บริหารความเป็นผู้นำ ด้วยวิธีการบริหารแบบ Part-Time CEO เทรนด์มาแรงของการเป็นผู้บริหารไม่ประจำ แต่จำเป็นต่อองค์กร!

เทรนด์ Part-Time CEO บทบาทผู้บริหารจำเป็น! ผู้นำที่ไม่ได้ต้องทำงานประจำ แต่กลับจำเป็นต่อองค์กร! หนึ่งในเรื่องที่ผู้นำทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการจัดจ้างผู้นำเหล่านี้เข้ามาบริหารในองค์กร

Last updated on มี.ค. 20, 2024

Posted on มี.ค. 12, 2024

รู้หรือไม่ CEO คือหนึ่งในตำแหน่งที่มีภาวะ Burnout สูงเป็นอันดับต้น ๆ

บางครั้งเราในฐานะลูกจ้าง ก็ไม่เคยสังเกตเห็น CEO ว่าปกติแล้วเขาทำงานอะไรอยู่ หรือในอีกบทบาทของการเป็นเจ้าของบริษัท เราก็เผลอทำงานมากจนเกินไป และไม่ได้ใส่ใจกับลูกทีมเท่าที่ควร

🎯 ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจโดย Deloitte Canada และ LifeWorks Inc.

ระบุไว้ว่า 82% ของผู้บริหารสูงสุด หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ยอมรับว่าประสบกับภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes) และความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน โดยค่าเฉลี่ยการทำงานของเหล่าผู้บริหารสูงถึง 50-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

🎯 นี่จึงเป็นที่มาของ Part-Time CEO

การทำงานหนักถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่ได้ถือเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความภาคภูมิใจอีกต่อไป การทำงานที่เยอะเกินไป ไม่ได้การันตีย์ในการรักษาคุณภาพงานได้ แถมยังนับเป็นความล้มเหลวของผู้บริหาร และด้วยเหตุนี้ แนวคิดของการเป็น "Part-Time CEO หรือการเป็นผู้บริหารแค่บางเวลา" จึงกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงทักษะใหม่ ๆ และลดการทำงานบางประเภท เพื่อให้ CEO ได้โฟกัสในฐานะผู้นำที่จะนำพาบริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน

🎯 อะไรคือนิยามของคำว่า Part-Time CEO ?

นิยามที่เรียกตำแหน่งนี้ง่ายที่สุด คือการเป็น CEO ไม่ประจำ ซึ่งถือเป็นเทรนด์การทำงานที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ คือผู้บริหารที่อาจจะถูกจัดจ้างหลักเดือน หลักปีแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละบริษัท เพื่อให้เข้ามาดูแลโปรเจกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่การบริหารองค์กร, ดูแลด้านผู้นำเชิงกลยุทธ์, ทำงานร่วมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล, การเงิน, การขาย เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลง

แม้ในประเทศไทยเราอาจจะไม่ได้รับความนิยมในเรื่องของ Part-Time CEO มากนักก็ตาม แต่เรื่องนี้กลับได้รับความนิยมในต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Startup หรือมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยจากข้อมูลของ ziprecruiter.com ระบุไว้ว่า ค่าจ้างต่อปีโดยเฉลี่ยของ Part-Time CEO ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 82,146 ดอลลาร์ต่อปี (ราว ๆ 2.9 ล้านบาท) ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศที่มีการจัดจ้าง Part-Time CEO สูงที่สุด

ทางด้านเว็บไซต์ entrepreneur ได้เล่าเรื่องราวของคุณ Artis Rozentals (อาร์ทิส โรเซนทัลส์) บอกเล่าประสบการณ์การเป็นผู้บริหาร หรือ Part-Time CEO ที่ตัวเขานั้นได้เปลี่ยนสถานะตัวเองมาเป็น CEO บริษัท DeskTime โดยเนื้อหานี้จะรวบรวมข้อดี-ข้อเสีย ที่น่าสนใจจากคุณ Artis Rozentals (อาร์ทิส โรเซนทัลส์)

ข้อดีของการเป็น Part-Time CEO ?

1. เสริมพลังงานในการทำงาน และลดความเหนื่อยล้าลง

การได้รับผิดชอบในฐานะ Part-Time CEO ช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และช่วยเสริมให้มีพลังงานมากขึ้น ในการโฟกัสงาน, การตัดสินใจ และการบริหารงาน ซึ่งวิธีการนี้คล้าย ๆ กับบางบริษัทที่มีการส่งเสริม work-life balance รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน และมีแรงอย่างเต็มที่ในการเผชิญกับการทำงานหนัก ๆ ได้

2. ลดการเกิดปัญหาเรื่อง micro management

เนื่องจากการทำงานรูปแบบ Part-Time CEO คุณจะไม่มีเวลามานั่งเจ้ากี้เจ้าการจุกจิกกับเรื่องคนมากนัก แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสคือการเชื่อใจ และวางใจลูกทีมอย่างเต็มที่ จากเดิมที่ต้องจู้จี้เขา คุณจะกลายเป็นคนที่โน้มน้าวเพื่อให้งานออกมาดียิ่งขึ้น และนำความสามารถของตัวเองไปใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท โดยคีย์สำคัญของการทำงานในเชิง Part-Time CEO คือคุณต้องลำดับความสำคัญให้ชัดเจนต่อทีม เพื่อให้ทุกคนในทีมสามารถจัดตารางงาน และลำดับความสำคัญต่องานได้ และถ้าหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทุกคนจะเชื่อใจคุณเพื่อมาขอคำปรึกษาหาแนวทางแก้ปัญหากันต่อไป

