หัวข้อในวันนี้จะเน้นสำหรับผู้จ้าง(ลูกค้า)โดยเฉพาะ เนื่องจากปัญหายอดฮิตที่ผู้ว่าจ้างมักจะถามบ่อย ๆ นั่นคือ “ทำยังไงถึงจะหาดีไซน์เนอร์ดี ๆ ได้” เมื่อถามต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ได้คือ เพราะดีไซน์เนอร์ที่เคยเจอมักจะทำงานไม่เสร็จ บอกให้แก้ก็ไม่แก้ ทำงานยังไงก็ไม่จบสักที
ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า ถ้าอยากทำงานดีไซน์ทำแล้วให้งานมันจบ แล้วออกมาดีอย่างที่เราอยากได้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ส่วนใหญ่ผู้จ้างมักจะอยากได้ดีไซน์เนอร์เก่ง ๆ เพราะอยากให้งานออกมาดี ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดอะไร แต่อาจเป็นการพึ่งดีไซน์เนอร์มากเกินไป เพราะส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ตัวผู้ว่าจ้างเองที่ต้องบรีฟข้อมูลได้ดีด้วย
1. หาวัตถุประสงค์ว่าทำไมต้องทำงานนี้ ทำไปเพื่ออะไร?
ส่วนใหญ่ผู้จ้างมักจะชอบบอกว่า อยากได้โลโก้หรืออยากได้โบรชัวร์ แต่ดีไซน์เนอร์ก็จะงงว่า แล้วโบรชัวร์นี้ความตั้งใจของมันคืออะไร?
สิ่งแรกที่ผู้ว่าจ้างควรบอกกับดีไซน์เนอร์คือ เป้าหมายในการทำงานดีไซน์นี้ทำเพื่ออะไร? ดีไซน์เนอร์จะได้รู้ว่าควรโฟกัสที่จุดไหน เช่น ถ้าโบรชัวร์นี้ทำเพื่อโปรโมตสินค้า มีโปรโมชันลด 50% เขาจะได้รู้ว่า คำว่า 50% ต้องทำให้เด่น ถ้าเป็นโบรชัวร์ที่พูดถึงแบรนด์ก็อาจจะไม่ต้องมีกราฟฟิกสีสันสวยงามขนาดนั้น แต่จะไปโฟกัสที่ว่าแบรนด์นี้คืออะไร ถ้าเป็นโรงแรมที่เขาใหญ่ก็จะเน้นโทนสีเขียวดูเป็นธรรมชาติ เป็นต้น เพียงแค่การบรีฟข้อแรกก็ส่งผลกระทบต่องานดีไซน์ว่าจะเปลี่ยนไปรูปแบบไหนได้เลย
2. บรีฟให้ชัด
เมื่อผู้ว่าจ้างรู้แล้วว่าความตั้งใจของงานชิ้นนี้คืออะไรแล้ว ก็ต้องเตรียมข้อมูลมาบรีฟดีไซน์เนอร์ให้ชัดเจนด้วย วิธีบรีฟให้ชัดเจนถ้าจะให้ดี
- ควรเตรียมเอกสารมาเลย วัตถุประสงค์คืออะไร ข้อมูลอย่างไรพิมพ์ออกมาให้หมด เพราะบางทีดีไซน์เนอร์อาจจดไม่ละเอียด จดไม่ทัน และที่สำคัญเอกสารนี้เอาไปเป็นหลักฐานได้ด้วย ว่าได้ทำงานครบอย่างที่ตกลงกันไว้หรือเปล่า ขจัดปัญหานี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลเมื่อพอสั่งให้แก้แล้วดีไซน์เนอร์ไม่ยอมแก้ เราก็ต้องมาดูเอกสารว่าระบุไว้ว่าอย่างไร เมื่อทำมาผิดก็ชัดเจนว่าต้องแก้ไข
ซึ่งถ้าเราบรีฟไม่ชัด แล้วฝากดีไซน์เนอร์ให้ไปดูต่อ หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดีไซน์เนอร์ถนัดหรือสนใจ เขาอาจจะช่วยได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไกลตัวเขามาก เขาก็จะทำการบ้านต่อให้เราไม่ได้เลย - สถานที่คุยควรจะนัดในที่ที่เงียบสักหน่อย เป็นงานเป็นการ พูดคุยกันแล้วรู้เรื่อง เวลาเราบรีฟจะได้ชัดเจน และดีไซน์เนอร์ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
