เพราะบางครั้งความเชื่อมั่นคือนวัตกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด
แน่นอน เราทุกคนล้วนรู้จัก PIXAR สตูดิโอผู้สร้างแอนิเมชันชื่อดังอย่าง Toy Story, Monsters, Inc., The Incredibles, Cars กันเป็นอย่างดี เพราะงานของพวกเขาได้รับการันตีด้วยรางวัล คำชม และรายได้อย่างล้นหลาม จนเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าองค์กรแห่งนี้มีความ Creativity อย่างมาก
แต่อะไรที่ทำให้ PIXAR สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นน่ะเหรอ แน่ล่ะว่าเรื่องงบประมาณ ความเก่งกาจ นวัตกรรมอาจมีส่วนสำคัญ แต่หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ที่นี่มี Creativity ที่ดีก็คือวัฒนธรรมแห่งความเชื่อมั่นอันเรียกว่า Braintrust โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วย ผลิตนวัตกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ในแบบ PIXAR ออกมา
ตามข้อมูลของเอ็ดวิน แค็ตมัล (Edwin Catmull) อดีตประธานกรรมการของพิกซาร์ได้กล่าวว่า Braintrust คือการประชุมด้วยความเชื่อมั่นว่า คนในองค์กรจะเสนอแนะไอเดียอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับโปรเจกต์ใหญ่ที่กำลังพัฒนา โดยหากพูดง่าย ๆ การ Braintrust ก็เหมือนกับการรวมหัววิจารณ์งาน โดยผู้ทรงคุณวุฒินั่นแหละ
PIXAR จะใช้การประชุม Braintrust เพื่อผลักดันความเชื่อมั่นไปสู่ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ โดยจะจัด Braintrust ทุก ๆ 2-3 เดือนเพื่อพูดคุยถึงโปรเจกต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ในวันที่มี Braintrust นั้นกฏหนึ่งที่องค์กรยึดถือคือ การที่ทุกคนมาอยู่ที่ห้องประชุมนี้ไม่ใช่เพราะจะปรับเปลี่ยนหรือขโมยภาพยนตร์จากเจ้าของโปรเจกต์ แต่พวกเขาจะมารวมกันที่นี่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะยกระดับผลงานให้ดีขึ้น โดยมีการให้ฟีดแบ็กที่ดีเพื่อปรับปรุงผลงาน ตัวอย่างเช่น
👉 คอยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นในหนัง?
👉 คอยเสริมว่ามีอะไรที่หายไป และควรได้รับการพัฒนา?
👉 ค้นหาบทส่วนไหนที่ไม่ชัดเจน?
👉 ค้นหาอะไรในหนังที่ดูไม่สมเหตุสมผล?
สิ่งที่ทำให้ Braintrust แตกต่างจากการประชุมแบบอื่นก็คือ เมื่อก้าวเข้ามาในห้องประชุมแล้ว ทุก ๆ คนจะให้เกียรติ และมีความเชื่อมั่นต่อคนอื่น ๆ แม้ที่นี่จะมีคนที่ฉลาดอยู่รวมกันกับคนธรรมดา แต่การประชุมนี้ก็จะสนับสนุนให้ทุกคนเปิดใจ และรับคอมเมนต์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่พูดออกไปจะดูตลก เพราะคนที่อยู่ในห้องประชุมจะสามารถคอมเมนต์งานตรง ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไล่ออก หรือโดนเพ่งเล็งในภายหลัง
เราจะพบว่าจุดเด่นของวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ที่ดีคือ การทำให้ผู้คนรู้สึกอิสระที่จะแบ่งปันความคิด ความคิดเห็น และคำวิจารณ์ เพราะการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง อาจจะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถพัฒนาได้
ส่วนที่สำคัญที่สุดของ Braintrust จึงเป็นการที่แม้ไม่มีอำนาจ แต่ทุกคนก็มีความเชื่อมั่น เพราะทุกอย่างจะจบลงที่ห้องประชุม ซึ่งเมื่อประชุมเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าของโปรเจกต์ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคอมเมนต์ที่ได้รับก็ได้ แต่การประชุมนี้แหละ คือช่วงเวลาที่สำคัญกว่า เพราะเป็นการให้คนจากแผนกต่าง ๆ ถอดหัวโขนของตัวเองออกมาเพื่อแชร์ความคิด และให้คำวิจารณ์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อทีมสร้าง ด้วยการมองผ่านเลนส์ของคนดูได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเชิงกระบวนการสร้างสรรค์ไอเดีย
การทำ Braintrust ช่วยให้เราหันกลับมามองตัวเอง และสร้างความเชื่อมั่นกับงานมากขึ้น เพราะการที่เราอยู่กับโปรเจกต์มาอย่างยาวนาน เมื่อทำไปเรื่อย ๆ เราอาจเกิดอาการหลงทาง เพราะขลุกกับงานมากเกินไป ดังนั้นแล้ว การถอยออกมา เพื่อมองงานผ่านเลนส์ของคนอื่นนั้น ก็ช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งที่มองข้ามไป เพราะบางครั้ง มุมมองที่ตรงไปตรงมาจากบุคคลภายนอก อาจช่วยให้เราสร้างสรรค์งานที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด โปรเจกต์ใหญ่ก็ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันนั้น เมื่อจะสร้างโปรเจกต์ไหน จงอย่าคิดว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะการให้งานตัวเองได้ถูกมองจากคนอื่นบ้าง จะช่วยให้เราสามารถสร้างความเชื่อมั่น และนวัตกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้
หากครั้งหน้าที่จะเริ่มโปรเจกต์อะไร ลองนำวิธี Braintrust ไปใช้สิ เพราะฟีดแบ็กของคนภายนอก อาจช่วยให้เราพัฒนาผลงานให้ได้ดีขึ้นได้ โดยไม่รู้ตัว
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Inside The Pixar Braintrust
- Pixar’s Braintrust — Why It‘s Important for a Creative Culture
- How Pixar Fosters Collective Creativity