Public Space พื้นที่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ คน เมือง

Last updated on มิ.ย. 2, 2020

Posted on มิ.ย. 2, 2020

เรามักได้ยินกันบ่อยๆ กับคำพูดที่ว่าคนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ชอบไปห้าง นัดกันทีไรเป็นต้องจบที่ห้างทุกที เหตุผลส่วนใหญ่บ้างก็ว่าร้อนบ้างล่ะ บ้างก็ว่าเดินทางสะดวกบ้างล่ะ แต่เหตุใดถึงไม่มีใครมองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหานี้กันว่าแท้จริงแล้วคนเมืองชอบไปห้าง หรือเพราะในเมืองมันไม่มี ‘พื้นที่สาธารณะ’ อื่นๆ ให้คนเมืองเลือกชอบที่จะไปกันแน่

เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นสวนสาธารณะที่มีร่มไม้เขียวขจี และมีพื้นที่ให้ออกกำลังกายพักผ่อนหย่อนใจ แน่นอนว่านั่นนับเป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน แต่ด้วยคุณภาพและปริมาณที่ยังต้องทบทวนกันอยู่เรื่อยๆ มันน่าจะมีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ให้ทำกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้บริการอีกบ้างหรือเปล่าหนอ

แม้ในปัจจุบันภาคเอกชนในไทยจะปรับตัวรับเทรนด์โลกกับการสร้างพื้นที่สาธารณะไว้ภายในศูนย์การค้า หรือทำคอมมิวนิตีมอลล์หน้าตาเฟรนด์ลี่ขึ้นมา เพื่อรองรับการทำกิจกรรมของผู้คนในเมืองมากขึ้น

ทว่าสถานที่เหล่านั้นอาจเรียกว่าพื้นที่สาธารณะก็จริง แต่ ‘ความสาธารณะ’ นั้นมักไม่เกิดขึ้นจริงตาม เพราะด้วยเงื่อนไขบางอย่าง และบรรยากาศภายในที่ทำให้พื้นที่นั้นไม่ได้เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม

ย้อนกลับมาที่คำจำกัดความของพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง แท้จริงแล้วสิ่งนี้กินความไปได้ไกลกว่าสวนสาธารณะ ทางเท้า หรือลานกว้างข้างใต้สะพานข้ามทางแยก มันมีภาพที่กว้างและสร้างสรรค์ได้มากกว่านั้น อาจบรรยายในพารากราฟเดียวได้ไม่หมดแต่ที่แน่ๆ คือไม่ว่าใครต่างสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ วัย อายุ หรือสถานะทางสังคม ทั้งพื้นที่สาธารณะยังควรทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในและนอกชุมชนด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อสำคัญที่ควรพึงระลึกไว้เสมอ นั่นคือ การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ต้องคำนึกถึงการใช้งานจริงของผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้น ไม่ใช่เน้นแต่การออกแบบให้หน้าตาสวยงาม แต่ช่างแห้งแล้งจนไม่อยากมีใครอยากหรือกล้าเข้าไปใช้ เพราะแบบนั้นคงไม่สามารถเรียกว่าพื้นที่สาธารณะได้ ถ้าคิดแต่ว่าจะออกแบบยังไงให้คนมาเที่ยวชมและถ่ายภาพแชร์ลงโซเชียลมีเดียกันอย่างเดียว

พื้นที่สาธารณะอาจเป็นอะไรง่ายๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น ตลาด ลานกีฬา ลานว่าง ทางเดินเลียบคลอง หรือกระทั่งพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ ซึ่งหากลองไปสำรวจพื้นที่สาธารณะของแต่ละประเทศอย่างพินิจ พิเคราะห์ เราจะพบว่าสถานที่เหล่านั้นล้วนสะท้อนถึงมิติการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน

เดิมทีพื้นที่แห่งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังส่งผลลบต่อประชาชนผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียง แต่เมื่อรัฐบาลเห็นความสำคัญของพื้นที่ ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลพลิกโฉมใหม่ กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบโดยเข้าใจพฤติกรรมของคนในพื้นที่จริงๆ พื้นที่สาธารณะนั้นยิ่งจะมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าใครก็รู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน จนอาจต่อยอดให้เกิดเป็นคอมมิวนิตีใหม่ขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันพื้นที่ตรงนั้นอาจกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ สร้างมูลค่ามหาศาลให้คนในชุมชนไปด้วย

ครั้งนี้ เราขอยกตัวอย่างพื้นที่สาธารณะของประเทศใกล้ๆ ซึ่งเราสามารถนั่งเครื่องบินไม่กี่ชั่วโมงถึงอย่างเกาหลีใต้และจีนมาถอดบทเรียนกัน ว่าเหตุใดสถานที่เหล่านี้ของเขาถึงน่าสนใจและประสบความสำเร็จจนกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวได้

คลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon) กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

Public Space

เมื่อเอ่ยถึงการพลิกฟื้นพื้นที่เก่าให้กลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่มีความเป็นสาธารณะและสุดสร้างสรรค์ สายเที่ยวหลายคนน่าจะนึกถึงคลองชองกเยชอน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คลองชองเกชอน หรือ ชองเคยอน ในแดนกิมจิเป็นอันดับต้นๆ แน่ เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่เดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ หนึ่งในหมุดหมายสำคัญต้องมีที่นี่รวมอยู่ด้วย เสมือนเป็นแลนด์มาร์กในกรุงโซลไปแล้ว

คลองแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณยุคของราชวงศ์โซชอน อายุรวมกว่า 600 ปี มีความยาวเกือบ 6 กิโลเมตร แรกเริ่มลำคลองก็ยังใสสะอาดปลอดภัย ประชาชนใช้งานได้ ทั้งยังกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลอง ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นคลองสกปรกเน่าเหม็นหลังจากสงครามญี่ปุ่น-เกาหลี บวกกับพื้นที่ริมคลองมีผู้อาศัยหนาแน่นขึ้น ส่งผลให้เกิดระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งแทนที่จะปรับปรุงน้ำให้ดีขึ้น รัฐบาลในสมัยนั้นกลับกลบปัญหาด้วยการสร้างทางด่วนยกระดับทับ สร้างความแออัด เกิดมลพิษทางเสียง กลิ่น และอากาศ และปัญหาเรื่องความปลอดภัยของสิ่งก่อสร้างมาเป็นเวลานาน

เท่านั้นยังไม่พอ จากปัจจัยด้านบนที่กล่าวมาส่งผลให้การพัฒนาของย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) ของย่านนี้หยุดชะงักหลังจากมีการสร้างทางด่วน ประชาชนและการจ้างงานก็ลดน้อยลงทุกปี แหล่งธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมขาดความสามารถในการแข่งขัน เรียกว่าได้รับผลกระทบทุกองคาพยพ

ทว่าในปี 2002 ผู้ว่าการกรุงโซลในขณะนั้นได้ตัดสินใจพลิกฟื้นคลองชองเกซองให้กลับมาเป็นพื้นที่อันอุดมด้วยวัฒนธรรมอีกครั้ง โดยลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ย่านนี้ให้สวยงามและมีคุณภาพมากขึ้น มีการรื้อทางยกระดับออก ขุดลอกคูคลองใหม่ พร้อมกับฟื้นฟูธรรมชาติสองฝั่งคลอง จนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะสุดฮิตของชาวกรุงโซลและนักท่องเที่ยว

Public Space

ขณะเดียวกันได้มีการสร้างน้ำพุตลอดแนว ลานกิจกรรม ทางเดินเลียบคลอง และสะพานเพิ่มกว่า 20 แห่ง ซึ่งแม้ว่าช่วงก่อสร้างจะมีปัญหารถติดมาก แต่เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นประชาชนต่างชื่นชมกับการลงทุนครั้งนี้ เพราะนอกจากสภาพแวดล้อมและอากาศจะดีขึ้นมากกว่าเดิม จนมีการค้นพบปลา นก และแมลงสายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นแล้ว บริเวณนี้ยังกลายเป็นย่านศูนย์กลางทางธุรกิจใหม่ เกิดการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึงหลักแสนล้านบาท

จุดที่ทำให้การพัฒนาคลองชองเกซองกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพและมีความเป็นสาธารณะจริงๆ คือกระบวนการปรับปรุงพื้นที่และออกแบบ โดยอ้างอิงจากปัญหากับข้อด้อยของพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ของประชาชนในย่านนั้น ทางรัฐบาลของเกาหลีใต้ไม่ได้แค่ออกแบบพื้นที่ใหม่ แต่ยังสนใจปัญหารถติด ความแออัดของชุมชน และมลพิษฝุ่นและเสียงรบกวนของการก่อสร้าง

ในการแก้ไขปัญหาการค้าขายในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจตลาดและสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งสำนักงานที่ปรึกษาในตลาด ทั้งยังจัดประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมการทำกิจกรรมทางธุรกิจ ซัพพอร์ตผู้ค้าในด้านการเงิน และมีการจัดการดูแลเป็นพิเศษสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าริมทาง เป็นต้น ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ยังติดตามการเปลี่ยนแปลงของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างการดำเนินงาน จนถึงช่วงเวลาที่เสร็จสิ้น ไม่ใช่ว่าทำๆ ให้เสร็จไปแล้วปล่อยทิ้งร้างเสียทั้งพื้นที่ ทรัพย์สิน และเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเกาหลีถึงพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหากพิจารณาโครงการคลองชองเกซองอย่างลงลึกเสียหน่อย คงเห็นภาพคร่าวๆ ที่รัฐบาลของเขาทำงานกัน

อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำหมิงหู  (Minghu Wetland Park) เมืองหลิวผานซุย ประเทศจีน

Public Space

ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจอีกแห่งอยู่ในบ้านเกิดของเจ้าช่วงช่วงกับหลินฮุ่ย ความพิเศษของอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำหมิงหู ไม่ใช่แค่การเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในเมืองให้ดีขึ้น

อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำหมิงฮูเป็นโปรเจกต์ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลิวผานซุย  ริมแม่น้ำ Shuicheng ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ พัฒนาระบบพื้นที่เปิดโล่งในเมือง รวมถึงเพิ่มมูลค่าที่ดินริมน้ำ จึงทำให้เกิดการกู้คืนภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ Shuicheng กลับมาในฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางนิเวศวิทยาที่จะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศในภูมิภาค ปัจจุบันที่นี่ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปรียบเป็นชีวิตของเมืองผ่านการใช้ประโยชน์ของพืชพรรณนานาชนิดและเขื่อนธรรมชาติ

หากย้อนกลับไปยังอดีต เมืองหลิวผานซุย เป็นที่รู้จักในเรื่องภูมิอากาศที่เย็นสบาย และเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ในหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนโดยมีแม่น้ำ Shuicheng ไหลผ่าน แม้เมืองนี้มีพื้นที่เพียง 60 ตารางกิโลเมตรแต่กลับมีประชากรหนาแน่นถึง 0.6 ล้านคน เนื่องจากช่วงนั้นมีการรณรงค์ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลเมืองจึงมอบหมายให้ทีมสถาปนิกภูมิทัศน์พัฒนากลยุทธ์แบบองค์รวมเพื่อแก้ไขปัญหาร้ายแรงหลายประการ

ด้วยความที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักที่สร้างขึ้นในช่วงสงครามเย็น ประชาชนจึงได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษทางอากาศและทางน้ำเป็นเวลานาน บวกกับมีปัญหาพายุกับน้ำท่วมในช่วงมรสุม และประสบความแห้งแล้งอย่างหนักในหน้าร้อนจากหินปูนที่มีรูพรุน ทำให้แม่น้ำ Shuicheng ที่เคยคดเคี้ยวในอดีตกลายเป็นคูน้ำที่ไม่ชวนมอง ทั้งยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ส่งผลต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ยิ่งไปกว่านี้ในเมืองยังมีพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงพอ ระบบน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เมืองกลับกลายเป็นสนามทิ้งร้างหลังบ้าน กองขยะ และอันตราย ด้วยเหตุนี้เองการสร้างทางเท้าเพื่อเข้าถึงพื้นที่สีเขียวจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นขนาดนี้

Public Space

กลยุทธ์ชะลอการไหลของน้ำจากเนินเขาลาดชันและสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศทางน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำ กับแก้ไขปัญหาพายุ การทำให้ระบบน้ำกลับมาใช้งานได้ และการพลิกโฉมให้เมืองอุตสาหกรรมกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ คือหนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จนสุดท้ายก็เกิดเป็นโครงการอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำหมิงหูแบบที่เราเห็น

ทีมภูมิสถาปนิกวางแผนสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งนี้ขึ้นมาโดยเน้นการระบายน้ำของแม่น้ำ Shuicheng และในเมืองเป็นหลัก มีการสร้างระบบจัดการน้ำฝน บ่อกักเก็บน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในเมือง ทั้งยังย้ายเขื่อนคอนกรีตออกเพื่อสร้างระบบนิเวศทั้งในน้ำและชายฝั่ง ซึ่งนั่นช่วยบำบัดน้ำให้สะอาดขึ้น

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของที่นี่คือ การสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน โดยมีทั้งทางเท้าและเส้นทางจักรยาน ศาลา และที่นั่งมากมายอันหลอมรวมไปกับธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและมีภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว การออกแบบสิ่งแวดล้อมของอุทยานพื้นที่ชุ่มแห่งนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้งานได้เรียนรู้ธรรมชาติไปในตัว ซึ่งตัวสะพานสายรุ้งที่เชื่อมต่อทุกด้านของอุทยานถือเป็นตัวเอกที่ทำให้ผู้คนทั้งใกล้และไกลต่างหลั่งไหลมาเยี่ยมชม จนกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ ถือเป็นการพลิกโฉมเมืองอุตสาหกรรมที่มีสภาพแวดล้อมไม่น่าดูและเป็นอันตรายสู่เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะอันสวยงาม มีทุ่งดอกไม้อันสวยงามและแม่น้ำที่ได้รับการฟื้นฟู สมกับการยกย่องว่าเป็นโครงการตัวอย่างของการประสานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในยุคใหม่

นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศที่เห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะและรู้ว่าควรพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ทั้งเมืองและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ใช่แค่มีคนเรียกร้องที ก็ตั้งงบประมาณจ่ายไปโดยไม่คำนึงถึงการออกแบบและการใช้งาน เพราะสุดท้ายแล้วพื้นที่สาธารณะแห่งนั้นอาจกลายเป็นแค่พื้นที่ที่โชว์ความไร้ศักยภาพของเจ้าของโครงการเสียเอง

อ้างอิง :

เรื่อง : 28 พฤศจิกายน
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags