ในยุคที่เราต้องทำงานกันแบบออนไลน์ เราไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน ส่งผลให้ความผูกพันระหว่างทีมงานน้อยลงเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในองค์กร หัวหน้าอย่างผู้จัดการเองก็ต้องหาทางสร้างความเข้าอกเข้าใจทีมงานและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรอยู่เคียงข้างและสนับสนุนเสมอ
การศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่มีพันธมิตรที่ดีในที่ทำงานอย่างน้อยหนึ่งคนมีโอกาสที่จะรู้สึกพึงพอใจกับการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากกว่าคนที่ไม่มีถึงสองเท่า การมีพันธมิตรช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจที่ทำให้คนไม่อยากออกจากงาน ทำงานได้มีประสิทธิภาพและมีความสุขมากกว่า
พันธมิตร คือ คนที่พยายามเข้าใจเพื่อนร่วมงานว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน พันธมิตรที่ดีจะเริ่มจากการแก้ปมทางความคิดและอคติต่อบุคคลก่อน จากนั้นทำความเข้าใจว่าการที่แต่ละคนมีโอกาสไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสประสบความสำเร็จ ผู้นำอย่างผู้จัดการจะต้องเป็นคนแรกที่เป็นพันธมิตรของทีมงาน เป็นคนเริ่มพัฒนาความเห็นอกเห็นใจและการสื่อสารแบบเปิดรับ ซึ่งมี 5 เทคนิคมาแนะนำ ดังนี้
- เปลี่ยนมุมตู้กดน้ำเป็นการนัดพูดคุยหลวมๆ กับทีมงาน ในฐานะผู้จัดการ การใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆด้วยการสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นเรื่องจำเป็น คุณอาจต้องเป็นคนละเอียดและคอยจับสังเกตทีมงานเสมอ ถ้าอยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีมจริงๆ คุณต้องจัดตารางให้มีเวลาได้นั่งพูดคุยกับทีมงาน อาจลองนัดคุยออนไลน์ระหว่างพัก ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เล่นเกม หรือนัดกันทานข้าวสัก 30 นาทีผ่านจอก็ได้ โดยในระหว่างนั้นห้ามคุยเรื่องงานเลย
- สร้างพันธมิตรผ่านการเทรนนิ่งเป็นกลุ่ม ลองถามแผนกบุคคลดูว่ามีการเทรนนิ่งอะไรที่นำมาปรับใช้กับทีมได้ จากการศึกษาพบว่า 97% ของบริษัทที่มีการเรียนรู้กันเป็นกลุ่ม สร้างพันธมิตรในการทำงานได้จริง บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม มักมีเวิร์กชอปเจ๋งๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในทีมได้ดี และนั่นคือสิ่งที่ทีมคุณต้องการ
- อย่าปล่อยผ่านการแสดงความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวในที่ทำงาน หากคุณพบเห็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงอคติให้ทักท้วงทันที การแสดงความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวมีแนวโน้มที่จะเกิดผ่านการทำงานออนไลน์มากกว่าเจอหน้ากัน เช่น หยอกล้อแซวเพื่อนร่วมงานระหว่างประชุมโดยไม่ดูสถานการณ์ คุณในฐานะผู้จัดการควรต้องสังเกตเห็นเรื่องที่อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรแบบนี้ และจัดการให้ทันท่วงที เพราะอาจมีใครบางคนไม่พอใจการกระทำในทำนองนี้อยู่ก็เป็นได้ นอกจากนี้คุณที่เป็นผู้จัดการต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ค่อยได้พูดได้ลองแสดงความเห็นบ้าง ให้พวกเขารู้สึกมีตัวตนและรู้สึกดีที่มีคนมองเห็นเขา โดยเฉพาะจากคนที่เป็นหัวหน้า ในอีกนัยหนึ่งคุณเองต้องมีสติทุกครั้งที่จะพูดหรือแสดงออกใดๆ ไม่ให้กระทบจิตใจคนอื่นเช่นกัน
- ระวังแม้การแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ การประชุมผ่านหน้าจอทำให้คนโฟกัสที่การแสดงออกทางหน้าตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าคุณจะเพิ่งออกจากประชุมใดประชุมหนึ่งด้วยความตึงเครียด อย่าลืมที่จะมีเวลาสัก 5 – 10 นาทีในการปรับอารมณ์ของตัวเอง เพราะการพูดคุยกันในระหว่างที่คุยกับทีมงานแบบตัวต่อตัว หากคุณยังทำหน้านิ่ว หรือว่าใจยังคิดถึงการประชุมก่อนหน้า ทีมงานที่คุณคุยด้วยจะสังเกตได้ว่าคุณไม่ได้สนใจพวกเขา ส่วนของการให้ความเห็นต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ยุติธรรม และแก้ปัญหาได้จริง อย่าลืมที่จะพยักหน้าตอบสนองต่อสิ่งที่อีกฝ่ายพูด เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ซึ่งเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรทำ
- ใส่ใจสุขภาพจิตของทีมงาน คนประสบปัญหา Burnout ได้ง่ายในช่วงทำงานที่บ้าน
- ลองนัดพูดคุยเรื่องความหนักหนาของงานทุกๆ สัปดาห์ หรือ ทุกๆ สองสัปดาห์ ให้แต่ละคนได้เปิดอกว่างานของพวกเขาเยอะเกินไปหรือเปล่า หรือว่าพวกเขากำลังเผชิญกับภาวะ Burnout หรือไม่
- พูดคุยส่วนตัวแบบกะทันหันบ้างก็ได้ ถ้าสังเกตเห็นว่าใครบางคนมีภาวะเครียด ไม่ค่อยเปิดกล้องระหว่างประชุม หรือหายไปจากประชุมบ่อยๆ อาจลองทักไปถามสถานการณ์ของพวกเขาดู
- ให้ทีมงานได้ลางานแบบไม่หักเงินบ้าง คุณเองในฐานะหัวหน้าก็ต้องลาบ้าง คนอื่นจะได้กล้าลาตาม ให้แต่ละคนได้ไปพักผ่อน คลายเครียด
การทำงานในฐานะหัวหน้าในช่วงเวลาผันผวนแบบนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ลองวิธีการใหม่ๆ ได้แสดงให้ทีมงานเห็นว่าใส่ใจและมองเห็นพวกเขา นอกจากจะช่วยให้ทีมงานรู้สึกมีความสุขและมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้นแล้ว คุณยังมีส่วนช่วยให้การทำงานของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวมมากขึ้นด้วยนั่นเอง
ที่มาของข้อมูล – Managers, Here’s How to Be a Better Ally in the Remote Workplace