🌎 State of the Global Workplace 2023
เป็นหนึ่งในรายงานจาก ‘เสียงเรียกร้องของพนักงานทั่วโลก’ ถึง 10 ภูมิภาคทั่วโลก จาก Gallup บริษัทที่มุ่งหวังว่า “คน” คือแก่นสำคัญในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ โดยรวบรวมการสำรวจความเห็นจากพนักงานที่มีคุณภาพในการเก็บข้อมูล เกี่ยวกับวัฒนธรรมของบริษัท, ความผูกพัน และความเป็นอยู่ต่าง ๆ ของพนักงาน ที่มีการวิจัยในทุก ๆ ปี
โดยในบทความนี้จะขอแบ่งออกเป็น 4 เรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นเสียงสัญญาณจากพนักงานทั่วโลกถึงผู้นำองค์กร เพื่อให้ผู้นำสามารถรับมือ และจัดการเรื่องเหล่านี้ให้ดีขึ้น
🌎 1. พนักงานส่วนใหญ่ทั่วโลกมี ‘อัตราการลาออกอย่างเงียบ ๆ’ (Quiet Quitting) สูงที่สุด โดยจะขอแบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่ม
👉 1.1 กลุ่มที่ 1: Thriving at work คิดเป็น 23% ของพนักงานทั่วโลก
พนักงานกลุ่มนี้จะภูมิใจในงานที่ทำ มีเป้าหมายในการทำงาน และค้นพบว่างานของตนมีความหมาย รู้สึกเชื่อมโยงกับทีมในองค์กรได้เป็นอย่างดี เห็นเป้าหมายในการเติบโต
👉 1.2 กลุ่มที่ 2: Quiet Quitting คิดเป็น 58% ของพนักงานทั่วโลก
พนักงานกลุ่มนี้คือตัวแทนของคนที่ ‘ดูนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะเลิกงานนะ’ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีแรงจูงใจในการทำงานเ เน้นทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ ขาดแรงจูงใจหรือเป้าหมายในการทำงาน และที่สำคัญคนกลุ่มนี้มีอัตราความเครียด และหมดไฟในการทำงานสูงมาก
👉 1.3 กลุ่มที่ 3: Loud Quitting คิดเป็น 18% ของพนักงานทั่วโลก
พนักงานกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นตัวอันตรายของจริง เน้นสร้างความเสียหายให้กับองค์กร และชอบต่อต้านผู้นำ และไม่พอใจกับผลตอบแทนที่ได้จากการทำงาน หรือร้ายแรงกว่านั้นชอบไปโพสต์เรื่องเสียหายให้องค์กร โดยเอาความรู้สึกส่วนตัวเพื่อบิดเบือนความจริง
โดยสรุปจากเรื่องนี้
พนักงานส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมน้อยเป็นกลุ่ม Quiet Quitting สูงที่สุด โดยทาง Gallup ประมาณการว่าอัตราการมีส่วนร่วมที่ต่ำลง มีค่าใช้จ่ายต่อเศรษฐกิจโลกมากถึง 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็น 9% ของ GDP โลก
นั่นหมายถึง “ผู้นำ” ในองค์กรต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงาน ให้เขาได้เห็นคุณค่าในงานที่ทำ คนกลุ่ม Quiet Quitting สามารถเติบโตไปเป็น Thriving at work ได้หากผู้นำเปิดโอกาสให้เขาได้เติบโต สร้างกำลังใจภายในองค์กร
บางครั้งคนกลุ่มนี้อาจจะรอผู้นำอย่างคุณเดินมาพูดคุยอย่างหวังดี และเห็นคุณค่าในตัวเขาก็ได้ แต่ในทางกลับกันคนกลุ่ม Loud Quitting ค่อนข้างอันตราย ถ้าหากให้อยู่ร่วมกันภายในองค์กร ซึ่งคนเป็นผู้นำองค์กร หรือ HR ไม่ควรเพิกเฉยเรื่องนี้ เพราะไม่มีองค์กรไหนต้องการคนกลุ่มนี้อย่างแน่นอน
🌎 2. อัตราความเครียดของพนักงานทั่วโลกขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์
44% ของพนักงานทั่วโลกกล่าวว่าพวกเขาประสบความเครียดมาตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุโรคระบาดครั้งใหญ่ จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มความเครียดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia) ได้แก่ China, Hong Kong, Japan, Mongolia, South Korea, Taiwan ประเทศเหล่านี้มีระดับความเครียดสูงสุดในโลก โดยความเครียดนี้อาจมาจากการล็อกดาวน์ในปี 2022 รวมถึงความกดดันในงาน, ความคาดหวังในครอบครัวที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ, อัตราเงินเฟ้อ, ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
