‘สำเร็จน้อย’ ดีกว่า ‘ไม่สำเร็จเลย’

รวมเทคนิค ตั้งเป้าหมายต้นปีอย่างไรให้เวิร์ค จากรายการ The ORGANICE

Last updated on ธ.ค. 21, 2023

Posted on ธ.ค. 21, 2023

🎄 ทุกสิ้นปีเรามักจะทำ 2 เรื่องคือ “รีวิว และการตั้งเป้าหมายปีหน้า” แต่เราจะตั้งเป้าหมายต้นปีอย่างไรให้เวิร์ค

วันนี้เราได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญทั้ง 2 ท่าน คุณบี-อภิชาติ ขันธวิธิ CEO of QGEN Consultant และเจ้าของเพจ HR-The Next Gen และคุณเก่ง-สิทธิพงศ์ CEO จาก CREATIVE TALK

🎯 การตั้งเป้าหมายสำคัญอย่างไร

คุณเก่ง และคุณบี ได้ให้นิยามการตั้งเป้าหมายคล้าย ๆ กัน คือมันเหมือนการใช้ ‘Google Map’ ที่เราปักหมุดเป้าหมายว่าจะเดินทางไปไหน ถ้าเราออกจากบ้านโดยไม่รู้จุดมุ่งหมายเราก็จะงง ถ้าหมุดชัดมันจะทำให้เราเดินทางได้แม่นยำ และคมขึ้น และที่สำคัญเป้าหมายต้องเกิดจากการวางแผน ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเล็กมาก ๆ หรือใหญ่มาก ๆ ก็ตาม


🎯 เคยคิดถึงเรื่องนี้ไหมว่า ‘เรามีความสุข กับการตั้งเป้าตอนไหน’

คุณบีให้นิยามความสุขการตั้งเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 4 Stage

👉 Stage 1: การคิด ได้จินตนาการ
👉 Stage 2: การวางแผน
👉 Stage 3: อยู่ในระหว่างการทำเป้าหมาย
👉 Stage 4: วิ่งเข้าเส้นชัย

แต่จุดที่วิ่งเข้าเส้นกลับไม่มีความสุข แปลกไหม ? เพราะมันจบแล้ว และเราก็ต้องเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ทันที เพราะเมื่อไหร่ที่เราสำเร็จเรามีความสุขก็จริง แต่ความสุขมันจะผ่านไปเร็ว สิ่งสำคัญคืออย่าลืมความภูมิใจ, ประสบการณ์ที่ได้รับ อย่ามองข้ามสิ่งนี้ และทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นพลัง เป็นทักษะใหม่ในการขับเคลื่อนชีวิต


🎯 ใครที่ต้องตั้งเป้าหมายให้คนอื่นบ้าง! ยกมือขึ้น 😊 🤚

การตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง อาจจะดูง่ายไปเลย ถ้าต้องมานั่งตั้งเป้าหมายให้ส่วนร่วม แน่นอนว่าคนที่เป็นระดับหัวหน้า หรือคนที่ต้องวางแผนเพื่อองค์กร, เพื่อทีม มักจะ ‘ท้าทาย’ มากเป็นพิเศษ

คุณบีได้ให้คำแนะนำเรื่องนี้ว่า มันมีทั้งหมด 3 เรื่อง

👉 1. Alignment คือเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง ในฐานะผู้นำแน่นอนว่า ‘เป้าหมายองค์กรคืออันดับแรกอยู่แล้ว’ รองลงมาคือตัวเราในฐานะผู้นำ และสุดท้ายพนักงาน ดังนั้นคนที่อยู่ใน Organization ทุกคนต้องมองภาพเดียวกันให้ได้ว่า ‘เป้าหมายที่อยู่เหนือไปกว่าตัวเรา’ มันคืออะไร แล้วเราต้องทำอะไรให้สำเร็จ เพื่อที่จะทำให้ตัวที่อยู่ข้างบนสุดเติบโตไปข้างหน้าได้

เราต้องมองให้ออกว่า อะไรคือเป้าหมายองค์กร, อะไรคือเป้าหมายทีม, อะไรคือเป้าหมายของหน่วยงานเรา
แล้ววนกลับมาดูว่า สิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งของตัวงาน มันคืออะไร แล้วเราต้องจัดลำดับความสำคัญควบคู่กันว่า ‘Individual’ กับ ‘Corporate’ เราต้องใส่ใจอันไหนเป็นอันดับต้น - อันดับกลาง - อันดับล่าง และการมีเป้าหมายต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ที่เฉพาะเจาะจง

👉 2. Motivation จะเกิดขึ้นได้ต้องทำจากข้อ 1 ที่กล่าวมาซะก่อน แล้วค่อยหยิบไปคุยกับคนอื่น หรือทีมของตัวเองว่า ‘Individual’ ของเขาคืออะไร เพื่อที่จะหาก่อนว่าสิ่งที่เขาจะไป กับสิ่งที่องค์กรจะไป มันมีตรงไหนที่จะไปได้หรือเปล่า เพื่อเป็นการสร้าง Motivation ตัวเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาจะทำได้ทั้งประโยชน์ที่เจ้าขององค์กรด้วย และได้ประโยชน์กับพนักงานด้วยเช่นกัน อาจจะมีการปรับจูนอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะไปด้วยกันโดยไม่ต่อต้านซึ่งกันและกัน

