่างานเขาจะซากว่านี้ (หากงานนั้นรอได้)
รบกวนให้ถูกคน
ความรำคาญใจจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากคนนั้นรู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่จะต้องรับผิดชอบงานชิ้นนั้น ดังนั้นก่อนจะไปรบกวนใคร คุณจะต้องแน่ใจก่อนว่าใครเป็นคนที่เหมาะกับงานนั้นๆ หรือใครที่สามารถรับผิดชอบงานที่ใกล้เคียงกันได้ การไปรบกวนของคุณจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี หากคุณไปหาถูกคน
สังเกตคิวความยุ่งของเขาด้วย
จากการศึกษาพบว่า การโดนรบกวนจะเป็นไปทางที่ดีมากขึ้นหากคนที่โดนรบกวนรู้สึกว่า “มาได้ถูกจังหวะ” ลองเข้าหาเขาตอนที่คุณสังเกตเห็นว่าไม่ได้กำลังง่วนอยู่กับงานหลายอย่าง หรือเห็นว่าเขาน่าจะกำลังต้องการจะพักจากงานที่กำลังทำอยู่พอดี
แต่จะสังเกตอย่างไรดี ลองดูว่าถ้าเขาทำงานเป็นห้องแล้วไม่ได้ปิดประตูห้อง แสดงว่าเขาพร้อมที่จะโดนรบกวน หรือถ้าเป็นแบบออนไลน์ก็ลองดูว่าเขาตั้งสเตตัสเป็นยุ่งอยู่ หรือว่าออนไลน์ หรืออาจลองเช็กจากตารางงานของเขาดูว่า เขามีการล็อกเวลาไว้สำหรับอะไรหรือเปล่า จุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะคอยบอกได้ว่าเวลาไหน “เหมาะ” ที่จะเข้าไปรบกวน
ลดภาระเวลา
ยิ่งคนโดนรบกวนเวลา “นาน” เกินกว่าที่ควรจะเป็นมากเท่าไร เขาจะยิ่งรู้สึกแย่กับการโดนรบกวนมากเท่านั้น คุณอาจลองย่นเวลาให้เขาด้วยการทำสิ่งที่คุณทำได้ก่อน แล้วเหลือเฉพาะส่วนที่คุณทำไม่ได้และจำเป็นต้องเป็นเขาจริงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมเวลาขอความช่วยเหลือ
เตือนล่วงหน้า
ถึงแม้ว่าการรบกวนมักจะมาแบบไม่มีคำเตือน แต่งานบางประเภทอาจจะต้องเกริ่นบอกเขาแต่เนิ่นๆ ว่าต้องการความช่วยเหลือจากเขา เช่น คุณกำลังออกแบบเว็บไซต์ และต้องการความเห็นจากเพื่อนร่วมงาน คุณอาจบอกเขาตั้งแต่ตอนยังทำไม่เสร็จว่า คุณต้องการให้เขาช่วยดูและให้ความเห็นในสัปดาห์หน้า เป็นต้น การบอกล่วงหน้าจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานคุณเตรียมใจไว้นิดนึงว่าคุณจะต้องการเวลาจากเขาไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง
ยิ่งการทำงานในช่วงนี้เป็นแบบ Hybrid มากเท่าไหร่ เราต้องยิ่งใส่ใจกับการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานมากเท่านั้น การพรวดพราดเข้าไปรบกวนคนอื่นโดยไม่คิดถึงภาระงานของเขาเลย อาจดูแล้งน้ำใจ และสร้างความขุ่นเคืองในความสัมพันธ์ของการทำงานร่วมกันได้ และในทางกลับกันถ้าคุณเกรงใจอีกฝ่ายมาก เขาก็จะเกรงใจคุณมากเวลาเขาต้องรบกวนเวลาจากคุณเช่นกัน
ที่มาของข้อมูล – How to Interrupt Someone’s Workday — Without Annoying Them