‘เกตุวดี Marumura’ กับสิ่งที่ได้ค้นพบจากการทำงานที่ขับเค?

Last updated on พ.ย. 2, 2021

Posted on พ.ย. 2, 2021

หากพูดถึงธุรกิจดีๆ ที่ถูกคิดและทำด้วยหัวใจ แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกับทั้งสังคมและผู้บริโภคแบบไร้ข้อสงสัย เพียงแต่ธุรกิจแนวนี้จะอยู่รอดในสังคมไทยในปัจจุบันได้จริงไหมและต้องทำอย่างไรลูกค้าถึงจะสัมผัสคุณค่าของมันได้ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ท้อใจไประหว่างทางเสียก่อน

Creative Talk ขอชวนมาเรียนรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘ดร.กฤตินี พงศ์ธนเลิศ’ หรือ ‘เกตุวดี Marumura’ ที่หลายคนหลงรักทั้งจากการสอนและตัวหนังสือของเธอที่ล้วนขับเคลื่อนมันด้วยหัวใจ ที่จะมาช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้เราได้เข้าใจเรื่องของการทำธุรกิจด้วยหัวใจอย่างลึกซึ้ง พร้อมวิธีเติมพลังใจให้คนทำธุรกิจคิดดีไปต่อได้จนพบกับผลลัพธ์ที่วาดหวัง…


จุดเริ่มต้นในการสอนการตลาด

สมัยเด็ก เกดมีญาติเป็นนักการตลาดสองคน อยู่แบรนด์ใหญ่ๆ พี่ๆ เขาก็จะเอาแมกกาซีนมาให้เราอ่าน อย่างพวก BrandAge , Marketeer เรารู้สึกว่าการตลาดสนุกมากเลย เราก็คิดว่าการตลาดมันคือศาสตร์แห่งความคิดสร้างสรรค์ ก็เลยอินการตลาดมาเรื่อยๆ ทีนี้พอสอนการตลาดที่เมืองไทยได้สักพักก็เริ่มพาคนไปดูงานที่ญี่ปุ่น ทีนี้เราก็มองว่ามีบริษัทอะไรที่เราสนใจบ้าง แล้วเกดก็นึกถึงหนังสือเล่มนึงชื่อบริษัทนี้ที่ฉันรัก

เป็นรวมเคสเรื่องราวของบริษัทดีๆ ของญี่ปุ่น เช่นบริษัทแท็กซี่ที่ลูกค้าบอกว่าโชคดีที่ได้มาเจอเธอ ทำให้ฉันมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ เราพบว่าบริษัทแท็กซี่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ขนาดนั้น ก็เลยอยากไปดูงานจริงๆ ก็เริ่มติดต่อบริษัทเหล่านี้แล้วพาคนไปดูงาน ทีนี้พอพาคนไปดูงานปั๊บ ก็เริ่มเห็นว่าวิธีการทำธุรกิจของเขาต่างจากของเราทั่วๆ ไป  อย่างในจุฬาที่สอน MBA เราก็คิดว่า ต้องทำกำไร ทำ feasibility study วัดกำไรยังไงได้บ้าง ทุกคนจะพูดถึงเรื่องต้นทุน กำไร การหารายได้ หาโอกาสทางธุรกิจ ทำ SWOT analysis ต่างๆ แต่ว่าพอไปถึงที่ญี่ปุ่น จะรู้สึกว่ามันมีความเอื้ออารีย์ ความห่วงใหญ่ ทำเพื่อลูกค้า

มันเลยเห็นแง่มุมความละมุนของธุรกิจ จากการที่เราได้ไปดูงาน สัมภาษณ์ผู้บริหาร แล้วพอเริ่มเห็นปั๊บ ก็ถึงค่อยกลับมาสังเกตว่าจริงๆ แล้ววิธีการทำธุรกิจแบบญี่ปุ่น ต่างเนอะ เราก็กลับไปนึกถึงสมัยที่เราอยู่ญี่ปุ่นว่า แถวบ้านจะมีร้านขนมปังเล็กๆ กับคุณป้าที่อบขนมปังด้วยความรัก ไม่ได้คิดจะขยายกิจการใหญ่โต หรือว่าร้านอาหารอีกร้านที่เกดไปบ่อยๆ พอไปถึงคุณป้าก็จะรู้ว่าเป็นนิสิตต่างชาติ เขาถามว่าเป็นไงบ้าง วันนี้เรียนหนักมั้ย ชวนคุย แล้วอาหารก็อร่อยมาก ราคาก็ไม่ได้แพงมาก มันเหมือนเราได้ใกล้ชิดกับเจ้าของร้าน ได้ผูกพัน มันมีความรู้สึกอบอุ่น บวกกับเราได้ไปดูงาน ได้ศึกษาวิธีคิดของเจ้าของกิจการด้วย หลังจากที่กลับมาจากญี่ปุ่น เหมือนเป็นความคิดถึงความรู้สึกดีๆ ตรงนั้น พอศึกษาจริงๆ ก็เริ่มเห็นว่าเขาไม่ได้เริ่มจากกำไรเป็นหลัก คือกำไรเขาก็คิดถึงแต่เขาก็ห่วงใย มันจะเป็นความรู้สึกที่ไม่ใช่แค่วัดด้วยตัวเลขหรือฆ่าฟันกันว่าฉันต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ หรือต้อง differentiate ยังไง มันเป็นความสุขที่เราอยากให้คนอื่นมีความสุข


ทำไมถึงอยากสอนการทำธุรกิจด้วยหัวใจมากกว่าการสอนธุรกิจที่เน้นกำไร

อันนี้อาจจะเป็นความเห็นแก่ตัวในฐานะลูกค้า เราอยากเจอบริษัทที่เขาทุ่มเททำเพื่อเรา เช่น เวลาเราไปซื้อกระเป๋า เราก็อยากเจอเจ้าของร้านที่แบบตั้งใจออกแบบกระเป๋าให้เรา เวลาเราไปซื้อเครื่องสำอาง เราก็อยากเจอผู้ประกอบการที่ตั้งใจนึกถึงผิวเราให้ดีที่สุด แล้วก็รู้สึกว่ามันจะดีแค่ไหนถ้าเกิดบ้านเรา หยิบอะไรก็มีแต่สินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพงมากจนเกินไป แล้วเจ้าของก็ตั้งใจทำจริงๆ 

แต่พอสอนไปก็จะเริ่มรู้สึกว่าเออจริงๆ เจ้าของกิจการก็มีความเครียดเยอะ ไหนจะต้องแก้ปัญหาเรื่องพนักงาน พนักงานไม่ฟัง ไม่ยอมใช้ความคิด หรือการดูแลเรื่องต้นทุน เรื่องบัญชี แล้วมันมีปัญหาต่างๆ เยอะมาก

แล้วเราก็เพิ่งมาตกตะกอนว่าจริงๆ ถ้าเราเริ่มจากการสร้างความสุขให้กับลูกค้า คิดตรงนี้เป็นหลัก มันจะช่วยแก้ปัญหาด้านอื่นหมดเลย เพราะสมมติ พนักงานไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็อาจบอกให้เขาเห็นว่าคุณไม่ได้แค่ขับแท็กซี่ คุณกำลังช่วยชีวิตคน พนักงานก็จะมีกำลังใจ หรือแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น ที่นี้พอพนักงานไปดูแลลูกค้าดี ลูกค้ามีความสุข ก็กลับมาใช้บริการบริษัทเราเรื่อยๆ กำไรมันก็น่าจะตามมาทีหลังจากการที่เราสร้างความสุขให้คนอื่นก่อน 

แล้วพอเราเห็นอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่าการทำธุรกิจที่ดีมันมีวิธีนะ ที่ทำให้เราได้กำไรด้วยแล้วเจ้าของกิจการเองก็มีความสุข แล้วรู้สึกเติมเต็มในทุกๆ วัน ทุกวันของการทำธุรกิจ เราได้ช่วยคน แถมเรายังได้เงินด้วยนะ ก็เลยยิ่งอินกับการสอนแนวนี้มากขึ้น


