เชื่อเลยว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงเคยดู ‘สัปเหร่อ’ ภาพยนตร์คอเมดี้จากจักรวาลไทบ้านที่กอบกู้อุตสาหกรรมหนังไทย โดยทำรายได้พุ่งทะยานไปถึง 700 ล้านบาท จนกลายเป็นอีกหนึ่งคลื่นลูกใหม่ของวงการครีเอทีฟที่น่าจับตามอง
วันนี้ที่งาน Adman Awards & Symposium ในเซสชัน ‘ครีเอทีฟไทบ้าน Local Impact’ นั้น ต้องเต-ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ก็ได้ออกมาพูดถึงเทคนิค และวิธีการคิดของเขา ในการปั้นหนังยังไงให้คนรัก จนกลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของบันเทิงไทย ซึ่งความเซอร์ไพรส์คือต้องเตนั้นบอกว่า เวทีเป็นเวทีแรกที่เขาจะมาพูดเรื่องครีเอทีฟจริง ๆ หลังจากเวทีอื่นเขาจะพูดเรื่องฮา ๆ ซะส่วนใหญ่
ต้องเตเล่าว่าเคยไปสมัครแคสต์หนังเรื่องไทบ้านเดอะซีรีส์ภาคแรก ทว่านักแสดงดันครบซะก่อน นั่นจึงทำให้เขาได้เป็นเพียงตัวประกอบในหนังดังกล่าว ซึ่งออกมาเพียง 2 วินาที แต่เรื่องนั้นก็เป็นประตูบานที่ทำให้ต้องเตได้รู้จักกับทีมงานของไทบ้าน จนได้เข้ามาเป็นทีมงานเบื้องหลังของภาพยนตร์ ทว่าด้วยงบกับแรงงานทำให้หนึ่งปีสามารถทำหนังได้ไม่เกิน 2 เรื่อง ต้องเตจึงหันมาทำอย่างอื่นที่ต่อยอดในสายงานครีเอทีฟได้
เริ่มแรกเขาเข้ามาจับงานโฆษณา และใช้นักแสดงในจักรวาลไทบ้านมาแสดง ทว่าปัญหาคือแม้จะมีคนดูก็จริง แต่ก็เป็นคนอีสานเท่านั้น ถ้าอยากไปทำโฆษณาในจอทีวีต้องทำโฆษณาที่โดนคนทุกกลุ่ม
ต่อมาต้องเตจึงขยับมาจับงาน Music Video ซึ่งงบประมาณการทำ MV ของต่างจังหวัดกับใน กทม. นั้นต่างกันมาก เพราะของกทม. จะประมาณหลักแสนขึ้นไป แต่ถ้าทำ MV อยู่ที่อีสานจะมีงบอยู่แค่หลักพันถึงหลักหมื่น
💠 จากบทโรเบิร์ตคนบ้า สู่ผู้ระเบิดจักรวาลให้กว้างไกล 💠
หนังเรื่องสัปเหร่อ คือหมุดหมายสำคัญของจักรวาลไทบ้าน เพราะหนังเรื่องนี้คือการแหกขนบทุกอย่างของไทบ้านเดอะซีรีส์ ตั้งแต่การตั้งชื่อ (ที่ไม่มีคำว่าไทบ้านอยู่ในชื่อเรื่อง) ไปจนถึงการเขียนบท
วิธีทำให้หนังสัปเหร่อรีเลทกับทุกคน คือการตั้งเป้าใหญ่ว่า หนังเรื่องนี้จะกอบกู้ให้คนกลับมาดูหนัง นั่นทำให้ความกดดันทั้งหมด จึงมาลงที่ต้องเตทันที
“ถ้าจบเรื่องนี้ แล้วหนังเจ๊งก็ไม่น่าเห็นผมในวงการ เพราะความคาดหวังทุกอย่างมาลงที่ผมทั้งหมด” ต้องเตกล่าวอย่างติดตลก
💠 ใช้ความคาดหวังมาทำงานยังไง 💠
