“ใน 1 วัน ของแต่ละคน เรากินวันละกินมื้อ”
- ลองนั่งนึกสนุก ๆ ดูสิว่า ‘มื้อเช้าวันนี้เรากินอะไร’ ?
- มื้อกลางวัน หรือตกบ่าย เราอยากกิน หรือกำลังกินอะไร ?
- มื้อเย็น หรือ มื้อค่ำ เรากินอะไร ?
มนุษย์เรามักอยู่กับเรื่องกินขั้นต่ำ 3 ครั้งต่อวัน เพราะนี่คือเรื่องใกล้ตัวที่สุดของมนุษย์ทุกคนบนโลก และที่สำคัญเป็นเรื่องที่ คุณแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ หรือ PEAR is hungry เธออยู่กับสิ่งนี้มานาน และเธอคิดต่าง โดยเห็นถึง ‘การกิน สามารถสร้างผลกระทบที่ดีให้กับโลกใบนี้ได้’ ซึ่งเธอทำมันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ จนเกิดมาเป็นรายการที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน
หลายคนอาจจะคุ้นเคยจากคลิปของคุณแพรผ่าน Social Media ต่าง ๆ อย่างโปรเจกต์กินหมดจาน และ โปรเจกต์ Restaurant Makeover ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่คุณแพรอยากสื่อสารให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องของ ‘Food Waste’ หนึ่งในคีย์สำคัญของการลดและการจัดการขยะอาหาร และตระหนักถึงคุณค่าการกินอาหาร เพราะมนุษย์เราต้องกินทุกวัน นี่คือเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่อยากให้ทุกคนมาใส่ใจในการช่วยโลก ช่วยเห็นคุณค่าต้นทุนของวัตถุดิบ และต่อยอดไปสู่การช่วย กทม. ในการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
ชาเลนจ์ ‘กินหมดจาน’ คืออะไร ?
ก้าวสู่ Season ที่ 2 แล้วกับชาเลนจ์กินหมดจาน โดย Season 1 ได้ทำร่วมกับ ‘Konggreengreen’ และ TikTok for Good’ เป็นโปรเจกต์โดย aRoundP ซึ่งคอนเซปต์ก็แสนง่ายตรงตามชื่อ คือชวนทุกคน ‘มากินอาหารให้หมดจาน’ เป็นหนึ่งในวิธีลดเรื่องของ Food Waste ให้ผู้คนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอาหารที่กิน ลดขยะอาหารเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด รวมไปถึงเมื่อทำชาเลนจ์ได้สำเร็จก็มีโปรโมชันดี ๆ มอบให้กลับไป โดยในครั้งนั้นเมื่อจบปี กวาดยอดวิวไปได้มากถึง 97 ล้านวิว เพื่อสร้างการรับรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้เห็นถึงคุณค่าในอาหาร แค่คุณกินหมด คุณก็ช่วยโลกได้อย่างมหาศาล
แม้ Feedback SS.1 จะดีมาก แต่มันยังไม่เพียงพอต่อเป้าหมายของเรา!
