Gallup รายงานถึงสถิติความเชื่อใจต่อผู้นำของพนักงานลดลง!
หนึ่งในเรื่องที่ผู้นำมักต้องเผชิญในเรื่องคนอยู่เสมอ คือการสร้างความเชื่อใจ (Trust) กับทีมงาน ซึ่งการสร้างความเชื่อใจไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว แต่ต้องใช้เวลา ความตั้งใจ และความสม่ำเสมออย่างมาก
มีการศึกษาของ Gallup ในปี 2023 พบว่ามีเพียง 21% ของพนักงานในสหรัฐฯ ที่มีความเชื่อใจอย่างเต็มที่ในผู้นำขององค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงปัญหาของคนอเมริกันอย่างชัดเจน นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัญหาของการขาดความเชื่อใจเริ่มก่อตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปถึง ความมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) ในที่สุด
ความเชื่อใจเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และที่ท้าทายยิ่งกว่าคือการฟื้นฟูความเชื่อใจกลับมาในวันที่มันถูกทำลายไปแล้ว หนึ่งในคำว่าจากคุณ Ludmila Praslova นักเขียนจาก Fast Company ได้พูดไว้ว่า การสร้างความเชื่อใจ เสมือนการสร้างโปรดักต์ใหม่ สิ่งสำคัญคือการโฟกัสที่ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ลองนึกถึงเวลาเรามีเพื่อนสนิท การจะสร้างมิตรภาพที่แท้จริงและยาวนาน มันไม่ได้เกิดจากการบอกใครสักคนว่า ‘เธอต้องชอบฉันนะ เธอต้องเป็นเพื่อนฉันนะ’ แต่มันเกิดจากการที่เรามีความจริงใจต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งความเชื่อใจที่แท้จริงจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ, ความภักดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้นำไม่เริ่มต้นแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ และจริงใจต่อกัน
รวม 3 เทคนิคเป็นผู้นำที่ทีมไว้ใจ เชื่อใจ แต่ไม่ได้ถึงขั้นตามใจ
เพราะความเชื่อใจก็เหมือนกรุงโรม มันไม่ได้มีทางสร้างได้ภายในวันเดียว
1. ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองและเปิดรับ Feedback
อยากให้ผู้นำและหัวหน้าทุกคน ลองย้อนกลับไปทบทวนดูว่า “เราเคยได้รับ Feedback จากลูกน้องเกี่ยวกับปัญหาในการทำงานหรือไม่ ?” ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ! เพราะการที่ลูกน้องเงียบไม่กล้าพูด อาจนำมาสู่ปัญหาที่สายจะเกินแก้ได้ การที่ผู้นำกล้าเปิดรับ Feedback และแสดงให้เห็นว่าคุณจะปรับปรุงอย่างไร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น จะสื่อสารให้โปร่งใสมากขึ้น? เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้พนักงาน? หรือเพิ่มทีมงานในวันที่ทีมงานล้นมือ? เป็นต้น
คุณ Sara Sabin ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร กล่าวว่า ความเชื่อใจนั้นขึ้นอยู่กับ 4 องค์ประกอบ คือ ความสามารถ, ความน่าเชื่อถือ, ความจริงใจ และการเอาใจใส่ เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว ลองกลับมาทบทวนว่าเราขาดอะไร แล้วค่อย ๆ เริ่มแก้ไขจากจุดนั้น
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังมาก ๆ คือ “อย่าสัญญาเกินกว่าที่ทำได้” หากเรากล้าที่จะขอความคิดเห็นจากพนักงาน เราก็ควรนำไปปรับปรุงจริง ไม่ใช่แค่ทำเพื่อ “ให้ดูเหมือนสนใจ” เมื่อพนักงานเห็นว่าผู้นำมีความจริงใจ ความเชื่อใจก็จะเกิดขึ้นเอง แต่หากไม่มีการตอบสนองที่ชัดเจน ความเชื่อใจก็อาจหายไปทันทีเช่นกัน
2. ลด Micro Management แล้วมอบหมายงานสำคัญให้มากขึ้น