เริ่มแรกเลยคือทิ้งโครงสร้างแบบเดิม เพราะไทบ้านเดอะซีรีส์จะมีการเขียนบทด้วยการวาง 9 องค์ (ในขณะที่หนังปกติมักมีเพียง 3 องค์) จากนั้นต้องเตจะไปเปิดอ่านคอมเมนต์ของคนดู ว่าอยากดูอะไร ซึ่งหลังจากประกาศโปรเจกต์สัปเหร่อไป (ยังไม่ได้ถ่ายทำ) ความคาดหวังส่วนใหญ่ของคนดู คืออยากให้หนังเป็นแบบหนังพี่มาก..พระโขนง ผสมความน่ากลัวแบบหนังแม่นากพระโขนง (เวอร์ชันที่แสดงโดยทราย เจริญปุระ)
หากจะทำตามความคาดหวังของคนดูทั้งหมด หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังสัปเหร่อ นั่นทำให้ต้องเต ลบความคาดหวังของคนดูไปก่อน แล้วทำในสิ่งที่มันเป็นสัปเหร่อจริง ๆ นั่นคือครีเอทีฟในสิ่งที่ตนเองต้องการ แล้วจากนั้นค่อยนำความคาดหวังของคนดูมาใส่
“เรื่องนี้เขียนบทเดือนนึง แต่รีเสิร์ชเป็นปี ผมสัมภาษณ์สัปเหร่อ 2 คนที่คาแรกเตอร์แตกต่างกัน จากนั้นก็อ่านประวัติของสัปเหร่อประมาณ 20 คน”
💠 ความไม่รู้ทำให้กล้าฉีกกฏของการสร้าง 💠
การที่ไม่ได้เรียนจบในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นั่นทำให้ต้องเตไม่รู้ว่า ระบบของโปรดักชันเขาวางไทม์ไลน์กันยังไง มีการเขียนบทแบบไหน เขาจึงปล่อยทุกอย่างให้ไหลไปตามฟีลลิ่ง กล่าวคือเขาแทบจะไม่ซักซ้อมบท เขาให้นักแสดงไปอ่านบทหน้ากองเพื่ออิมโพรไวส์เอาเอง งานที่ออกมาจึงมีความเป็นธรรมชาติสูง
ทว่านี่ก็เป็นข้อเสียเช่นกัน เพราะการทำแบบนี้ทำให้นักแสดงไทบ้าน เล่นกับหนังของค่ายอื่นไม่ค่อยได้ นั่นจึงทำให้ช่วงหลังนักแสดงไทบ้านเองก็ต้องมีการปรับตัวเรื่องบทเช่นกัน
สำหรับการทำสัปเหร่อ ต้องเตวางไว้ว่า เขาจะทำให้หนังอีสานเป็นหนังที่คนทั่วโลกเข้าใจได้ นั่นจึงทำให้ต้องเตไปศึกษาเทคนิคของ ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ที่ใช้งานภาพมาเป็นสื่อกลาง แต่คนทั่วโลกก็เข้าใจ แถมเขายังเลือกที่จะเล่าเรื่องแบบ MV ซึ่งจะเห็นเลยว่าหนังสัปเหร่อจะมีการวางเฟรมภาพที่สวยกว่าหนังไทบ้านเรื่องอื่น เพราะเขาเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นส่วนใหญ่ โดยจะให้นักแสดงด้นสดหน้างานแทน
💠 ใช้จุดร่วมเพื่อดึงดูดคนดู 💠
แม้ว่าต้องเตมักจะเล่าอย่างติดตลกในหลายรายการว่า เขากู้เงินจากนายทุนเป็นจำนวน 10 ล้านบาทเพื่อมาสร้างหนัง แต่ก็ใช่ว่าเขาจะผูกทุกอย่างไว้กับความเสี่ยง เพราะต้องเตมีการคำนวณไว้แล้วว่าหนังจะได้กำไรจริง ๆ กล่าวคือภาพยนตร์เรื่องไทบ้านทำรายได้ไต่ไปเกือบร้อยล้านบาทอยู่แล้ว นอกจากนั้นภาพยนตร์เรื่อง ‘เซียนหรั่ง เดอะมูฟวี่’ ที่เป็นหนังนอกจักรวาลไทบ้าน ยังทำรายได้ถึง 65 ล้านบาท นั่นทำให้ต้องเตมั่นใจว่า ขนาดหนังเซียนหรั่งที่เป็นหนังนอกจักรวาลยังทำกำไรขนาดนี้ (โดยเป็นแรงดึงดูดจากแฟนไทบ้านที่ตามมาดู) สัปเหร่อที่เป็นหนังในจักรวาลไทบ้าน จะต้องได้กำไรขั้นต่ำ 80 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งด้วยแรงส่งจากภาพยนตร์ไทบ้านภาคก่อน ๆ ทำให้นายทุนกล้าอนุมัติเงินในส่วนนี้ให้
“มันเป็นกระแสปากต่อปากจริง ๆ ครับ” ต้องเตกล่าว
จักรวาลไทบ้านคือซีรีส์ที่แปลกประหลาด กล่าวคือในภาคก่อน ๆ แม้หน้าหนังจะดูเหมือนไม่ได้กำไรในช่วงแรก ทว่าเมื่อฉายไปเรื่อย ๆ หนังทุกภาคกลับมีกระแสปากต่อปาก ดึงให้คนมาดูหนัง สร้างกำไรที่เป็นแรงสะสมให้หนังได้ไปต่อ ซึ่งต้องเตก็กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะบอกว่าหนังมันดียังไง แต่คือปรากฏการณ์ที่คนชวนกันไปดูเพราะบอกว่า “เออ หนังมันดี ไปดูเถอะ”
ความสูญเสีย คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของหนังสัปเหร่อ เพราะคนเรารีเลทกับการสูญเสียไม่เหมือนกัน นั่นทำให้หนังเรื่องนี้ พูดถึงความสูญเสียซึ่งเข้าไปอยู่ในจุด Touch Point ของคนทุกคน โดยต้องเตเล่าว่า เขาชอบดูหนังเกาหลีกับญี่ปุ่น ที่ใช้ความ Slow Burn มาเป็นแรงขับเคลื่อนของเนื้อเรื่อง เพราะเขาเองก็ใช้สิ่งนั้นมาเติมเต็มสัปเหร่อเช่นกัน
💠 หนังดีจำเป็นต้องมี Symbolic ไหม 💠
สำหรับคนทำหนัง แน่นอนว่าการใส่สัญญะ หรือ Symbolic คือสิ่งที่ผู้กำกับทุกคนใส่มาในหนังของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางภาพ สิ่งของประกอบในหนัง หรือกระทั่งคำพูดของตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คอหนังมักมานั่งวิเคราะห์คำใบ้ที่ผู้กำกับใส่มา
ทว่าการใส่สัญญะคือการเล่นท่ายาก นั่นทำให้ Symbolic เหมาะกับงานประเภท MV มากกว่า รวมถึงการใส่สัญญะเข้ามาก็ทำให้คนดูไม่เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อ
“คนอีสานไม่ค่อยชอบดูอะไรที่เข้าใจยาก” ต้องเตกล่าวถึงกลุ่มแฟนหนังของตน
กลุ่มคนดูของหนังไทบ้าน เขาชอบอะไรที่มีความเร็ว ความไว นั่นทำให้ต้องเตจึงใช้วิธี ‘เขย่า’ เพื่อดึงทุกคนให้อยู่ร่วมกัน วิธีเขย่าคือเทคนิคของละครเวที ที่สามารถผสมความเศร้า ความตลก และความระทึกไว้พร้อมกัน พอนำความเขย่ามาอยู่ในหนัง จึงทำให้เขาสามารถนำเสนออรรถรสที่ต้องการจะสื่อเพื่อคนได้ทุกกลุ่ม