3. เคาะให้แม่น
เคาะ คือการตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่าง ถ้าดีไซน์เนอร์ทำงานมาให้เรา แล้วเราบอกว่า แบบนี้ก็โอเคแบบลวกๆ เร็วๆ แบบก็อาจจะไม่เวิร์ก เพราะถ้าเราไม่ดูให้ละเอียดถี่ถ้วน เกิดกลับมาดูอีกทีและพบว่ามีจุดที่ไม่โอเคแล้วบอกให้ดีไซน์เนอร์แก้แล้วแก้อีก ทำให้ดีไซน์เนอร์เองแก้งานยาก แก้งานบ่อย งานก็จะเละ ดังนั้นไม่ต้องรีบตัดสินใจ ใช้เวลากับงาน แล้วค่อยสรุปให้ทีเดียวว่ามีจุดที่ต้องแก้ไขกี่จุด
อีกเรื่องสำคัญคือ บางครั้งคนที่มีอำนาจตัดสินใจไม่ได้มาเคาะ เพราะบางทีผู้ว่าจ้างอาจเป็นฝ่ายการตลาด แต่ก็มีหัวหน้าฝ่ายการตลาดอีกทีหนึ่ง ทางที่ดีมีกี่คนที่ต้องตรวจก็ให้ตรวจให้หมด แล้วค่อยส่งให้ดีไซน์เนอร์แก้ทีเดียว
งานดีไซน์ก็ไม่ต่างกับการสร้างบ้าน ถ้าสร้างบ้านเสร็จแล้วจะมาให้เขาซ่อมนี่หน่อย ทุบกำแพงนี้ทิ้ง ก่อกำแพงตรงนี้เพิ่ม มันจุกจิก คนทำก็อารมณ์เสีย พอแก้แล้วงานก็ไม่ละเอียดหรือแก้แล้วไปกระทบกับโครงหลัก
4. Brand Character ของเราเป็นอย่างไร
แบรนด์หรือสินค้าของเรามีอะไรที่ดีไซน์เนอร์ต้องรู้ เช่น แบรนด์เราต้องใช้สีน้ำเงิน (สีน้ำเงินแบบไหน มี code สีไหม?)
โลโก้ – มีโลโก้มีกี่แบบ ส่งให้เขาเป็นไฟล์ก็ได้ ลูกค้าน่ารัก ๆ บางคนก็จะพิมพ์เอกสารมาเลยว่าโลโก้ที่ใช้ได้กี่แบบเพื่อความแม่นยำ
ฟอนต์ – ต้องใช้ฟอนต์อะไรไหม บางแบรนด์ก็มีฟอนต์ของตัวเอง บางแบรนด์เขาจะมีกำหนดเลยว่า ระยะห่างระหว่างโลโก้กับตัวอักษรเท่าไหร่
อีกเรื่องสำคัญที่ควรบอกคือ คู่แข่งของแบรนด์เป็นใคร? เพราะดีไซน์เนอร์ที่ดี ไม่ใช่แค่ศึกษาลูกค้าอย่างเดียว แต่เขาต้องศึกษาแบรนด์คู่แข่งของลูกค้าด้วยว่า แบรนด์คู่แข่งเขาไปทิศทางนี้ แล้วเราควรไปในทิศทางไหน เรื่องของแบรนด์ถ้าบอกให้ชัดตั้งแต่แรกก็จะได้ไม่ต้องแก้อีก
5. อยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร บอกมาเลยทีเดียว
ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องสี บางที่ไม่เอาสีดำเพราะเป็นกาลกินี หรือฝ่ายการเงินไม่อยากได้สีแดงเพราะรู้สึก negative บางทีมีรูปบางแบบที่ชอบ แนวที่ชอบ ซึ่งรูปก็ชัดเจนว่าเราชอบแบบไหน หรืออะไรที่ไม่ชอบบอกเขาไปให้หมดแล้วให้เขาไปคิดมา
พอถึงจุดนี้อาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนี้ฉันบอกหมดเลย แล้วดีไซน์เนอร์ไม่ต้องคิดเลยใช่ไหม? คือถ้าอะไรที่เรารู้ว่าถ้าเขาทำมาแล้วเราไม่เอาแน่นอน เราก็บอกไปเถอะ มันเหมือนเราอยากกินผัดไทยแต่ไม่กินผัก บอกไปเลยว่าเอาผัดไทยไม่ใส่ผัก ดีกว่าสั่งผัดไทยแล้วมาเขี่ยผักออก มันยุ่งยาก เพราะดีไซน์เนอร์ก็เหมือนพ่อครัวเขารู้ว่าต่อให้ไม่มีผักเขาจะปรุงผัดไทยยังไงให้ยังออกมาอร่อยและยังคงเป็นผัดไทยอยู่
6. Target เป็นใคร?
Target คือ ลูกค้าของลูกค้าอีกที ถ้าจะทำโลโก้ โลโก้นี้ใครเป็นลูกค้าของผู้ว่าจ้าง แบรนด์ของเราเป็น global ไหม? หรือเน้นแค่คนไทย
คำว่า Target เป็นใครเราจะแยกไปเลยว่า เป็นเด็กไหม ถ้าเป็นเด็กกราฟฟิกจะเป็นการ์ตูนน่ารัก สีสันสดใส หรือถ้าเป็นผู้หญิง ก็จะเน้นความมุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้ง และถ้าเป็นผู้หญิงวัยรุ่นหรือมีอายุแล้ว งานก็จะออกมาคนละแบบกัน หากลูกค้าเป็นวัยชรา สิ่งที่โฟกัสในงานก็จะไม่ใช่สีสันแต่จะเป็นตัวอักษร เช่น ขอฟีเจอร์ย่อ ขยายตัวอักษร หรือทำตัวอักษรให้ใหญ่ไปเลย
อายุ เพศ การศึกษา บอกได้หมด เพราะจะเป็นการช่วยไกด์ดีไซน์เนอร์ได้ ทำให้เขาทำงานได้ถูกทิศถูกทางมากขึ้น นอกจากนี้จะช่วยไกด์ให้เจ้าของงานอีกด้วย แต่ส่วนใหญ่ผู้ว่าจ้างจะตอบข้อนี้ไม่ได้หรือมักจะตอบว่า ใครก็ได้ คนทั่วไป ซึ่งมันกว้างเกินไป บางทีผู้ว่าจ้างต้องมานั่งคิดว่าสินค้าของเรา Target คือใคร?
7. เตรียมข้อมูลให้แม่น
ข้อมูล เช่น การทำโฆษณาตัวหนึ่งมี wording ยังไงบ้าง (ด่วน!/ ลดราคา 50%/ วันนี้เท่านั้น!) สิ่งนึงที่ผู้ว่าจ้างมักจะเข้าใจผิดคือ ดีไซน์เนอร์จะคิด wording ให้ได้ด้วย ซึ่งดีไซน์เนอร์กับก้อปปี้ไรท์เตอร์ (คนคิด content) เป็นคนละคนกัน ดีไซน์เนอร์เป็นคนวางตำแหน่ง คิดสี คิดฟอนต์ ดังนั้นถ้าจะหวังพึ่งให้ดีไซเนอร์คิดคำให้ น่าจะหวังพึ่งผิดคน แต่ก็มีดีไซเนอร์ที่คิดคำพูดได้เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่งานของเขา
นอกจาก wording และรายละเอียดข้อมูลแล้ว รูปภาพอะไรที่จะใช้ ถ้าเป็นโฆษณาโรงแรมอยากให้เขาใช้รูปมุมไหน หรือถ้าไม่รู้ เรามีกี่รูปเอามาให้หมดเลย เลือกรูปที่ความละเอียดสูง ๆ หน่อย ไม่ใช่รูปแตก ๆ แล้วให้เขาเอาไปออกแบบก่อน ซึ่งก็ทำได้ แต่งานก็ออกมาไม่สวย แล้วเราก็จินตนาการไม่ออกว่าสรุปแบบงานนี้มันดีหรือไม่ดี ถ้ามีรูปความละเอียดสูงส่งให้เขาไปเลยจะได้ทำรวดเดียวจบไปเลย
แล้วงานนี้ใช้ที่ไหน ถ้าทำลง facebook ดีไซน์เนอร์จะได้ทำรูปเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสไหม ฟอนต์จะต้องเยอะหรือน้อยยังไง หรืองานนี้จะเอาไปทำบิลบอร์ด คนจะเห็นได้แปปเดียว งานก็จะต่างกับงานที่อยู่บนสื่อที่คนจะเห็นได้นาน ๆ
8. ต้องกำหนดเวลาด้วย
ข้อนี้สำคัญ บางคนบอกว่างานทำไม่เสร็จซักที ดังนั้นกำหนดวันไว้เลย เช่น ต้องการใช้ในอีก 30 วันข้างหน้า เรากำหนดวันสิ้นสุดเลย แล้วย้อนกลับมาถึงวันนี้ว่าถ้าเกิดงานจะต้องเสร็จภายใน 30 วันข้างหน้า จากวันนี้ไป 10 วันเราจะต้องได้ดูดีไซน์ดราฟแรก แล้วให้เวลาตัวเองด้วยว่าขอเวลาอีก 2 วันคอมเมนต์งาน รวมเป็น 12 วัน หลังจากนั้นอีก 2 วัน ให้เวลาไปแก้งานตามคอมเมนต์อีก 5 วัน รวมเป็น 17 วัน เป็นไทม์ไลน์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ควรไปจบเป๊ะพอดีวันที่ 30 ต้องเผื่อเวลาเอาไว้บ้าง
แต่มีเรื่องที่สับสนกันบ่อย ต้องเคลียร์ให้ดีเรื่องวัน คือ รวมวันหยุดด้วยไหม? บางทีเขาจะใช้ทำว่าวันทำการ เพราะถ้าจ้างบริษัทเสาร์-อาทิตย์จะไม่นับ จะต้อง Over time ถ้าจ้างฟรีแลนซ์เสาร์-อาทิตย์ อาจจะได้เวลาทำงานมากกว่าวันธรรมดา จะต้องคุยกันให้ชัด
9. เงิน!
สำคัญกว่าข้อเมื่อกี้อีกคือเรื่องเงิน บอกราคาให้เรียบร้อย ตกลงเรื่องเงินกันให้ครบ ดีไซน์เนอร์บางคนก็เนียมอายไม่กล้าบอกราคา ซึ่งไม่ต้องเนียมอาย อย่าบอกว่าแล้วแต่พี่ ประเดี๋ยวเขาจ่ายค่าตอบแทนเป็นพิซซ่าแล้วจะมีปัญหาทีหลัง
อีกแบบคือ “น้อง งานนี้เรารู้จักกัน ทำให้พี่ฟรีได้ไหม ใจ ๆ” ต้องบอกว่า ทุกคนต้องกินข้าว ดังนั้นอย่าทำร้ายดีไซน์เนอร์ด้วยการให้เขาทำงานฟรี หรือทำงานราคาถูกเกิน
บางทีฝั่งผู้จ้างบอกก่อนได้เลยว่า “พี่มีงบเท่านี้ ทำไหวไหม ถ้าไม่ไหวมีใครแนะนำไหมในเรตเท่านี้ แต่พี่ชอบงานน้องมากเลยนะ งานอย่างนี้น้องทำได้ถึงแค่ไหน” หรือจะแบบพี่ ๆ น้อง ๆ กันก็ได้ อย่างเราเป็นเจ้าของโรมแรม “น้องทำงานให้พี่ที คิดเท่าไหร่ หมื่นนึงเหรอพี่ไม่ไหว เอางี้พี่ให้ 5000 แถมให้นอนโรงแรมฟรีสองคืนเอาไหม”
เรื่องเงินเป็นสิ่งสำคัญ ถ้างานนี้ได้เงินน้อย ความตั้งใจในการทำงานชิ้นนี้ก็จะน้อยลง สมมุติว่าดีไซน์เนอร์คนนี้มีงานเยอะ มีงานอยู่ 5 งาน แล้วงานของเราในราคา 1,000 บาท ก็จะกลายเป็นงานที่สำคัญลำดับสุดท้าย เวลาแก้งานเขาก็จะแก้ ๆ ไปเหอะ ให้พันเดียวเอง