คุณแพรย้ำเรื่องของ Feedback ที่เกิดขึ้น แม้เราจะได้ Awareness ก็จริง แต่เรากลับไม่เห็น Action ที่เกิดขึ้น หรือ Impact มันเกิดขึ้นหรือเปล่า แม้ SS.1 เราจะตั้งความคาดหวังไว้ชัดเจนว่า “อยากให้ทุกคนรู้จักคำว่า Food Waste” ให้คนได้รู้จักคำนี้จริง ๆ เพื่อให้เขาทำจริง และตระหนักถึงสิ่งนี้ พอเป้าหมายเราทำได้ จึงเกิดการตั้งคำถามกับทีม ถึงความเป็นไปได้ของสิ่งนี้ ในเมื่อ Awareness มันได้ เป้าหมายหลักจริง ๆ คือเรื่องของ Action มากกว่า ซึ่งยังไม่ได้ตอบโจทย์ได้ทั้งหมดของ SS.1 จึงทำให้การต่อยอดไปสู่ SS.2 เรามองสิ่งที่เรียกว่า Action มากขึ้น
‘ผลักดันชาเลนจ์ ‘กินหมดจาน’ สู่โปรเจกต์ ‘Restaurant Makeover’
อย่างที่เรารู้กันว่า แคมเปญ ‘กินหมดจาน’ คือการชวนคนมาลด Food Waste ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้น คือการสื่อสารถึงผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงการตระหนักให้ทำเรื่องของ Food Waste มันไม่ใช่แค่หน้าที่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในบริบทโดยรอบ เราจึงทำโปรเจกต์อีกตัวที่ทำมาคู่กัน ที่ชื่อว่า ‘Restaurant Makeover’ คือการชวนร้านอาหารมาจัดการแยกขยะอาหารแบบเบื้องต้นแล้วส่งต่อให้ กทม. การคิดสองโปรเจกต์ควบคู่กันนี้ถูกสร้างขึ้น โดยเป็นการคิดเพื่อให้เชื่อมโยงกัน แล้วให้ทุกคนที่อยู่ในบริบทนี้มาทดลองทำหน้าที่ของตัวเอง ใช้ระยะเวลา 1 เดือนทำร่วมกัน แล้วเราจะทำผลลัพธ์ขยะอาหารอย่างไรได้บ้าง
ซึ่งการวางเป้าหมายในครั้งนี้ ชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปสู่ Action
- ร้านอาหาร: ร้านมีการสร้างระบบการจัดการส่งต่อให้กับ กทม.
- ผู้บริโภค+KOL: ตระหนักรู้ จะเข้ามาช่วยลด Food Waste เพื่อให้เกิด Action
- และสุดท้ายผลลัพธ์ของขยะอาหารที่จะเกิดขึ้นใน สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอย (Land Fill) จะมีน้อยลง
โดย Restaurant Makeover คือการชวนเพื่อน KOL 50 คน มาเลือกร้านอาหารมา 50 ร้าน เมื่อเลือกเสร็จ 50 ร้านนี้จะถูกเข้าไปอยู่ใน Restaurant Makeover เพื่อสร้างกระบวนการจัดการขยะอาหาร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วในรายละเอียดการทำงาน จะต้องมีการคัดแยก, เก็บ Data และหลังจากนั้นจะส่งขยะอาหารเหล่านี้ให้กับ กทม. และท้ายสุดจะมาดูผลลัพธ์ที่ทำร่วมกันเป็นอย่างไรบ้าง
จะทำการใหญ่ การให้คุณค่ากับรายละเอียดสำคัญ!
การทำงานหลังบ้านมีการเชิญชวนภาคีอื่น ๆ เข้ามาด้วย โดยการทำงานร่วมกับร้านอาหาร เราตั้งใจว่าอยากทำให้ออกมาเป็น ‘คู่มือ’ ของการคัดแยกขยะอาหารเบื้องต้น โดยการทำงานร่วมกับ public sector ไม่ว่าจะเป็น คพ (กองควบคุมมลพิษ), อย (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา), สำนักสิ่งแวดล้อม, กทม. และครั้งนี้ก็ได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Recycle Day ที่จะเข้ามาช่วยคัดแยกและเก็บ Data และท้ายสุด Restaurant Makeover ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อจะทำให้การวางระบบเกิดขึ้นได้จริง พอเราเอาทุกคนมาวางไว้บนหน้ากระดาน เราจะได้สร้างการจัดการนี้ไปพร้อมกัน
คีย์สำคัญของความนานครั้งนี้คือการคิดกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นการทำงานของทีมเป้าหมายต้องชัดเจน นั่นคือ Action เก็บ Data ระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่สามารถเอาตัวตนเราไปวางตรงกลางได้ หรือชี้สั่งได้ แต่การทำงานร่วมกัน หมายความว่าเราต้องให้เกียรติทุกภาคี และนำตัวตนของเราไปวางในแต่ละจุดของแต่ละปาร์ตี้ โดยมองเลนส์ของเขาเป็นหลัก เช่น ถ้าเราเป็นร้านอาหาร อุปสรรคเขาคืออะไร ความต้องการเขาคืออะไร แล้วอะไรคือแรงผลักดันในการทำสิ่งนี้ของร้านอาหารไปพร้อม ๆ กัน