จุดเด่นของการทำธุรกิจด้วยหัวใจคืออะไร

จริงๆ การตลาดแบบใช้หัวใจมันไม่ได้จำเป็นต้องช้า แต่ว่าเราแค่นึกถึงความสุขของลูกค้า กับพนักงานเป็นหลักมากกว่า เพราะฉะนั้น พอลูกค้าเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยนปั๊บ เราก็ปรับตัวตาม เอาง่ายๆ อย่างช่วงโควิด จริงๆ หนังสือ Makoto Marketing เล่มล่าสุดที่เขียน ก็เขียนเล่าเคสนึงเป็นร้านกระเป๋าในเกียวโต เขียนในชื่อบทชัดเจนมาก ว่า ‘ไม่ขยายสาขา ไม่ขายออนไลน์ เพราะอยากให้คนมาที่ร้าน’ จะได้เห็นหน้าลูกค้า จะได้พูดคุยกัน เขียนอย่างดิบดี พอเกิดโควิดปั๊บ หนังสือออกช่วงนั้นพอดี แล้วก็มีคนที่อยากเห็นกระเป๋ามากก็ไปเสิร์ชดู แล้วก็บอกว่า “อาจารย์ เขาขายออนไลน์แล้ว” เราก็แบบเดี๋ยวนะ เราเพิ่งเขียนไม่ถึงหนึ่งปี เขาปรับตัวเร็วมากเลย อันนี้คือบริษัทร้อยปีด้วยนะ กลายเป็นว่าพอเขานึกถึงลูกค้าเป็นหลัก แล้วเขาเห็นลูกค้าเปลี่ยน 

ในทางกลับกันเกดว่ามันทำให้เขากล้าเปลี่ยนเร็วกว่าเราอีก เพราะถ้าเกิดเราเป็นบริษัททั่วไป การเปลี่ยนแปลงบางทีมันมีความน่ากลัว ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จมาตลอด ทำยอดขายดีมาตลอด ทำอะไรก็สำเร็จ แต่ว่าพอเราต้องเปลี่ยนมันจะเกิดความรู้สึกว่า อย่างเดิมก็ดีแล้ว แต่พอเป็นบริษัทที่ตั้งจากการมี purpose ที่ชัดเจน คือตั้งใจสร้างความสุขให้กับคนอื่น เมื่อไหร่ เราจะไม่ได้นึกถึงตัวเราก่อน แต่เราจะนึกถึงตัวลูกค้าก่อน เพราะฉะนั้นลูกค้าเปลี่ยน เราเปลี่ยนตามดีกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ในทางกลับกันอาจจะปรับตัวได้เร็วกว่าบริษัททั่วไปด้วยซ้ำ


ความแตกต่างของการทำงานไม่แสวงหากำไรกับการทำธุรกิจด้วยหัวใจ

NGO หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร จะมีปัญหาเรื่อง raise funds โจทย์ก็คือเราจะทำยังไงให้หาเงินทุนให้มันหล่อเลี้ยงเราได้เสมอ เกดว่าข้อดีของมันคือ ความมุ่งมั่นแก้ปัญหาสังคมโดยตรงเลย เช่นปัญหาผู้ลี้ภัย แต่ว่าเขามาเสียเปรียบตรงที่ เขาจะดิ้นรนกับการหาเงินเพื่อมาหล่อเลี้ยงทำสิ่งที่ดี มันเหนื่อยตรงที่การหาเงิน 

แต่ว่าธุรกิจจริงๆ สมมติเป็นแนว Social Enterprise ก็คือแก้ปัญหาสังคมด้วย แล้วธุรกิจก็มีรายได้ด้วย เช่น เราอยากจะไปช่วยชุมชนที่เขาไม่มีอาชีพ แล้วเราก็ให้เขาลองทอผ้าขาย แล้วเราก็เอาไปขาย แต่ว่าธุรกิจคิดดี ธุรกิจมีความสุขที่เกดสอน คือไม่ใช่ Social Enterprise แต่เป็นบริษัททั่วไปเลยที่ทำกำไรปกติ แต่แค่เรานึกถึงลูกค้ามากขึ้น เราใส่ใจมากขึ้น ซึ่งก็คือ Key Takeaway หลัก


เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราทำมันดีทั้งกับตัวเองและคนอื่นจริงๆ

มันจะมีคนบอกให้เราไม่เลิก แล้วก็มีคนขอบคุณเรา เคยอ่านสัมภาษณ์ผู้บริหารท่านนึงเขาก็บอกว่าเขากลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ตอนแรกก็ช่วยทำให้ยอดขายขึ้น อันนี้เป็นธุรกิจสามร้อยปี คนที่พูดเป็น Generation ที่ 13 เขาเข้ามาช่วยทำให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น ขายผ้าเช็ดหน้าที่เป็นพวกผ้าทอได้ดีขึ้น ทีนี้ทำได้สามปี เขาก็ถามตัวเองว่า what’s next อันนี้เป็นจุดที่คนประสบความสำเร็จจะมีคำถามในใจว่าทำไงต่อดี แล้วเขาก็ตอบตัวเองไม่ได้ เขาเริ่มเบื่อ ก็เลยเริ่มคิดว่าขนาดเป็นลูกเจ้าของยังเบื่อเลย แล้วพนักงานไม่เบื่อหรอ ทำงานที่นี่มาสิบปียี่สิบปี