ไม่เพียงเท่านั้นต้องเตยังวางแผนการ PR ไว้ล่วงหน้า นั่นคือการใช้ฉากที่ตัดออก มาตัดลงยูทูบเพื่อเป็นการโปรโมทให้คนไปดู รวมถึงการใช้ฉาก Symbolic มาโปรโมตให้คนตามอ่านทีหลัง
“เชื่อผมเถอะ ทำ Symbolic ยังไง คนดูก็ตีความไม่ได้หรอก” ต้องเตกล่าวอย่างติดตลก
เขากล่าวว่า ผู้กำกับทุกคนมักชอบเวลาคนดูมาตีความ Symbolic ของตน ทว่าก็ไม่มีใครที่จะเข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับจะสื่อได้อย่างถ่องแท้ซักคน นั่นทำให้ต้องเตเลือกวางแผนโปรโมตด้วยการพูดถึงฉาก Symbolic เองซะเลย ไม่ต้องไปตีความเดี๋ยวเขาเล่าให้ฟัง สิ่งนี้ก็เพื่อให้คอหนังกับคนทั่วไปได้มานั่งถกกัน เรียกได้ว่าเป็นผู้กำกับที่อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ผ่านการคิดมาดีจริง ๆ
💠 ต้องเตเรียนรู้อะไรจากความดื้อรั้น 💠
ความดีคือสิ่งที่เขาเชื่อมั่น ในเซสชันที่เราฟังมานี้ เรียกได้ว่าเขาเป็นคนที่ทำมากกว่าพูด เขาเรียนรู้ทุกอย่างจากทุกงานที่ทำ
“เวลาทำ MV ทีไร ผมเข้าเนื้อตลอด”
การเข้าเนื้อ หรือการทำงานแล้วเราต้องออกเงินเอง จยทำให้ได้กำไรน้อยลง แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีกับคนทำงานในอุตสาหกรรมครีเอทีฟ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงปรัชญาความดีในการทำงาน เขายอมเข้าเนื้อเพื่อให้งานมันออกมาดี เขาเชื่อมั่นว่าถ้างานไม่ดี ให้ผู้ว่าจ้างมาขอคืนเงินกับเขาได้ เขาเชื่อมั่นว่างานไม่ได้กำไร เดี๋ยวเขาจะหามาคืน ต้องเตไม่ตัดสินอะไรเลย เพราะศิลปะไม่มีผิดหรือถูก มีแต่สิ่งที่ชอบไม่ชอบก็เท่านั้น
ต้องเตเชื่อว่าการทำสิ่งที่จริงใจ จะทำให้คนรู้สึกถึงมันได้ นั่นจึงทำให้เขาเล่าเรื่องสัปเหร่อในฉากเริ่มเรื่อง ที่ถ่ายทอดภาพการจบชีวิตในแบบที่ ‘หนังเรื่องอื่นไม่ทำ’ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าเราไม่โกหกคนดูตั้งแต่ฉากแรก คนดูก็จะรู้ว่าหนังเรื่องนี้จริงใจ
หากเรารู้จักเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ รู้จักทาร์เก็ตของคนดู และเชื่อในความดีของตัวเอง สิ่งนี้จะเป็นประตูบานใหม่ให้งานของเราสามารถเดินหน้าต่อได้
ท้ายที่สุดต้องเตก็ได้ฝากไว้ว่า สิ่งที่เขาพูดในเซสชันนี้คือผลลัพธ์จากความสำเร็จ เพราะถ้าหนังเจ๊งพูดไปก็ไม่มีคนเชื่อ แต่ถ้าเขารอวันที่มันสำเร็จ เขาก็สามารถออกมาพูดได้ ฉะนั้นจนกว่าผลลัพธ์ของเราจะทำงาน จงอย่าไปบอก Secret Sauce ให้ใคร
เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์