ตัวอย่างของการรวมตัวกันในครั้งนี้ ลองคิดภาพตามว่า ‘เมื่อ กทม. รับขยะไปแล้ว มันจะไปอยู่ที่ไหน ?’ คุณแพรเล่าให้ฟังว่า มันมีอยู่ 4-5 วิธี เช่น ตั้งแต่การทำน้ำ RO หรือ Reverse Osmosis ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการทำให้ได้น้ำที่บริสุทธิ์, ทำปุ๋ย, เลี้ยงสัตว์, เลี้ยงแมลงวันลาย หรือ หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) หรือแมลงโปรตีน
ซึ่งโดยปกติเขตมีทั้งหมด 50 เขต แต่ร้านในเขตต่าง ๆ ก็จะมีการรับขยะอาหารไปใช้ต่อที่แตกต่างกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย Point มันคือสมมุติว่าในเขตนึง มีร้านอยู่ 10 ร้าน ร้าน A ขยะอาหารที่จะถูกรับต่ออาจจะเอาไปให้ไก่ แต่ร้าน B เอาไปให้ปุ๋ย ดังนั้นในแต่ละร้านที่ทิ้งลงไปในถุงจะไม่เหมือนกัน มันมีรายละเอียดเชิงลึกอยู่ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีที่หลากหลายภาคีที่รวมกันมากขนาดนี้ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ในการนำไปใช้จริง
ดังนั้นหลังบ้านเราก็ต้องสวมหมวกเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราต้องรู้จริงก่อนจะไปคุยกับผู้ประกอบการ หน้างานเราก็ต้องสวมบทเป็นผู้ประกอบการ เราต้องเข้าใจร้านเข้าใจผู้ประกอบการ เพราะร้านอาหารไม่ได้ไม่อยากจะทำ แต่เขามีองค์ประกอบอย่าง ต้นทุน, ค่าใช้จ่าย, Operation ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องไปซัพพอร์ตร้านจริง ๆ ว่าการทำสิ่งนี้จะช่วยเขาลดต้นทุนร้านอย่างไร และช่วยจัดการให้ร้านเขาดีขึ้นอย่างไร ไม่ใช่เข้าไปเพิ่มภาระ แต่ต้องเข้าไปเพิ่มศักยภาพ และเกิดการทำซ้ำได้จริงอย่างต่อเนื่อง ด้วยชุด Mindset ที่ตั้งใจจริง และรู้จริง!
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโปรเจกต์ ‘Restaurant Makeover’ เมื่อทำจริงแล้ว!
สิ่งที่คุณแพรวางผลลัพธ์ หรือ KPI ของโปรเจกต์นี้ไว้ คือ 2 ส่วนหลัก ๆ
- เป้าหมายที่ 1: ตัวเลข หรือผลลัพธ์ในการลด Food Waste
- เป้าหมายที่ 2: เรื่องของ Repetition หรือการทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอตลอด
โดยเริ่มจาก 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา สามารถลดขยะอาหารไม่ให้กลับไปที่ Land Fill ได้สูงถึง 18,143.83 กิโล และเป็นค่า Carbon Footprint 9,710 กิโลคาร์บอน ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นตัวเลขที่เยอะเกินคาด เพราะถ้าหากนับดี ๆ นี่คือการเก็บตัวเลข 50 ร้านเท่านั้น
เราลดไปได้มากขนาดไหน ถ้าหากลองเปรียบเทียบให้เห็นขยะ กทม. ต่อวัน มีขยะสูงถึง 8.7 ล้านกิโลต่อวัน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นขยะอาหารก็เฉลี่ยแล้วราว ๆ 4 ล้านกิโลต่อวัน ซึ่งปริมาณมันเยอะมหาศาลมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราไม่เริ่ม ตัวเลขหลักหมื่นที่ช่วยลดปริมาณขยะก็จะไม่มีวันเกิดเช่นกัน
ส่วนเรื่องของ Repetition ก็มีการคาดหวังโดยเฉพาะเรื่องของร้านอาหาร ว่าเขาจะทำต่อหรือไม่ ซึ่งมี Feedback ที่เกินคาดของร้านอาหารในหลาย ๆ ร้านที่อยากจะทำต่อ และอยากทำมากกว่าที่วางโครงการไว้ ตัวอย่างเช่น ร้าน Mana.Chujai ที่ก่อนหน้าปฏิเสธไม่มา แต่สุดท้ายเมื่อเขาทำ ในวันนี้เขาสามารถแยกขยะทั้งร้าน พร้อมกับเอาขยะต่าง ๆ ไปทำรีไซเคิล หรือนำกากกาแฟไปส่งต่อให้กับลูกค้าในร้าน สร้าง Community กลายเป็นว่า เขาได้ทำมากกว่าที่โปรเจกต์คาดหวังด้วยซ้ำ! นี่แหละคือ Repetition อย่างแท้จริง!
อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Repetition ของลูกค้าหรือผู้บริโภค ก็มีความคาดหวังว่าประเด็นนี้จะเข้าไป Trigger ให้เขาได้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เช่น อาจจะพกกล่องอาหารไปด้วย กินไม่หมดก็เก็บใส่กล่องเพื่อกินในมื้อถัดไป หรือ สั่งอาหารแต่พอดีไม่กินเหลือ เป็นต้น การเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เขากลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง นี่คือเป้าหมายสำคัญของคุณแพรและทีม ในวันนี้มันอาจจะ Repetition ไม่ได้ทันทีกับทุกคน แต่อย่างน้อย ๆ ก็มีหลายคนเริ่มเข้าใจ และตระหนักถึงเรื่องขยะอาหารมากขึ้น และพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ทำได้อย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้เรื่องของสิ่งแวดล้อม มันคือ Mindset ของคน
- บางคน อาจจะมองว่าเรื่องนี้ไกลตัว ฉันไม่ทำก็ไม่เสียหาย
- บางร้านค้า ชอบคิดว่าสิ่งนี้มันคืออุปสรรค มันคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
- บางร้านค้า มองว่าสิ่งนี้มันจะเพิ่มรายจ่าย และมีแต่ความยุ่งยากเพิ่มขึ้น
แต่ในวันนี้หากคุณเปลี่ยน Mindset จากคำว่า “ทำไม่ได้, ไม่เกี่ยวกับฉัน” เป็นคำว่า “กล้าที่จะทำ, กล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อโลก เพื่อตัวเราเอง” มันจะส่งผลลัพธ์มหาศาลอย่างแน่นอน เช่น
ถ้าร้านอาหารมีระบบคัดแยกขยะชัดเจน ต้นทุนแรกที่จะช่วยเราได้คือ ไม่โดนจ่ายค่าแยกขยะของ กทม. ซึ่งกฎหมายอนุมัติแล้ว การไม่แยกขยะ จะเท่ากับการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับร้านอาหารของคุณ
ต้นทุนเรื่องของถุงขยะจะลดลง เพราะบางร้านทิ้งขยะมากถึง 7-8 ถุง แต่กลับกันร้านที่ใส่ใจในการคัดแยกขยะ สามารถแยกขยะเศษอาหารมาทิ้งไว้ด้วยกัน ช่วยลดจำนวนได้ 4 ถุง ซึ่งเกือบครึ่งเลยทีเดียว รวมถึงรอบในการทิ้งขยะก็ลดลง ช่วยเรื่องต้นทุนเวลาได้อีก
ในมุมของคนทั่วไปก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายเราได้มากขึ้น สั่งแต่พอดีกิน หรือใครที่ชอบกินหลายอย่าง แต่กินเหลือก็ยังสามารถเก็บอาหารเหล่านั้นใส่กล่อง เพื่อนำกลับไปกินต่อที่บ้านได้ ซึ่งช่วยเซฟค่าใช้จ่าย และเซฟร้านอาหาร และเซฟโลกไปพร้อม ๆ กัน
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือ ‘Mindset’ อย่ากลัวที่จะเริ่มทำ และอย่ามีเงื่อนไขในการทำ ลองกลับมาตั้งคำถามว่าเราจะเริ่มตอนไหน
เพราะ Food Waste เป็นเรื่องของทุกคน
เพราะพวกเราต้องกินทุกวัน!
หากใครสนใจเรื่องราวของ ‘กินหมดจาน’ และ ‘Restaurant Makeover’
สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สัมภาษณ์: ชญานิศ จำปีรัตน์
เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