อยากทำงาน แต่ก็อยากมีเวลาพัก วิจัยเผย พนักงาน ‘ไม่ได้ขี้เกียจ’ แต่อยากคอนโทรลเวลาเอง

งานวิจัยบอกว่า พนักงานจะมีทำงานได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อพวกเขามีอำนาจจัดสรรเวลาเองได้ ส่วนเจ้านายกลับมองว่า ต้องเรียกกลับเข้าออฟฟิศจะได้ใกล้หูใกล้ตามากกว่า แบบไหนช่วยให้เกิด productivity มากกว่ากัน? ตามต่อได้ในบทความนี้

Last updated on ต.ค. 16, 2024

Posted on ต.ค. 8, 2024

การมาถึงของทศวรรษ 2020 เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19 หลังจากนั้นโลกการทำงานก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม ‘Knowledge Workers’ หรือคนทำงานที่พึ่งพาแลปท็อปและอินเทอร์เน็ตเป็นอาวุธหลัก พวกเขาค้นพบแล้วว่า ออฟฟิศไม่ใช่คำตอบของการเพิ่ม productivity ในการทำงาน บางคนยังแสดงให้เห็นอีกว่า การทำงานที่มีความยืดหยุ่นช่วยให้ปริมาณและคุณภาพงานเพิ่มขึ้นกว่าครั้งไหน ๆ

แต่ภายหลังโรคระบาดสิ้นสุดลง กลับมีผู้บริหารจำนวนมากที่ต้องการเรียกคนทำงานกลับเข้าออฟฟิศ จนทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมาอีกระลอก หลายองค์กรประสบปัญหาเรื่องการรักษาคนเก่งไว้กับตัว แม้จะเสนอเรทเงินเดือนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับการได้จัดสรรเวลาด้วยตัวเอง โดยเฉพาะ Gen Z ที่ต้องการทำงานแบบไฮบริดมากกว่า

‘สเตฟานี เทปเปอร์’ (Stephanie Tepper) และ ‘นีล เลวิส จูเนียร์’ (Neil Lewis Jr) นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อธิบายถึงการเกิดขึ้นของมวลความรู้สึกเหล่านี้ว่า เป็นเพราะคนทำงานคิดไตร่ตรองถึงรูปแบบงานที่พวกเขาต้องการมาอย่างดีแล้ว เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับการทำงานเป็นหลัก ประสบการณ์จากการทำงานที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจึงมีผลอย่างมากกับความพึงพอใจในชีวิต

แต่ความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตและงานไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ทั้งสองคนจึงทำการศึกษาวิจัยผ่านการตั้งคำถามว่าด้วยเรื่องการควบคุมเวลา โดยตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า หากคนทำงานสามารถคอนโทรลเวลาได้เองจะทำให้พวกเขามีความสุขจากการทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็น ‘Pain Point’ ที่เกี่ยวโยงไปถึงปรากฏการณ์เรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศด้วย หลายคนถูกตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง การกลับสู่ลูปเดิมจึงอาจเป็นผลดีกับองค์กรมากกว่า

ขณะที่ทั้ง ‘เทปเปอร์’ และ ‘เลวิส จูเนียร์’ มองต่างออกไป พวกเขาคิดว่า อันที่จริงแล้วพนักงานไม่ได้ทำงานได้น้อยลงเพราะไกลหูไกลตาเจ้านาย พวกเขายังต้องการทำงานต่อไป เพียงแต่อำนาจในการบริหารจัดสรรเวลาเองต่างหากที่ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดแรงจูงใจในการตั้งเป้าหมายระยะยาวด้วย

ไม่อยากเข้าออฟฟิศเพราะขี้เกียจ VS ไม่อยากเข้าออฟฟิศเพราะอยากเป็นเจ้าของเวลา

เพราะการทำงานจากที่ไหนก็ได้เอื้อให้คนทำงานได้เป็นเจ้าของเวลาเต็มตัว จากเดิมที่การเข้าออฟฟิศมีกำหนดเวลาตั้งแต่เข้างาน กินข้าว เลิกงาน ฯลฯ นี่ยังไม่รวมถึงเวลาที่ต้องเผื่อสำหรับการเดินทางไปและกลับบ้าน สถิติที่ Harvard Business Review ยกมา ระบุว่า พนักงานใช้เวลาในการเดินทางไปออฟฟิศรวมกันแล้วเฉลี่ยมากถึง 10 วันต่อปี ซึ่งนี่เป็นตัวเลขจากสหรัฐอเมริกา ไม่แน่ว่า ของประเทศไทยเมืองรถติดอาจจะกินเวลาเป็นเดือนเลยก็ได้

ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมได้ข้อสรุปออกมาว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในชีวิต คือความยืดหยุ่นที่คนทำงานออกแบบตารางชีวิตได้เอง ได้สัมผัสความรู้สึกที่เหนือกว่า มีอำนาจในการควบคุมเวลา ขณะที่ฝั่งนายจ้างบางรายกลับมองว่า เป็นเพราะพนักงานไม่อยากทำงานอีกต่อไปแล้ว

ในความเป็นจริงพนักงานไม่ได้ต่อต้านเพราะไม่อยากทำงานหรือทำด้วยเวลาที่น้อยลง แต่คือความยืดหยุ่นระหว่างทางที่สัมพันธ์กับ ‘Well-being’ ในมิติอื่น ๆ อาทิ สามารถทำภารกิจบางอย่างไปพลางระหว่างประชุมผ่านโปรแกรม Zoom ได้มีเวลาออกกำลังกายมากขึ้น เพราะได้เวลาคืนมาจากการเดินทางไปทำงาน เป็นต้น


คุยกับพนักงานให้มาก บาลานซ์ความยืดหยุ่นและกฎกติกาไปด้วยกัน

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายได้ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันเยอะๆ ฝั่งนายจ้างควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนทำงานอย่างสม่ำเสมอ ฝั่งคนทำงานเองก็จะได้เข้าใจโครงสร้างมากขึ้น ส่วนนายจ้างหรือหัวหน้าเองก็จะเห็นอีกมุมว่า ทำไมคนทำงานจึงต้องการความยืดหยุ่น และการได้เป็นเจ้าของเวลาช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงานอย่างไร

ทั้งนี้ งานบางประเภทก็ไม่สามารถทำงานจากทางไกลได้ เช่น งานในโรงงาน งานที่ต้องทำร่วมกับสายพานการผลิต ส่วนนี้ก็คงจะต้องดำเนินตามครรลองต่อไป องค์กรอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในส่วนอื่น ๆ แทนที่นโยบายเรื่องการกลับเข้าออฟฟิศ


สำหรับคนทำงานคอปกขาว โดยเฉพาะกลุ่มงานที่มีเพียงแลปท็อปติดตัวก็สามารถไปได้ทุกที่ งานวิจัยนี้เชื่อว่า การโยนโจทย์ให้พนักงานควบคุมเวลาด้วยตัวเองจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้องค์กรดึงดูดคนเก่ง ๆ ไว้กับบริษัทได้ดีที่สุด เพราะคนทำงานที่พึงใจกับเวลาไม่เพียงจะช่วยให้องค์กรรักษาพนักงานกลุ่มทาเลนต์ไว้ได้ แต่ยังมีส่วนช่วยผลักดันภาพรวมองค์กรให้เติบโตไปอีกขั้น ซึ่งนี่คือเรื่องที่องค์กรไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง


แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags