การอ่านเป็นกระดุมเม็ดแรกในการปรับเปลี่ยนความคิดคน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในทุกสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทย หนังสือจึงเป็น Soft Power อย่างหนึ่ง เพราะมันสามารถทำให้คนสบายใจ รวมถึงสร้างแรงผลักดันให้คนมากมาย นั่นทำให้การอ่านเป็นเหมือนเชื้อไฟให้กับมนุษย์
ที่งานนายอินทร์สนามอ่านเล่น ตอน ‘Cheer Reader’ นั้นคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้มาร่วมพูดคุยเรื่องการอ่านสร้างแรงบันดาลใจ ในหัวข้อ “The more you read The more you inspire ยิ่งอ่านยิ่งสร้าง แรงบันดาลใจ” ซึ่งเขาก็ได้พูดถึงประเด็นการสนับสนุนนักเขียน เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เรามักจะรู้กันว่าคุณทิมเป็นคนที่มีหนังสือใกล้ตัวอยู่ตลอด จนทำให้เขากลายเป็น ‘นักอ่านตัวยง’
สิ่งที่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของคุณทิมขึ้นมาก็คือหนังสือ National Geographic ซึ่งเป็นหนังสือประเภทสารคดีที่ทำให้เขาเห็นโลกกว้างมากขึ้น หลังจากนั้นเขาจึงได้มีโอกาสลองอ่านหนังสือการ์ตูน และเริ่มอ่านหนังสือประเภทอื่น ๆ เนื่องจากคุณพ่ออ่าน รวมถึงโรงเรียนบังคับให้อ่าน ฉะนั้นแล้วการได้อ่านทุกวันจึงทำให้คุณทิมเห็นว่าหนังสือคือเซฟโซนของเขา
“การอ่านหนังสือคือการได้พักใจ และเป็นจุดผลักใจไปพร้อมกัน”
วิธีใช้หนังสือมาเติมพลัง
เราจะเห็นได้ว่าคุณทิมเป็นคนที่ทำงานเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มาเป็นนักการเมือง ทว่าในหนึ่งเดือนนั้นคุณทิมกลับหาเวลามาอ่านหนังสือได้ถึง 7-8 เล่มต่อเดือน เขาบอกว่ายิ่งทำงานเหนื่อย ก็ยิ่งต่องเอาเวลามาอ่านหนังสือ เพราะวันไหนที่เราเครียดมาก ๆ การอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 15 นาทีก่อนนอน จะช่วยให้เรา Disconnect จากปัญหาที่เจอมาทั้งวัน และยังทำให้เราหลับได้ด้วย
“ผมมักจะอ่านเรื่องสั้น เพราะมันทำให้เราได้อ่านอะไรใหม่ ๆ มากกว่า”
คุณทิมแนะนำว่า เขามักจะชอบอ่านหนังสือของ ‘ตินกานต์’ และ ‘ฮารูกิ มูรากามิ’ โดยใครที่มีลูก ๆ นั้นเขาแนะนำให้อ่าน ‘ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ’ กับ ‘แม่มดน้อย กิกิ’ ไปพร้อมลูก ๆ ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์กับครอบครัวได้ดีขึ้น รวมถึงสอนเด็ก ๆ เรื่องชีวิตด้วย
นอกจากการอ่านหนังสือจริงแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่กระตุ้นนักอ่านได้คือ e-Book หรือคลิปสรุปแนวพอดแคสต์ เพราะสื่อประเภทช่วยให้เราได้ทดลองดูเนื้อหาว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับเราไหม และถ้าฟังแล้วน่าสนใจก็ค่อยกลับไปอ่านตัวเต็ม
รัฐบาลจะส่งเสริมเด็กไทยให้อ่านมากขึ้นได้ยังไง
หนังสือคือ Soft Power อย่างหนึ่ง เพราะแนวคิดของสังคม มันสามารถดึงคนต่างประเทศให้มาสนใจวัฒนธรรมที่ไม่เคยพบได้ เราเห็นฮุกกะจากเดนมาร์ก เรารู้จักวิธีนิกเซน (Niksen) ของเนเธอร์แลนด์ เราได้ยินพลังแห่งซิสุของฟินแลนด์ รวมถึงได้สัมผัสอิคิไก และวาบิซาบิจากญี่ปุ่น ซึ่งเหล่านี้แหละคือ Soft Power ของหนังสือ แต่จะทำได้นั้น
“รัฐบาลต้องเอาคำว่านักเขียนไส้แห้งออกไปจากสังคมก่อน”
คนไทยมีต้นทุนชีวิตเยอะมาก คนที่อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นอาร์ตติส หรืออยากเป็นนักกีฬานั้น เขาไม่สามารถจะทำในสิ่งที่รักได้ เพราะเราไม่มีตาข่ายในชีวิต แค่หาเงินมาจ่ายค่าห้องในแต่ละเดือนก็เต็มกลืนแล้ว
ทว่าอาร์ตติสในต่างประเทศนั้น ถ้าเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีพอ เขาจะได้รับการดูแลจากรัฐ มีบ้านพักมาให้ ซึ่งทำให้นักเขียนเหล่านี้ สามารถสู้เต็มที่เพื่อสิ่งที่เขารักได้ พร้อมกันนั้นเขายังสามารถดูแลลูกหลาน ดูแลคนที่รักได้ ถ้ารัฐสามารถซัปพอร์ตในส่วนนี้ จะทำให้อุตสาหกรรมนักเขียนเติบโตขึ้น เพราะคนไทยเป็นนักเล่าเรื่อง เราเป็นหนึ่งในประเทศที่เก่งด้าน Story Telling มาก
“อย่างตอนนี้ผมชอบตินกานต์มากกว่ามุราคามิแล้ว”
อุตสาหกรรมหนังสือตอนนี้ยอดตกยิ่งกว่าหลังโควิด ซึ่งห้องสมุดของไทยก็น้อยลงมาก ๆ มันเป็นเรื่องที่น่าใจหายพอสมควร เพราะถ้าเราไม่สามารถผลักดันอุตสาหกรรมให้มีนักเขียนเกิดขึ้นใหม่ได้ มันก็ทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้ยากขึ้น
ในทุกสังคมต้องอนุญาตให้มีการลองผิดลองถูก ถ้าไม่ลองทำ ความคิดสร้างสรรค์จะไม่เกิด ถ้าเราเขียนในสิ่งที่สังคมให้เขียนมันจะไม่มีใหม่ ๆ เลย คุณครูไม่จำเป็นต้องมาบังคับนักเรียนให้อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แต่นักเรียนสามารถเลือกหนังสือนอกเวลาของตัวเองให้มีความยืดหยุ่น มีความหลากหลายได้
“ผมจำได้ว่าการที่ผมลองผิดลองถูกภาษาอังกฤษ มันทำให้ผมได้ลองอ่านจนใช้มันได้ ซึ่งภาษามีความสัมพันธ์กับเด็กไทยมาก เพราะตอนนี้เด็กไทยอ่อนอังกฤษที่สุดในอาเซียนแล้ว ถ้าได้อ่านหนังสือนอกเวลาเอง มันอาจจะช่วยเสริมสร้างทักษะในด้านภาษาของพวกเขา”
อยากเติมแรงบันดาลใจต้องอ่านอะไร
เราไม่จำเป็นต้องไปอ่านหนังสือจิตวิทยาก็ได้ เพราะหนังสือธรรมดา หนังสือชีวประวัติ หรือกระทั่งนวนิยาย มันสามารถส่งแรงบันดาลใจได้เช่นกัน โดยหนังสือเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นว่ากว่าพวกเขาจะฝ่าฟันปัญหามาได้ ต้องเจอกับอะไร ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราเอาแรงบันดาลใจมาจากผู้คนรอบข้าง เพราะการเรียนรู้จากคนอื่นจะทำให้เราได้จุดพักใจ และจุดผลักใจชั้นดี
“การลงทุนในมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นการอ่าน การเขียน และการฟังจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมานาน เมื่อเราทำเรื่องพวกนี้ให้ดีขึ้นได้ เราก็จะสามารถพัฒนาสังคมขึ้นมาได้”
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์