คำว่ามอบหมายงานให้มากขึ้น ไม่ได้หมายถึงโยนงานให้ลูกน้องทำ แต่มันหมายถึงการมอบหมายงานที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ลูกน้อง หรือทีมงานของคุณ เห็น Value ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะความเชื่อใจต้องเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย แต่ผู้นำหลายคนมักไม่มั่นใจว่าทีมจะทำงานได้ตามเป้าหมาย ทำให้พวกเขาลงไปจัดการรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เอง หรือที่เราเรียกกันว่า Micro Management ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางทั้งการเติบโตของทีม และความก้าวหน้าของงาน
คุณ Chris Lipp ศาสตราจารย์ด้านการบริหารที่ Tulane University กล่าวว่า ผู้นำที่ไม่กล้ามอบหมายงานมักมาจาก ‘ความกลัว’ เช่น กลัวว่างานจะไม่สำเร็จหรือไม่สมบูรณ์ ความกลัวนี้ไม่เพียงลดพลังของตัวผู้นำเอง แต่ยังปิดกั้นทีมงานจากการแสดงความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพ
ดังนั้นการมอบหมายงานจึงสำคัญ เพราะนอกจากช่วยลดภาระของผู้นำแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นในทีม และเปิดโอกาสให้ทีมเติบโตได้เต็มที่! และเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้ดีกว่า
3. เพราะผู้นำมักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต การเตรียมพร้อมก่อนเกิดวิกฤตสำคัญมาก!
ในวิกฤตย่อมต้องมีโอกาสอยู่เสมอ แต่โอกาสนั้นจะเกิดขึ้นได้ คุณต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ในหลาย ๆ เหตุการณ์ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการที่ผู้ตาม หรือทีมงานของเราเชื่อใจ ไว้ใจ ลุยไปด้วยกัน มักเกิดจากผู้นำที่สามารถรับมือกับวิกฤต และสามารถพาทีม ร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน
วิกฤตในที่ทำงานอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เป็นสิ่งที่เรามักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยลดผลกระทบและจัดการได้ดีขึ้น Art Markman นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรม แนะนำให้เตรียมแผนการสื่อสาร สำหรับทั้งลูกค้า พนักงาน ให้ดี ตัวอย่างเช่น
สำหรับพนักงาน
แจ้งให้ทุกคนทราบว่าองค์กรกำลังแก้ปัญหาอย่างไร เพราะการรู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร จะทำให้คนในองค์กรเกิดความเชื่อมั่น และไว้ใจได้ว่า ผู้นำคนนี้จะช่วยพวกเราฝ่าฟันไปได้จริง ซึ่งดีกว่าการแจ้งแต่ปัญหา แต่กลับไม่มี Solution รวมไปถึงต้องแจ้งด้วยว่า วิกฤตนี้จะกระทบกับงานหรือความมั่นคงของพนักงาน หรือคนทำงานอย่างไร
สำหรับลูกค้า
สิ่งสำคัญคือการแจ้งข้อมูลที่สำคัญ ๆ เช่น บริการที่ลูกค้าใช้กับเราอาจได้รับผลกระทบ หรือผมกระทบเหล่านี้มีสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์การใช้งานอย่างไร ไม่ใช่แค่แจ้งว่าติดปัญหา แต่ยังคิดครบลูป ช่วยลูกค้าคิด ช่วยกันแก้ไขเพื่อมอบ Solution ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้านั่นเอง
นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญมาก ๆ คือการเตรียมทีมที่เหมาะสมในการรับมือวิกฤต การเตรียมความพร้อมอย่างการจำลองสถานการณ์สมมติล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ตอบสนองได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง และยังช่วยสร้างความมั่นใจในทีมได้อีกด้วย!
หวังว่าคำแนะนำทั้งหมด จะเป็นประโยชน์กับผู้นำทุกคนในปี 2025 นี้
ถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มกลับมาทบทวน เพราะการสร้างความเชื่อใจ ทำให้ทีมไว้ใจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา เริ่มเร็วเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเริ่มอย่างเข้าใจเป็นส่งที่ดียิ่งกว่า!
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- 3 things leaders should do to increase trust
- Why Trust in Leaders Is Faltering and How to Gain It Back
- A management professor explains why you should stop explaining everything