ถ้าจะใช้ความคิด ให้เลี่ยงเพลงที่เราร้องได้ ผลวิจัยเผยคนที่เปิดเพลงตอนทำงานจะทำงานได้ดีขึ้นจริง!

Last updated on พ.ย. 18, 2023

Posted on พ.ย. 13, 2023

‘เพลงไม่มางานไม่เดิน’ เชื่อเลยว่าเราทุกคนมักจะมีเพลย์ลิสต์เพลงที่ต้องเปิดฟังเวลาทำงานอยู่เสมอ

สำหรับคนทำงาน นอกจากกิจวัตรที่ต้องทำทุกวันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนเริ่มงานเลยคือการเลือกเพลย์ลิสต์ที่ตรงใจ

ดนตรีเป็นภาษาสากลที่สะท้อนอารมณ์ของมนุษย์ มันมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างมาก นักกีฬาฟังเพลงเพื่อเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าก่อนการฝึกซ้อม นักเขียนต้องมีเพลย์ลิสต์สำหรับการบูสต์สมอง ผู้ใช้แรงงานบางคนมักจะเปิดเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ นั่นทำให้เราเห็นเลยว่าแต่ละอาชีพเองก็ใช้ประโยชน์จากเพลงได้ต่างกัน ว่าแต่มันทำได้ยังไงกันนะ

กลไกสำคัญอย่างหนึ่งของดนตรี คือความสามารถในการบรรเทาความเครียด ในช่วงเวลาที่เราเครียด ร่างกายของเราจะเข้าสู่การตอบสนองในโหมดสู้หรือหนี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ ดังนั้นแล้วดนตรีจึงทำหน้าที่เป็นยาแก้พิษที่มีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายประสาท ฟื้นฟูความสมดุลให้ร่างกาย และช่วยให้เรามุ่งความสนใจไปที่งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology of Music ให้บอกเราถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างดนตรีกับผลการเรียนว่า นักเรียนที่ฟังเพลงระหว่างทำงานจะสามารถมีสมาธิได้นานขึ้น และมีผลการเรียนดีขึ้นในท้ายที่สุด การศึกษาครั้งนี้เน้นย้ำถึงศักยภาพของดนตรีในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ ดนตรียังช่วยยกระดับอารมณ์ของเราอีกด้วย เพราะเมื่อเราฟังเพลง ร่างกายจะปล่อยโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ โดยอารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน แต่ยังทำให้เราอดทนต่อปัญหาที่เกิดตรงหน้าได้

ในปี 1966 การศึกษาเกี่ยวกับพนักงานที่ทำงานในโรงงานสเกตบอร์ด ของวารสาร Journal รายงานว่า คนงานในโรงงานสนุกกับการฟังเพลงในระหว่างวัน ซึ่งผู้เข้าร่วมตั้งข้อสังเกตว่าการฟังเพลงมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งการศึกษาที่มีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกของดนตรีที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงานของวารสาร Applied Ergonomics ในปี 1972 ก็บอกเราว่า เพลง Background Music จะทำให้เราสามารถทำงานได้ดีขึ้นถึง 7.4% เลยล่ะ

หากใครที่ฟังเพลงอยู่แล้ว อยากเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนั้น ในเว็บไซต์ Wrike.com ก็แนะนำว่าควรฟังเพลง พร้อมกับใช้เทคนิค Pomodoro ในการทำงานควบคู่กัน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีการบริหารเวลายอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งงานออกเป็นช่วงละ 25 นาที โดยเราสามารถใช้เพลงเป็นตัวกำหนดเวลาได้ นั่นทำให้ดนตรีไม่เพียงแต่ช่วยให้มีสมาธิเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาจังหวะการทำงานที่ดีอีกด้วย

ประเภทของเพลงที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีที่สุดนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน

เพลงที่มีจังหวะสนุกสนานสามารถช่วยปรับปรุงอารมณ์ และแรงจูงของคนใจได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเลือกเพลงที่ไม่เร้าใจจนเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลเสียให้สมาธิหาย และเพลงที่มีจังหวะคลาสสิกสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการรับรู้ เช่น การทดสอบความสามารถด้านความเข้าใจ หรือใช้คำพูด นอกจากนั้น หากใครเปิดเสียงธรรมชาติยังช่วยสร้างบรรยากาศที่สงบ และผ่อนคลายต่อการทำงานได้

เราจะพบว่าหลายคนมักจะเลือกเพลงในการทำงานด้วยการใช้อารมณ์มากำหนดโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเรารู้สึกมีความสุข เราก็มักจะเลือกเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน เมื่อเรารู้สึกเศร้า เราก็มักจะเลือกเพลงสะเทือนอารมณ์ ที่อาจช่วยระบาย

ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาเลือกเพลงที่ตรงกับบุคลิกตามธรรมชาติของตน อาทิ

✨ คนเปิดเผย กล้าแสดงออก มักจะเลือกเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน และร่าเริง
✨ คนที่อยากรู้อยากเห็น และมีสติปัญญา มักมุ่งความสนใจไปที่ดนตรีแจ๊สหรือคลาสสิกมากที่สุด
✨ ส่วนคนประเภทที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือหัวกบฏอาจหันไปหาเฮฟวีเมทัล ฮิปฮอป หรือพังก์ร็อก


🎼 เราควรจะฟังเพลงอะไร ให้ตรงกับประเภทงานที่ทำ 🎼

⭐️ หากงานของเราค่อนข้างซ้ำซาก (และน่าเบื่อ) ให้ลองฟังเพลงที่มีจังหวะเร็วหรือซับซ้อน
⭐️ หากงานของเราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้หลีกเลี่ยงเพลงที่มีเนื้อร้องที่เราเข้าใจ และใช้เพลงที่ลดจังหวะ และเรียบง่าย
⭐️ หากเราพบว่าตัวเองกำลังฟุ้งซ่านหรือมัวแต่คิดถึงดนตรี ลองเปลี่ยนมาเปิดเสียงธรรมชาติฟังแทน


การผสมผสานการฟังเพลงในการทำงาน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น เพราะดนตรีจะช่วยทำให้เราผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด คือควรฟังสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี เพราะการทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปลุกสมองท่านั้น แต่ยังฝึกให้คุณเชื่อมโยงงานกับช่วงเวลาที่ดีอีกด้วย ฉะนั้นแล้วหากเราอยากใช้เพลงช่วยบูสต์ประสิทธิภาพในการทำงาน เราก็ควรหาเพลงที่เป็น Hero ของเราให้เจอ


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags