ทุกวันนี้เราเสียสมาธิในการทำงานง่ายกว่าเดิม จนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งหลายคนมองว่าการที่เราเสียสมาธิง่าย หรือ “สมาธิสั้น” เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เราไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นาน
แต่วันนี้ นักเขียน Johann Hari จะมาอธิบายถึงแรงกระตุ้นจากภายนอก ซึ่งเป็นพลังมหาศาลที่กำลังดูดความสนใจของเราออกจากสิ่งที่ควรสนใจง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยในหนังสือ Stolen Focus: Why You Can’t Pay Attention—and How to Think Deeply Again เขาพูดถึง 5 ประเด็น ดังนี้
คุณไม่ได้ล้มเหลวในการตั้งสมาธิ แต่คุณโดนขโมยสมาธิต่างหาก
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุควิกฤติขาดสมาธิซึ่งท้าทายพอๆ กันกับวิกฤติโรคอ้วน หรือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย จากการวิจัยพบว่า นักเรียนนักศึกษาสามารถจดจ่อกับงานชิ้นหนึ่งได้เพียง 65 วินาที ในขณะที่พนักงานทั่วไปอยู่ที่ 3 นาที แม้แต่นักธุรกิจหรือผู้บริหารระดับ Fortune Global 500 (การจัดอันดับประจำปีของบริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกทั่วโลก) ยังหาเวลาในการโฟกัสได้เพียง 28 นาทีต่อวัน
บางคนอาจกำลังโทษตัวเองว่า ฉันมันอ่อนแอ ฉันมันไม่ได้เรื่อง แต่ความจริงแล้วจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน พบว่า การหลุดโฟกัสง่ายเกิดจากปัจจัยต่างๆ อีกมากมายที่ดึงความสนใจเราไป ตั้งแต่อาหารที่เราทาน ไปจนถึงอากาศที่เราหายใจเข้าไป และเรากำลังโดนขโมยสมาธิแม้กระทั่งตอนนอน
หากพบว่าคุณใช้เวลาบนมือถือมากกว่า 3 ชั่วโมงในแต่ละวัน แปลว่าคุณกำลังสูญเสียสมาธิมากไปกว่าแค่โดนขโมยสมาธิ
ศาสตราจารย์ Earl Miller นักประสาทวิทยาแห่ง MIT บอกไว้ว่า สมองเราผลิตความคิดได้เพียงแค่ 1 – 2 เรื่องต่อครั้ง แต่คนในปัจจุบันกลับคิดว่าตัวเองสามารถจดจ่อกับโซเชียลมีเดียได้ถึง 6 แพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน ความจริงคุณไม่ได้จดจ่อ แต่คุณ “โยน” สมาธิข้ามไปมาต่างหาก และการโยนสมาธินี้มีราคาที่คุณต้องจ่าย ยิ่งข้ามไปมาระหว่างงานมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการทำงานของงานแต่ละชิ้นจะลดลงมากเท่านั้น หากคุณโดนรบกวนสมาธิ คุณจะต้องใช้เวลามากกว่า 23 นาทีโดยเฉลี่ยในการกลับมาโฟกัสใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณใช้เวลาบนมือถือมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน แปลว่าคุณกำลังมีปัญหาแล้วล่ะ
โรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้คุณต้องอยู่ในโหมด “ระแวดระวังสุดๆ” ซึ่งทำลายโฟกัสอย่างสิ้นเชิง
ลองนึกภาพตามว่า วันหนึ่งคุณไปเดินเล่น แล้วโดนหมีทำร้าย แต่คุณรอดมาได้ หลังจากนั้นหลายสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือน สิ่งที่คุณจดจ่อจะเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ จากที่ปกติคุณอาจจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คุณจะกลายเป็นระแวดระวังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น และนั่นทำให้คุณตั้งสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ยากขึ้น เพราะคุณอยู่ในโหมดต้องคอยระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว แล้วเมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่าจะปลอดภัยแล้ว แต่กลับโดนหมีทำร้ายอีกครั้ง การระแวดระวังตัวที่มากกว่าเดิมนี้ เรียกว่า “Hypervigilence” หรือการระแวดระวังตัวแบบสุดๆ และนี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้
รูปแบบการทานอาหารแบบคนตะวันตกกำลังทำลายสมาธิและการโฟกัสของคุณ
หนึ่งศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คือ “จิตเวชทางโภชนาการ” ซึ่งศึกษาว่าอาหารที่เราบริโภคเข้าไปมีผลต่อสมองอย่างไรบ้าง และจากการศึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้พบว่า “อาหารแปรรูป” ที่คนตะวันตกนิยมบริโภคช่วยฉุดพลังงานคุณให้ดีดขึ้นมาได้ แต่ก็ทำให้พลังงานตกได้เช่นกัน เหมือนกับการเติมน้ำมันสำหรับเครื่องบินเจ็ทลงไปในรถมินิ อีกทั้งอาหารที่คุณทานในปัจจุบันขาดสารอาหารจำเป็นที่สมองใช้พัฒนา มีงานวิจัยหนึ่งที่ให้เด็กเล็กปรับอาหารประจำวัน โดยตัดอาหารแปรรูปและอาหารสังเคราะห์ออกไป พบว่าเด็กๆ เหล่านั้นมีสมาธิมากขึ้นถึง 50% เพราะฉะนั้นพิสูจน์ได้แล้วว่าอาหารแปรรูปนอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังทำลายสมาธิหรือการจดจ่อไปด้วย
หาทางพ้นวิกฤติโดยเริ่มจากภายใน
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวคุณก่อน พยายามหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นที่ดึงความสนใจคุณไป เช่น เลิกตั้ง Notification ในมือถือ หรือเอามือถือไปไว้ไกลๆ เลยยิ่งดี นอกจากการหลีกเลี่ยงแล้ว เครื่องมือที่จะช่วยคุณจดจ่อได้ดีขึ้น คือ “การทำสมาธิ” ถ้าควบคุมปัจจัยภายนอกได้ยาก คุณก็ต้องหัดจากภายใน มีการวิจัยหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองสงบลง และทำให้คุณจดจ่อได้ดีขึ้น
ปัจจัยหลากหลายที่ทำให้เราเสียสมาธินั้นมีรอบด้าน และตราบใดที่ธุรกิจด้านโซเชียลมีเดียทั้งหลายยังทำเงินได้จากการขโมยความสนใจของเราไป ซึ่งนับจากนี้ไปจะยิ่งมีวิธีการที่แยบยลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การพยายามกลับมาโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่จำเป็นต้องทำ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้เรื่อยๆ สุดท้ายสมองของเราจะเคยชินกับการเปลี่ยนโฟกัสไปมา และไม่สนใจกับประสิทธิภาพในการทำงาน จนในที่สุดสมองจะสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง ส่วนใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติม ลองไปหาหนังสือ Stolen Focus: Why You Can’t Pay Attention—and How to Think Deeply Again ของคุณ Johann Hari เพื่อหาคำตอบได้ จะได้ไม่ถูกขโมยสมาธิอีกอย่างไรล่ะ
ที่มาของข้อมูล – It’s not just you. Science explains how your focus is more scattered now and how to get it back