Marionsiam เสื้อผ้าที่เขียนด้วยมือ หัวใจ และความหวัง
มีหลายแบรนด์มากในโลกใบนี้ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการคิดโมเดลธุรกิจ หรือบางแบรนด์ก็เริ่มจากเงินทุน แต่ Marionsiam (มา-รี-ยอง-สยาม) กลับเริ่มต้นจาก...รัก และความหลงใหลในงานศิลปะ หลายคนอาจเคยเห็นเสื้อผ้าบาติก สีสันแปลกตาแต่ชวนมองจากแบรนด์ Marionsiam ผ่าน Instagram มาบ้าง หรือบูธตามงานอีเวนต์ ซึ่งเสน่ห์ตรงนี้แหละคือความแตกต่างที่น่าสนใจของแบรนด์นี้

ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังทุกลวดลายอันสวยงามนี้ ถูกทำด้วยมือและฝีมือจาก คุณแพท - ทยิดา อุนบูรณะวรรณ เจ้าของแบรนด์ Marionsiam ที่ออกแบบเอง, เขียนลายเอง และผลิตผ้าทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งความน่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นระหว่างการได้ร่วมสัมภาษณ์กับคุณแพท มันทำให้เราเห็นว่า นี่คือตัวอย่างของการไม่ต้องรอให้เก่งก่อนจะเริ่มสร้างแบรนด์ แต่คุณแพทเริ่มจากคำว่า ‘ใส่ใจ’
นั่นแหละ...คือความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อได้ฟังเรื่องราวของ Marionsiam แบรนด์เล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีโรงงาน ไม่ได้มีทีมใหญ่โต หรือเงินทุนมากมาย แต่กลับมีหัวใจที่พิเศษกว่าใครที่อยากให้เสื้อผ้าทุกชิ้น “เป็นที่รัก” บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับเบื้องหลังแบรนด์ Marionsiam ที่เล่าเรื่องตัวตน, ความฝัน และวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ผ่านงานหัตถกรรมร่วมสมัยไปพร้อมกัน
Marionsiam ชื่อที่มาจากหนัง และความตั้งใจให้ทุกคน ‘เป็นที่รัก’
คำว่า Marionsiam มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังเรื่องทวิภพ ซึ่งก็เกิดจากคุณพ่อ คุณแม่ และคุณแพท ช่วยกันคิดขึ้นมา โดยการผสมผสานระหว่างตะวันออก กับตะวันตก โดยมันจะมีอยู่ฉากหนึ่งของหนังทวิภพที่พ่อนางเอกเรียกว่า ‘มาริยอง’ ซึ่งในความหมายของคำว่า Marion (มา-รี-ยอง) มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “อันเป็นที่รัก” ซึ่งก็ต่อยอดมาเป็นชื่อแบรนด์ Marionsiam (มา-รี-ยอง-สยาม) เพราะอยากให้ทุกคนรักในแบรนด์ของเรา รักในความเป็นตัวตนที่หลงใหล และหลงรักในงานศิลปะเหมือนกันกับเรา รวมไปถึงลูกค้าที่สวมใส่เสื้อผ้าของเราก็จะเป็นที่รักของทุกคน นับเป็นเจตจำนงสำคัญในการสร้างแบรนด์ที่อยากให้คนสวมใส่รู้สึกว่า ‘เราเป็นที่รัก’ และ ‘ใส่ความรักลงไปในทุกชิ้นงาน’
เมื่อความหลงใหลกลายเป็น Thesis จบ และจาก Thesis ในวันนั้นกลายเป็นธุรกิจอย่างแบรนด์ Marionsiam ในวันนี้!
ในปัจจุบันเปิดแบรนด์ Marionsiam มาราว ๆ 5-6 ปี เพราะเปิดมาตั้งแต่สมัยเรียนจบแล้ว (เปิดในช่วง Covid พอดี) จุดเริ่มต้นเกิดจากงาน Thesis มาก่อน โดยคุณแพทเรียนจบ Fashion Design ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วในช่วงที่จะเรียนจบเราต้องเลือก ‘หัวข้อว่าเราจะทำเรื่องเกี่ยวกับอะไร’ ซึ่งในเวลานั้นเองที่บ้านคุณแพทส่วนใหญ่ชอบไปเดินงานสินค้า OTOP ซึ่งจากจุดนั้นมันจึงเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดความชอบในงานผ้า บวกกับความหลงใหลในงานศิลปะ และความถนัดด้านการวาดภาพ (drawing)
สิ่งที่น่าสนใจระหว่างการพูดคุยกับคุณแพทคือ ‘คุณแพทไม่ได้เดินดูงานแล้วจบ แต่เดินไปคิดไปเพื่อหาสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับงาน Thesis’ ซึ่งในตอนนั้นก็ได้ค้นพบ ‘เทคนิคบาติก’ ที่ยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ บวกกับเทคนิคนี้มันส่งเสริม Passion และความสามารถตัวเอง (ทั้งงานผ้า+แฟชั่น+การวาดภาพ) เพราะงานบาติกต้องเขียนมือทุกชิ้น
จากจุดนี้เองจึงทำให้คุณแพทเริ่มศึกษา ลองทำเทคนิคบาติกอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากความรู้ที่เป็นศูนย์ คุณแพทได้ไปเรียนกับคนในชุมชนที่เชียงใหม่ และกระบี่ โดยไปอยู่กับคนในชุมชนเพื่อเรียนรู้ทั้งเทคนิค และ เข้าใจวิถีชีวิตต่าง ๆ ในช่วงที่ทำวิจัย Thesis
คุณแพทเริ่มมีการนำผลงานตัวเองไปประกวดตามงาน Fashion Show ต่าง ๆ แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เพราะคณะกรรมการที่เป็นระดับ Designer Brand ชั้นนำเขาเห็นผลงานแล้วพูดกับคุณแพทว่า ‘สินค้าคุณต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจได้นะ’.
นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญให้คุณแพทกล้าลองไปต่อ เพื่อสร้างธุรกิจที่ชื่อว่า ‘Marionsiam’ โดยในปัจจุบันคุณแพทเป็น Solopreneur แบบเต็มตัว คือทำคนเดียว ทำทุกอย่างเองหมด แต่เนื่องจากการโฟกัสแค่การทำผ้าบาติก ที่ต้องใช้งานฝีมือ ทำด้วยมือทั้งผืนก็กินเวลามากแล้ว คุณแพทจึงมีการว่าจ้างคนเพิ่มอีก 1 คน มาช่วยดูแลฝั่งขายในการทำ Social Media และตัดต่อ เพิ่มเติมหลังจากนั้นมา

Marionsiam คือศิลปะที่เขียนด้วยมือ เราไม่ใช่ Fast Fashion คนที่ซื้อสินค้าเรา เขาซื้อความเชื่อ ความตั้งใจ และความสวยงามจากผลงานศิลปะที่เขารัก
คุณแพทเล่าให้ฟังว่า งานบาติก เราต้องเพนต์ผ้าเองทุกผืน แม้ในวันนี้เราจะอยู่ในยุคที่เร็วกว่าเท่ากับขายได้มากกว่า อย่าง Fast Fashion แต่ Marionsiam เลือกเดินในทิศทางตรงข้าม เพราะทุกลวดลายกว่าจะออกแบบมาเป็นเสื้อผ้าบาติกที่สวยงามนั้นต้องผ่านทั้ง
- เสื้อแต่ละตัวของ Marionsiam ไม่ได้พิมพ์จากเครื่อง ไม่ได้มีแบบซ้ำ ๆ
- ผ้าทุกชิ้นต้องเขียนด้วยมือ และเขียนด้วยเทียน
- ผ้าทุกชิ้น ทุกสีต้องผสมเอง และผ่านการทดลองก่อนย้อม
- ผ้าทุกผืนผ้าต้องผ่านการทดลองก่อนย้อม
คุณแพทเล่าให้ฟังว่าบางครั้งฝนตกแค่วันเดียว ก็อาจทำให้เลื่อนแผนผลิตไปทั้งสัปดาห์ เพราะความชื้นทำให้เทียนไม่ติดผ้า โดยเทคนิคการทำผ้าบาติกลายเขียนก่อนจะสวยงามได้นั้น เกิดจากการใช้ ‘เทียนขี้ผึ้ง’ ที่ถูกทำให้ละลายแล้ว นำไปเขียนบนเนื้อผ้าเผื่อกั้นสีแต่ละสีเวลาย้อม ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘จันติ้ง’
โดยเทียนบาติกที่นำมาใช้ในการเขียนมีส่วนผสมของพาราฟิน, ขี้ผึ้ง และยางสน ผสมเข้าด้วยกัน หลังจากผ่านกระบวนการย้อมสีแล้วจะฟิกซ์สีเพื่อกันสีตกด้วยโซเดียมซิลิเกตเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนนำไปต้มเทียนออก เชื่อว่าแค่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงมีเครื่องหมายคำถามเต็มหัวแล้ว เพราะขั้นตอนมันไม่ได้ง่ายเลย มันมีความละเอียดและความรอบคอบอยู่มาก
เสื้อผ้าแทบจะทุกชิ้นคุณแพทใช้ผ้า Deadstock จากโรงงาน ส่วนเทียนนำมาจากเทียนวัด ที่ผสมผสานในแบบของตัวเอง
สิ่งที่ทำให้ Marionsiam แตกต่างจากแบรนด์อื่น ไม่ใช่แค่ลวดลายเฉพาะตัวเท่านั้น แต่คือ ‘วิธีคิดที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ของงานบาติก’ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้ “เทียนวัด”
คุณแพทเกิดไอเดียที่น่าสนใจคือเทียนแต่ละชนิดมีการผสมผสานลวดลายแตกต่างกัน นั่นจึงกลายเป็นไอเดียที่ไปลองเอา เศษเทียน หรือเทียนพรรษาสีเหลือง ๆ ที่วัดจะต้องทิ้งอยู่แล้ว จนกลายเป็นคุณแพทไปทำบุญแล้วนำเทียนเหล่านี้มาใช้ต่อยอดสร้างสรรค์ไอเดีย แทนที่เทียนเหล่านี้จะถูกทิ้งขยะ โดยใช้เทคนิคการทดลองแตกเทียน เพื่อให้เกิดลวดลายไม่ซ้ำกันในแต่ละผืน และที่สำคัญเธอ ‘วาด’ ผ้าแต่ละชิ้นขึ้นเองด้วยมือของเธอเองทั้งหมด โดยผืนผ้าแต่ละผืน ใช้เวลาทำนานหลายวัน ต้องรออุณหภูมิที่เหมาะสม ต้องเขียนเทียน-เพนต์สี-ย้อมผ้า-ล้างเทียน จึงจะได้เนื้อผ้าที่พร้อมนำไปตัดเย็บ
อีกส่วนต่อมาคือตัวผ้า ซึ่งคุณแพทก็ไปซื้อมาจาก deadstock จากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผ้าใหม่ที่เหลือจากกระบวนการผลิต ไม่ใช่เศษผ้า แล้วนำมาย้อมใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างคุณค่าทั้งในแง่ศิลปะและความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือผ้าทุกชิ้นที่ลูกค้าซื้อไปจะมีความแตกต่างกันทั้งหมด ผ้าแต่ละแบบจะเป็นชิ้นเดียวในโลก (one-of-a-kind) มีเสน่ห์ในแบบของตัวมันเองแบบไม่ซ้ำใคร
ธุรกิจแบบ ‘ไม่ขายผ้า’ แต่ขาย ‘งานศิลปะสวมใส่ได้’
Marionsiam ไม่ได้โตมาจากการทำโฆษณา หรือการทุ่มงบ Marketing แต่อย่างใด แต่ทั้งหมดเกิดจากมาจาก ‘การฟังเสียงลูกค้าอย่างลึกซึ้ง’ โดยลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์ผ่าน IG และการออกบูธตามงานศิลปะและดีไซน์แฟร์ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัย เพราะดีไซน์เสื้อผ้าเป็น Classic Unisex ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย และอยู่ได้นาน
แม้จะเป็นแบรนด์ทำมือ แต่ Marionsiam ก็ไม่ได้หยุดอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเอง คุณแพทพยายามต่อยอดแบรนด์ด้วยการ Collaborate กับอุตสาหกรรมอื่น เช่น
- ร่วมกับ SCG ออกแบบของขวัญปีใหม่จากถุงปูนและผ้าบาติก