โดยประเทศไทยแม้จะเป็นเอเชียร่วมกัน แต่อยู่ในกลุ่มของ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งมีระดับความเครียดที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค นั่นหมายความว่าไทยเราเมื่อเทียบกับระดับความเครียดในภูมิภาคอื่นถือเป็นสัญญาณที่ดีกว่ามาก ๆ เพราะมีระดับความเครียดต่ำกว่าหลายภูมิภาคทั่วโลก
🌎 3. การทำงานรูปแบบ Hybrid ยังคงส่งผลดีต่อพนักงาน
Gallup ได้รวบรวมสถิติที่น่าสนว่าการทำงานแบบ Hybrid คือการผสมผสานระหว่างเข้าออฟฟิศ และทำงานจากระยะไกล ส่งผลดีในด้านการมีส่วนร่วมภายในองค์กรมากที่สุด ส่วนการทำงานที่ออฟฟิศเท่านั้น(Work On Site) ส่งผลการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด
โดยจากข้อมูลที่กล่าวมาพบว่า การทำงานจากระยะไกลช่วยในเรื่องการประหยัดค่าเดินทาง, เวลา และช่วยลดความตึงเครียดได้ แต่การทำงานในออฟฟิศก็ยังสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร และสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เหตุเพราะ ‘ความยืดหยุ่นการทำงาน’ มีความสำคัญมาก ๆ เพราะจะช่วยให้พนักงานมีอิสระและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานในปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรด้วย รวมถึงวัฒนธรรมในแต่ละที่ เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะกับองค์กร และพนักงานของคุณ
🌎 4. พนักงานส่วนใหญ่อยากให้ผู้นำใส่ใจเรื่องเหล่านี้
จากการตั้งคำถาม ‘ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานให้ดีขึ้น จะเปลี่ยนแปลงอะไร’ พบว่าพนักงานส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นใน 3 เรื่องนี้มากที่สุด
🎯 41% อยากเปลี่ยนแปลงการมีส่วนร่วมภายในองค์กร (Engagement or Culture)
👉 อยากได้การยอมรับจากคนในองค์กร
👉 อยากให้ผู้นำหรือหัวหน้าเข้าถึง และสามารถพูดกันได้อย่างเปิดเผย
👉 อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้รับคำแนะนำจากผู้นำ
👉 อยากให้ทุกคนมีโอกาสที่เป็นธรรมในการได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
🎯 28% อยากเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนและสวัสดิการ (Pay and Benefits)
👉 อยากให้เพิ่มเงินเดือนจากการทำงานหนัก
👉 เงินเดือนต้องมีสัดส่วนกับคุณสมบัติและผลงาน
👉 ต้องการบัตรกำนัลน้ำมันรายเดือนสำหรับค่าเดินทาง
👉 บริษัทควรให้รางวัลแก่พนักงานเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จ
🎯 16% อยากเปลี่ยนแปลงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Wellbeing)
👉 อยากให้บริษัทมีระบบทำงานแบบ Hybrid
👉 อยากให้บริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพและชีวิตของพนักงานอย่างจริงจัง
👉 อยากมีเวลาพักนานขึ้นเพราะสังคมทำให้เราต้องเร่งรีบ
👉 ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา
เรียกได้ว่า State of the Global Workplace 2023 ทำให้เราเห็นมุมมองจากเสียงของพนักงานทั่วโลก
โดยทาง Gallup ได้ทิ้งท้ายไว้ถึงเรื่องของ ‘บทบาทของผู้นำยุคมีความสำคัญอย่างมาก’ ไม่ว่าจะผู้นำองค์กร, ระดับผู้จัดการ, ระดับหัวหน้าที่ดูแลพนักงานไม่มาก คนเหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการสร้างองค์กรให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เกิดจากความสุข และแรงขับเคลื่อนเป้าหมายในการทำงาน
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- State of the Global Workplace: 2023 Report
- Report: State of the Global Workplace 2023 Report THE VOICE OF THE WORLD’S EMPLOYEES