ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละคนนั้นย่อมมีมุมมองต่อเหตุการณ์นั้นๆ รวมถึงวิธีการรับมือที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ทั้งวิกฤติและโอกาส แต่ไม่ว่าจะมีมุมมองแบบไหน การมองโลกในแง่ ‘ร้าย’ หรือ ‘ดี’ ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง
บางครั้ง การมองโลกในแง่ร้ายถึงแม้จะทำให้คนเราเครียด วิตกกังวลง่าย และทำให้พลาดโอกาสดีๆ ไป แต่มันก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า มองถี่ถ้วนกว่า และมีความระมัดระวังมากกว่า ส่วนการมองโลกในแง่ดีเกินไป ก็อาจมีข้อดีที่ทำให้คนเรามีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี มีแรงจูงใจให้กล้าลงมือทำอะไรมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย แต่ก็อาจทำให้เราติดประมาทเพราะมัวแต่มองผลลัพธ์ที่ดีจนเกินไปได้
การมองโลกในแง่ดีกับแง่ร้าย ‘เกินไป’ จึงดูคล้ายจะเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ในความจริงนั้นมันเป็นเพียงการใช้อาวุธคนละแบบ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการผจญภัย การมองโลกในแง่ดี ก็คือ ‘ดาบ’ ที่จะช่วยฟาดฟันอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า ส่วนการมองโลกในแง่ร้าย ก็คือ ‘โล่’ ที่จะคอยปกป้องเราจากภยันตราย ดังนั้นทั้งสองมุมมองจึงเป็นเพียงอุปกรณ์คนละประเภทที่เราจะเอามาใช้ตามสถานการณ์ตรงหน้าที่ต่างไป เพียงแต่ว่าเราจะสร้างสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ได้อย่างไร?
วิธีสร้างสมดุลระหว่างการมองโลกในแง่ดีและการมองโลกในแง่ร้าย
1. รู้จักตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนที่มีแนวโน้มมองโลกในแง่ดีหรือร้าย โดยการประเมินตัวเองแบบไม่มีอคติ เปิดเผยและยอมรับตัวตนของตัวเอง
2. จินตนาการว่าความคิดเราเป็นเหมือนไม้กระดก ข้างหนึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี อีกข้างหนึ่งเป็นการมองโลกในแง่ร้าย หากเรามีด้านใดด้านหนึ่งที่มากเกินไป ไม้กระดกจะติดพื้น ดังนั้นลองพยายามบาลานซ์น้ำหนักของสองสิ่งนี้ ไม่ให้ไม้กระดกติดพื้นข้างใดข้างหนึ่งไปเลย ด้วยการหาอะไรมาใส่อีกด้านให้มีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งเราสามารถถ่วงความคิดที่ดูจะเป็นแง่บวกมากเกินไปได้ ด้วยการเบรกตัวเอง และมองสิ่งต่างๆ ให้รอบด้านและระมัดระวังมากขึ้น หรือถ้ามองโลกในแง่ร้ายเกินไปจนทำให้ไม่กล้าทำไม่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ ก็ลองเสริมพลังใจให้ตัวเองก้าวออกไปลงมือทำ
หรือคุณอาจลองทบทวนตัวเองด้วย ‘เทคนิค 3 P’ โดยศาสตราจารย์ Martin Seligman ผู้เป็นนักจิตวิทยาเชิงบวก
P แรก คือ Permanence (ถาวร) ประเมินว่าสถานการณ์นี้จะอยู่กับเรานานแค่ไหน ถ้าคนมองโลกในแง่ร้ายเมื่อเจอเรื่องร้ายๆ มักมีแนวโน้มมองว่าสถานการณ์นี้จะอยู่กับเรานานหรือตลอดไป ส่วนคนมองโลกในแง่ดี เมื่อเจอเรื่องดีๆ จะเพลิดเพลินไปกับสถานการณ์นั้นจนลืมไปว่ามันไม่คงทนถาวร
P ต่อมาคือ Personalization (ย้อนมองตัว) การโทษตัวเอง หรือการมองหาว่าใครเป็นคนผิดในเรื่องนี้ คนมองโลกในแง่ร้ายมักมองว่าตัวเองเป็นคนผิดและก็อาจจะจมปลักอยู่กับการโทษตัวเอง ส่วนคนมองโลกในแง่ดีจะมองว่าตัวเองไม่ได้ผิด จนอาจจะไม่ได้รับผิดชอบความผิดที่ตัวเองอาจมีส่วนสร้างได้
P ตัวสุดท้าย Pervasiveness (การมีอยู่ทั่วไป) คนมองโลกในแง่ดีเมื่อเผชิญหน้ากับความล้มเหลว จะไม่ได้เอาเหตุการณ์นั้นมาตัดสินว่าตัวเองล้มเหลวไปทุกเรื่อง ความผิดพลาดจะกระจุกอยู่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายจะผูกความล้มเหลวไปกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตไปด้ว
สุดท้ายแล้ว เรามีประโยคหนึ่งที่อยากฝากไว้ ซึ่งก็คือ “Hope for the best, prepare for the worst.” ประโยคที่น่าช่วยให้เราได้สร้างสมดุลทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม เพราะหากเรามีความหวังต่อเรื่องนั้นๆ เสมอ ในขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เราก็จะมีกำลังใจและแผนรับมือที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมกลับไปสำรวจตัวเองให้เจอและสร้างสมดุลทางความคิด รวมถึงเสริมชีวิตด้วยกำลังใจกันต่อไป
เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 107 Pessimism Vs Optimism มองโลกแง่ร้ายให้ดี มองโลกแง่ดีให้ไม่ร้าย โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร
เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์