3. ช่วยประหยัดต้นทุนให้กับบริษัท

การจ้าง Part-Time CEO ถือเป็นการประหยัดต้นทุนสำหรับบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจลักษณะสตาร์ตอัป หรือธุรกิจขนาดกลาง - ขนาดย่อม ที่มีทรัพยากรจำกัด ที่อาจจะเป็นรูปแบบโปรเจกต์ ซึ่งการจ้างงานแบบนี้จะทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงผู้นำที่มีประสบการณ์โดยตรงในด้านนั้น ๆ ได้ ซึ่งมักจะมาพร้อมไอเดียสดใหม่ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนานวัตกรรม และเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการจ้างผู้บริหารประจำเข้ามาดูแลได้

4. เพิ่มขีดความสามารถทั้งด้านทักษะใหม่ ๆ และมีความยืดหยุ่นสูง

เนื่องจากการจ้าง Part-Time CEO ไม่ได้ผูกมัดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งแบบเต็มเวลา ผู้บริหารในรูปแบบนี้จึงสามารถเพิ่มขีดความสามารถในด้านทักษะได้มากขึ้น แถมยังมีความยืดหยุ่น มุ่งมั่นอย่างเต็มที่กับธุรกิจที่ตัวเองโฟกัส พร้อมกับนำมุมมองใหม่ ๆ จากโลกภายนอกมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้


ข้อเสียของการเป็น Part-Time CEO ?

1. ขาดการติดตามสถานการณ์

แน่นอนว่าการเป็น Part-Time CEO เมื่อวันนึงองค์กรยังคงต้องดำเนินกิจการต่อไปในขณะที่คุณไม่อยู่ หรือไม่ว่าง มักจะเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร หรืออัปเดตงานที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาการเกิดเรื่องเหล่านี้ เทคนิคที่ทางคุณ Artis Rozentals (อาร์ทิส โรเซนทัลส์) ได้แนะนำคือการประชุมทีมรายสัปดาห์ หรือรายวัน เพื่อให้ทุกคนอัปเดตว่ากำลังทำงานอะไรอยู่ มี Process อะไรบ้างที่ทำอยู่ หรือมีใครติดปัญหาอะไร เพื่อรับการแก้ไขได้ทันท่วงที

2. เกิดความท้าทายในการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง

ความท้าทายที่เรียกได้ว่า Part-Time CEO ต้องเจอคือการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเหล่าทีมงาน, ลูกค้า, หุ้นส่วน เนื่องจากการมีส่วนร่วมอย่างจำกัดในด้านเวลาอาจก่อให้เกิดอุปสรรคในด้านความสัมพันธ์ได้ แต่แน่นอนว่าในฐานะผู้นำแล้ว การจะพูดออกมาว่าผมทำงานเต็มจำนวนครบชั่วโมงแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดูไม่ดีในสายตาทีมงาน เพราะคุณคือ Leadership มีภาวะความเป็นผู้นำที่ทุกคนในองค์กรคาดหวัง

คีย์สำคัญของข้อนี้คือในระหว่างที่คุณทำงาน ไม่ใช่แค่โฟกัสเพียงแค่หน้าจอคอมเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์พบปะพูดคุยกับทีมงาน เพื่อสร้าง หรือรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ให้ความพร้อมในการช่วยเหลือแก่ทีมทั้งหมดเสมือนที่ปรึกษาที่ทุกคนไว้ใจ หรืออาจจะมีการจัดการประชุมรายบุคคล (Demonstrating Leadership) เพื่อให้ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ดีกับคุณในฐานะผู้นำ

3. คุณจะมีเวลาในการวางแผนกลยุทธ์อย่างจำกัด

บทบาทของ CEO โดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของกลยุทธ์ (strategic) ซะส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นความมุ่งหวังต่อเป้าหมายระยะยาว และวิสัยทัศน์ขององค์กร ดังนั้น Part-Time CEO ส่วนใหญ่มักจะพบเจออุปสรรคก้อนนี้ในการวางแผนทิศทางในอนาคต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ ดังนั้นเทคนิคที่น่าสนใจคือคุณควรโฟกัสกับการสร้างแผนธุรกิจ และดำเนินงานตามแผน ในขณะที่ให้พนักงานประจำทำหน้าที่ดูแล Process ย่อยต่าง ๆ แต่ในทางกลับกันคุณก็ต้องเป็นที่ปรึกษา เป็นคนคอยควบคุมให้เป้าหมายเหล่านั้นประสบความสำเร็จตามที่แผนที่วางไว้เช่นกัน


นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ ที่ผู้นำทั่วโลกต่างให้ความสนใจกันมากขึ้นกับการเกิดใหม่ของ Part-Time CEO แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags