คุณเป็นคนหนึ่งที่คลั่งความสมบูรณ์แบบหรือเปล่า
จากการศึกษาผู้คนกว่า 41,000 คน ซึ่งตีพิมพ์ใน Psychological Bulletin พบว่า “ภาวะสมบูรณ์แบบ” กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะคนเราเริ่มมีการเปรียบเทียบกับความสำเร็จของคนรอบข้างผ่าน Social Media และอีกส่วนมาจากการที่เราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน หรือความกดดันจากหัวหน้างานเองก็ตาม
งานวิจัยจาก York St. John University ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์การทดลองทั้งหมด 43 ชิ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมายังพบเพิ่มเติมว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ส่งผลต่อ สภาวะ Burn out ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล รวมไปถึงอายุขัยด้วย
ทำไมความสมบูรณ์แบบถึงรั้งคุณไว้ ?
ความสมบูรณ์แบบทำให้หมดกำลังใจ
การพยายามเป๊ะไปหมดทุกอย่าง ทำให้คุณหมดกำลังใจเอง การพยายามจะทำทุกอย่างให้ยอดเยี่ยมและก้าวข้ามความสามารถเดิมของตัวเองไปได้เป็นแรงผลักดันที่ดี แต่หากมากเกินไป จะทำให้คุณเริ่มไม่อยากทำมันจนอาจหมดไฟเอง ที่สำคัญเมื่อไม่สามารถไขว่คว้าสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ได้ จะทำให้คุณเกิด “สงสัย” ในตัวเอง รู้สึกเก่งไม่พอ และไม่ได้ให้รางวัลความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ แก่ตัวเอง แน่นอนเมื่อท้อใจคุณจะหมดแรงในการก้าวต่อ
คุณจะก้าวไปข้างหน้าได้ หากคุณรู้ขอบเขตของตัวเอง อะไรที่ไม่สุดโต่งจนเกินไปจะทำให้คุณลงแรงถูกจุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบหรือความสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ในทางกลับกันผู้คนที่ร่วมงานด้วยก็จะรู้สึกชอบที่ได้ทำงานกับคุณนั่นเอง
ความสมบูรณ์แบบแยกคุณจากคนอื่น
ไม่มีใครอยากทำงานกับคนที่มีควาดคาดหวังสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต้องการให้ทุกอย่างเป๊ะไปหมด คุณอาจจะทำร้ายคนรอบข้างที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป๊ะ โดยไม่รู้ตัว
แน่นอนว่าคุณคงอยากทำงานให้เนี้ยบและเป็นมืออาชีพ เลยไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าคุณมีช่องโหว่ แต่คุณจำเป็นต้องบอกให้คนอื่นรู้หากคุณต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้งานออกมาดีด้วยเช่นกัน การแสดงออกแบบนี้ถือเป็นการแสดงความจริงใจให้เพื่อนร่วมงานเห็น และทำให้ความสัมพันธ์ในการทำงานไม่ห่างเหิน
ความสมบูรณ์แบบทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
เป็นปกติที่เมื่อคุณทำผิดพลาดหรือผิดหวังจากการทำงานใดงานหนึ่ง คุณจะจำกัดความสามารถของคุณให้แคบลงกว่าเดิม และยอมรับทำแต่งานที่คิดว่าตัวเองทำได้ดี หรือเฉิดฉาย การทำเช่นนี้ทำให้คุณไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่ได้พัฒนาตัวเอง
คุณต้องเรียนรู้ที่จะรู้ว่าเมื่อไรควรพอ เมื่อไรที่คุณได้แสดงความสามารถและทำเต็มที่ในงานของคุณแล้ว แทนที่จะรอให้ผลงานนั้นสมบูรณ์แบบก่อนค่อยลงมือปฏิบัติ คุณควรจะค่อยๆ พัฒนาและเรียนรู้ไประหว่างการทำงาน ตัวคุณเองจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ในอาชีพมากกว่าที่คุณคิด และสามารถลดละการยึดถือกับความเป๊ะเกินไปได้
ความยอดเยี่ยมเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่าความสมบูรณ์แบบ เพราะความเป๊ะจำกัดความสามารถของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลงาน ความสัมพันธ์ ความสุข หรือ สุขภาวะ อย่าลืมว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% เพราะฉะนั้นลองเปลี่ยนความเป๊ะ แล้วเป็นตัวของตัวเอง ดึงความสามารถและพลังใดๆ ที่เป็นของคุณ ออกมาใช้ให้เต็มที่ นั่นแหละ คือ ความยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าการถวิลหาความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีจริง
ที่มาของข้อมูล – Perfectionism Is Bad For Your Career: 3 Most Important Things To Know