👉 3. Skill อีกส่วนที่นอกเหนือจาก Motivation ในการทำให้งาน ๆ คนนึงของคนได้สำเร็จคือ ‘Skill’ เหตุผลที่เขาไม่ตั้งเป้าหมายเพราะเขาไม่ได้มีสกิล จนนำไปสู่การไม่มั่นในตัวเอง และไม่กล้าตั้งเป้าหมายเรื่องนั้น ดังนั้นการคุยว่าเขาขาดเรื่องอะไร เราจะสามารถไปเติมได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้สำคัญ

โดยสรุปจากมุมมองของคุณบี และคุณเก่ง คือ หากเราจะเดินเรือไปด้วยกัน เรือลำนี้ก็จะมีเป้าหมายร่วมกัน พนักงานเปรียบเสมือนฝีพาย บางคนเป็นพ่อครัว เป็นกัปตัน เขาก็จะรู้ว่า เขาจะต้องพายเหนื่อยขนาดไหน แล้วเขาจะมีความสามารถมากพอแค่ไหน

คำว่าองค์กร เราจะพูดถึงครอบครัวก็ได้ ถึงแม้ตอนนี้บางคนอาจจะแอนตี้กับคำนี้มาก ๆ ก็ตาม แต่วิธีการมองต่างหากที่สำคัญ คุณเก่งมองถึงมุมที่พนักงานทำกับเรามา 2-3 ปี เราจะคิดว่าเขาเป็นเครื่องจักรอย่างเดียว หรือเขาจะคิดว่าเจ้าของบริษัทเป็นแค่เครื่องปั๊มเงินเท่านั้น มันดูไม่ดีแน่ ๆ เพราะทุกคนมีจิตใจ มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเสมอ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายลักษณะนี้ เอาไปปรับใช้กับครอบครัวเราก็ได้เช่นกัน

หลายครอบครัวอาจจะคิดว่าปีหน้านี้ไปเที่ยวไหน เราจะมีกิจกรรมกันนะ หรือลูกคนนี้เข้าเรียนที่ไหน เราจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่เพื่อทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องพวกนี้มีเป้าหมายเสมอ แม้กระทั่งในครอบครัวเราก็ต้องตั้งเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือเราต้องเห็นภาพร่วมกัน ตั้งเป้าและต้องวางแผนให้เป็น


🎯 การตั้งเป้าหมายในระดับ Manager

คุณเก่ง คุณบี คุณโจ้ มองคล้าย ๆ ว่าสิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือการตั้งเป้าต้อง ‘มีการวัดผล’ เพราะสิ่งนี้มีคือหมุดหมายที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ถ้าอยู่ ๆ เมเนเจอร์เดินมาหาเราแล้วบอกว่าอยากให้เราดีขึ้น ดีขึ้นคืออะไร ? มันไม่เคลียร์ มันต้องดีแค่ไหนถึงจะเรียกว่าดีขึ้น ดังนั้นการเซ็ตเป้าหมายออกมาเป็นตัวเลข จะเวิร์กมาก ๆ

อีกส่วนที่คุณเก่งเสริมมีทั้งหมด 2 เรื่องคือ

👉 เป้าหมายที่ Challenge
คือการตั้งเป้าหมายที่เกินความสามารถของตัวเอง อาจจะเกินขึ้นมานิดเดียวก็ได้ เพราะเราต้องมีความเข้าใจในทีมงานของตัวเองด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น CTC ทุกปีต้องมี 1 อย่างที่เราไม่เคยทำ การตั้งโจทย์นี้สำคัญเพราะผู้นำต้องเชื่อก่อนว่าทีมมีศักยภาพแน่นอน เพื่อให้น้อง ๆ ในทีมท้าทายกับงานนั้น ๆ เพราะสิ่งที่เรียกว่า Challenge มันคือสิ่งที่ทำให้หัวใจเต้นเสมอ ซึ่งเราต้องบาลานซ์ให้ดีในฐานะผู้นำ และที่สำคัญเขาจะสนุก และเมื่อวันนั้นเขาถึงเป้าหมายนั้นได้ เขาจะรู้สึกภูมิใจมาก ๆ เขาเก่งขึ้น มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่ออยู่กับเรา

คุณบีได้เสริมเพิ่มเติมของ Challenge คือถ้าในกรณีที่เราไม่เคยประสบความสำเร็จเลย มันจะ Burnout ทันที เพราะรู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะไปถึง พอมันไปไม่ถึงก็จะกลายเป็นว่า ไม่ทำทันที เพราะรู้อยู่แล้วไม่ถึง เช่น ปีที่แล้วทำยอดขายได้ 100 ล้าน ปีนี้ขอ 10,000 ล้าน โดยที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีการซัพพอร์ต ไม่มีการขยายธุรกิจ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Behavior ของคนจะไม่ Active ทันที เพราะ Challenge นั้นดูเป็นไปไม่ได้เลยสักนิด

คุณบีให้เทคนิคของการตั้งเป้า Challenge ง่าย ๆ ว่า ถ้าเราเอื้อมมือไปหยิบสิ่งที่อยากไปได้ ‘ยังไม่เรียก Challenge นะ’ เพราะเราใช้ความรู้เท่าเดิมอยู่ เพราะก็แค่ยืดแขนไปจับเฉย ๆ

แต่คำว่า Challenge จริง ๆ คือการ “กระโดด + ยืดแขน” แล้วหยิบถึง
เดิมเรายืนเฉย ๆ มันง่าย แต่จังหวะกระโดดคือการที่เราไปหาสกิลใหม่ ๆ หาความท้าทายใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถเดิม มันจะไปซัพพอร์ต Challenge ของเรา

👉 อย่า ‘ตั้งเป้าหมาย’ มากเกินไป
การตั้งเป้าหมายต้องชัดเจนเป๊ะ ๆ แม่น ๆ มีจำนวน 1-3 อย่างก็เพียงพอซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายใหญ่ และดูโดดเด่นออกมา ส่วนเป้าหมายรองมีเยอะได้ แต่ต้องพอดีตามศักยภาพของทีมงาน เป็นหน้าที่ของเมเนเจอร์ที่ต้องประเมินให้ได้ และทำให้ทีมพุ่งเป้าไปสู่จุดหมาย


🎯 เคล็ดไม่ลับของทั้ง 3 ท่านที่น่าสนใจคือ

👉 คุณโจ้ได้แชร์เทคนิคที่ทำเป็นประจำไว้ว่า “ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นเป้าหมายย่อย ในเป้าหมายใหญ่” หมายถึงดึงเป้าหมายตัวเองจากที่มันใหญ่ ๆ ออกมาเป็นย่อย ๆ ให้สำเร็จทีละเรื่อง เป็นการมองเกมเล็กไปเรื่อย ๆ และผลสุดท้ายกลายเป็นองค์ประกอบของจิ๊กซอว์ใหญ่ และมีความสุขกับทุกโมเมนต์ของการตั้งเป้าหมายเล็กเรื่อย ๆ

👉 คุณเก่งมองว่าการตั้งเป้าหมายต้องสนุก! เพราะเมื่อสนุกเราจะอยากทำ บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่อยากทำ ก็อาจจะคิดถึงผลลัพธ์ได้ ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันคุ้มค่ามากนะ สิ่งนี้จะสร้าง Motivation และดันตัวเราทำให้รู้สึกว่า ‘เราอยากทำ’ เมื่อเราชอบทำอะไรสิ่งที่จะตามมาคือ เราจะคิดถึงมันตลอดเวลา เช่น ถ้าตั้งเป้าหมายว่าลดน้ำหนัก คนที่คิดถึงเรื่องนี้มาก ๆ จะมองหาแล้วว่า ลดอย่างไรดีนะ ถ้าเกิดฉันผอมฉันจะสวยขนาดไหน จะสนุกกับมันและลดได้สม่ำเสมอ เป็นต้น และท้ายที่สุดคือการทำเป้าหมายให้น้อยชิ้น และทำให้น้อยชิ้นนั้นสำเร็จ! เพราะสำเร็จน้อยดีกว่าไม่สำเร็จเลย

👉 ปิดท้ายที่คุณบี คือการเริ่มจากมี Self-awareness ก่อนทำให้เรารู้ว่า Passion + Purpose ในแต่ละช่วงชีวิตเป็นอย่างไร มันคืออะไรกันแน่ บางช่วงเป้าหมายอาจจะเป็นความจำเป็นต้องทำ แล้วเราหลีกเลี่ยงเรื่องนั้นไม่ได้ ดังนั้นมันจึงต้องเป็นส่วนผสมของสองอย่างนี้ พอมันเข้าใจ เราจะรู้ว่า ทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ และอีกเรื่องคือการทำให้ครบลูปตาม 4 Stage ที่บีกล่าวไว้ด้านบน และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้เราประสบความล้มเหลวเยอะสุด คือ ’คิดแต่ไม่ลงมือทำ’ ดังนั้นจะไม่มีทางประสบความสำเร็จแน่นอน


ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราจะต้องกลับมาโฟกัสเป้าหมาย คิดแต่ไม่ลงมือทำ ไม่มีวันสำเร็จ แต่คิดให้น้อย แล้วลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ระหว่างทาง สำคัญที่สุด 🥰 👍


เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ดูอีพีนี้เต็มรูปแบบได้ที่

ตั้งเป้าหมายต้นปีอย่างไรให้เวิร์ค - The ORGANICE 319
อีพีสุดท้ายส่งท้ายปี 2023 ของรายการ THE ORGANICE ในปีนี้ ชวนทุกคนมารีวิวท้ายปี พร้อมเทคนิคตั้งเป้าหมายทั้งกับตัวเอง และตั้งให้คนอื่นกับคุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเก…
trending trending sports recipe

Share on

Tags