อีกเรื่องที่คุยให้เคลียร์คือ จะจ่ายยังไง Payment term และ Credit term ไม่เอาแบบเราเพื่อนกัน เดี๋ยวค่อยจ่าย เอาให้ชัดไปเลยว่า งวดแรก – วางมัดจำก่อน 30% เป็นเงินเท่าไหร่ ก็จ่ายไปเลย จะโอนให้ หรือเขียนเช็กให้ก็แล้วแต่ งวดสองจะจ่ายเมื่อดราฟแรกเสร็จหรือดราฟสองเสร็จ งวดสุดท้ายเสร็จงานแล้วจะจ่ายเลยไหม หรือต้องวางบิลอีกเดือนนึง กำหนดให้เรียบร้อยไปเลย
บางครั้งเฉพาะฟรีแลนซ์จะมีความเข้าใจคาดเคลื่อนกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ
- ไม่เข้าใจเรื่อง Credit term นึกว่าจะได้เงินเลย แต่มันต้องรอ 30 วัน และถ้าไม่วางบิลภายในวันที่ 15 จะตกไปอีกเดือนนึงเลย บางที่วางบิล 90 วัน ถ้าไม่รู้วางบิลช้าโดนไปอีก 1 เดือน บวกกับ 90 วันกลายเป็นรอเงินไปอีก 4 เดือน
- การหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้ารับงานบริษัท สมมุติได้ค่าจ้าง 100 บาท เราจะไม่ได้หนึ่งร้อยเต็มเพราะบริษัทจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย ซึ่งนั่นจะถือเป็นค่าบริหารหรืออะไรก็แล้วแต่ หัก 3% 5% ก็ต้องคุยให้เคลียร์
9 ข้อนี้ในฐานะผู้ว่าจ้าง อาจจะแอบคิดว่าทำให้งานฉันเยอะจังเลย แต่ถ้าเราเตรียมข้อมูลเราให้พร้อมอาจจะใช้เวลาเยอะหน่อย แต่มันคุ้มกว่าที่เราจะไปจ้างดีไซน์เนอร์แล้วบอกว่าน้องพี่ขอโลโก้อันนึง ทำยังไงก็ได้ตามใจแล้วมันก็ออกมาไม่ถูกใจเราสักที แก้แล้ว แก้อีก ก็ไม่จบ เราก็ไม่อยากจ่ายเงิน น้องดีไซน์เนอร์ก็ไม่ได้เงิน แล้วงานก็ไม่ได้ สรุปเจ๊งหมด! เพราะฉะนั้น 9 ข้อนี้ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย แต่เชื่อว่าจะทำให้เราจบงานได้ ได้งานดี และคุ้มค่าเงินที่เราจ่าย เพราะจะไปหาดีไซน์เนอร์ที่รู้ใจเราทุกอย่างได้นี่ยากจริง ๆ ดีไซน์เนอร์นะจ๊ะ ไม่ใช่หมอดู
ถอดความจาก: Creative Wisdom Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD
เรียบเรียงโดย ภัทราวดี ศรีชัย
นักศึกษาเอกฟิล์มที่มักจะมองทุกเรื่องในชีวิตให้เป็นเรื่องตลก
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ
- โลโก้ดีต้องทำงานได้ ไม่ใช่แค่สวย
- UX Writer ผู้อยู่เบื้องหลังตัวอักษรบนหน้าจอ
- รู้จัก Fitts’s law เหตุผลว่าทำไมเบรกต้องมีขนาดใหญ่กว่าคันเร่ง