- ร่วมทำเฟอร์นิเจอร์กับแบรนด์ DEESAWAT
- ทำเครื่องประดับ ร่วมกับทางแบรนด์ SARRAN
- หรือแม้แต่เปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ เป็นหน้าร้าน + Studio สอนบาติกในตัว
ทุกอย่างนี้สะท้อนว่าคุณแพทไม่ได้ทำแค่แฟชั่น แต่ทำ ธุรกิจสร้างสรรค์ ที่เปิดกว้างทางความคิด เพราะศิลปะบาติกสามารถไปอยู่ได้กับทุกอย่างจริง ๆ ไม่ได้จำกัดแค่บนเสื้อผ้าเท่านั้น
คุณแพทเล่าให้ฟังว่า “ลูกค้าหลายคนซื้อเพราะเขา ‘ชอบตัวเรา’ เหมือนเขาอยากเป็นแบบเรา แต่ไม่อยากทำเอง ก็เลยสนับสนุนงานเรา” รวมถึงลูกค้าหลายคนยังสั่ง งานสั่งทำพิเศษ (custom-made) และให้คุณแพทออกแบบให้ตามใจเพราะเขาเชื่อมั่นในตัวเรา และเชื่อมั่นแบรนด์ ซึ่งคุณแพทบอกว่าเวลาลูกค้าสั่งมา แทบจะไม่เคยโดนขอแก้งานเลย เหตุเพราะแบรนด์มี “คาแรกเตอร์ที่ชัด” และเชื่อในตัวเรา
Marionsiam ไม่ได้ขายของให้ทุกคน แต่ขายของให้คนที่ “เข้าใจ”
คุณแพทยอมรับว่าลูกค้าที่เน้น Fast Fashion อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
“ลูกค้าที่ซื้อเสื้อ 2,000 กว่าบาทจากเรา ไม่ได้ซื้อเพราะอยากอินเทรนด์ แต่ซื้อเพราะเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่ คุณแพททำด้วยงานฝีมือ”
ดังนั้นจุดแข็งของแบรนด์คือการ ทำซ้ำไม่ได้ แม้แต่คุณแพทที่เป็นเจ้าของยังยอมรับว่า ทำให้เหมือนเดิมยังยาก นั่นทำให้คนที่ต้องการความ “ไม่เหมือนใคร” มักจะตกหลุมรัก Marionsiam

บทส่งท้าย Marionsiam คือบทพิสูจน์ว่าความฝันจะไปไกลได้ ถ้าเรารักมันมากพอ ทำมันมากพอ และปรับตัวมันมากพอ!
คุณแพทมักเน้นย้ำเสมอในเรื่องของ ‘การปรับตัว’ สำคัญมาก ๆ ปรับตัวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ปรับตัวกับสถานการณ์ของแบรนด์ แต่มันต้องลงลึกไปถึง การเปิดใจฟังเสียงลูกค้า, การมองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างเช่น คุณแพทเองก็ไม่ได้ทำธุรกิจแล้วจบ แต่ทุกวันนี้เปิดเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปได้มาลองเพนต์ผ้าบาติก หรือจะสร้างคอนเทนต์บนช่อง YouTube เองก็ตาม เราต้องเรียนรู้ ปรับตัวอยู่เสมอจริง ๆ เราต้องไม่หลงตัวเองจนเกินไป ต้องยืดหยุ่น และพร้อมเปลี่ยน ถ้าอยากให้แบรนด์อยู่รอด
คุณแพทเจออุปสรรคมาก็ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีใจรักศิลปะ หลายคนอาจมองว่างานศิลปะอยู่ไกลจากธุรกิจ ตลอดระยะเวลา 6 ปีมานี้ Marionsiam ไม่หวั่นกับคำพูดเหล่านั้น และยังคงพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ สามารถสร้างแบรนด์ที่มาจากหัวใจจริง ๆ และยังเดินอยู่บนเส้นทางธุรกิจได้ หากเรารู้จักตัวเองดีพอ ว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร สร้างความแตกต่างอย่างไร, รวมถึงการมีระบบที่ชัดเจน และเปิดใจเรียนรู้จากทุกสิ่งรอบตัว
สุดท้ายนี้หากใครอยากติดตามแบรนด์ Marionsiam ลองเข้าไปดูผลงานได้ที่ Instagram ของ Marionsiam ที่ด้านล่างนี้เลย
https://www.instagram.com/marionsiam/
สัมภาษณ์, เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