เขาเลยเริ่มหาว่าถ้าอย่างนั้นจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไร ทำเพื่อใคร แล้วเขาก็พบว่าจริงๆ เขาเห็นว่าธุรกิจคราฟท์ญี่ปุ่น มันกำลังหายไป สินค้า handmade กำลังแย่ งั้นเราเข้าไปช่วยดีกว่า เขาเลยกระโดดเข้าไปช่วย ตรงนี้มันก็ทำให้เขาเริ่มมีพลังมากขึ้น พอเขาอยากช่วยธุรกิจงานคราฟท์เขาก็เลยทำธุรกิจ consult ให้แบรนด์ที่ทำงาน craft ที่มีปัญหา เขาก็ช่วยออกแบบแบรนด์ พอเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น เขาก็เริ่มตั้งร้านขึ้นมาเพื่อขายของเหล่านี้ที่เขาไปช่วยปรับ concept ปรับ product แล้วมันก็ยิ่งทำให้เป็นร้านที่ unique และน่าสนใจมากขึ้น แล้วยิ่งมีคนประสบความสำเร็จมากขึ้น ก็ยิ่งมีคนอยากให้เขามาเป็น consult สุดท้าย consult ไม่ไหวแล้วทำยังไงดี เขาเลยเปิดเป็นบริษัท consult แล้วก็เปิดคอร์สอบรมเทรนนิ่งเรื่องมาร์เกตติ้ง แล้วก็กลายเป็นการแตก business ใหม่อีกที ทำให้ business model ของเขามัน uniqe ขึ้น เพราะมันมาจากแก่นที่เขาอยากช่วยหัตถกรรมงานคราฟท์ของญี่ปุ่น


การทำธุรกิจด้วยหัวใจเป็นเป็นไปได้ง่ายในญี่ปุ่นมากกว่าในไทยหรือเปล่า?

จริงๆ ในญี่ปุ่นก็ยากค่ะ แต่ว่าธุรกิจที่เขาประสบความสำเร็จคือเขาผ่านตรงนั้นมาแล้ว อย่างบริษัทแท็กซี่ ตอนเริ่มต้นคนขับนี่ลากผู้โดยสารลงไปต่อย บริการเลวร้ายมาก แต่ว่าผู้ประกอบการก็ต้องใช้เวลาใช้ใจในการช่วยค่อยๆ เปลี่ยน ซึ่งจุดแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ค่ะ มันยากที่จะทำได้ก็จริง แต่เมื่อไหร่ที่เราทำได้สักครั้งแล้ว คู่แข่งจะเลียนแบบเราได้ยากมาก คือมันจะเป็น know how ที่เราสั่งสมมา แล้วเราพยายามที่จะทำเพื่อผู้อื่นจริงๆ แล้วเราจะเริ่มสนุกมากขึ้น 

อันนี้พูดจากประสบการณ์ตัวเอง คือเกดเริ่มสอนเรื่องธุรกิจคิดดีมาประมาณ 5-6 ปี ที่เริ่มอิน แล้วก็พูดเรื่องนี้ ตอนที่พูดแรกๆ สมมติเป็นคลาสผู้ประกอบการทั่วไป ครึ่งนึงก็จะคิดว่าฉันมาเรียนวิธีการหาเงิน ฉันไม่ได้อยากฟังเรื่องธุรกิจคิดดี อะไรแบบนั้น มองว่าน่าเบื่อ ก็เคยเจอจุดแย่ๆ เหล่านั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ย้อท้อค่ะ ก็ค่อยๆ หาวิธีพูด หาเคส หาตัวอย่างมาเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไปแล้วเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเชื่อพอว่ามันดีจริงๆ มันก็จะเริ่มเจอคนที่คิดเหมือนเรา เริ่มเจอผู้ประกอบการดีๆ เริ่มเจอเจ้าของธุรกิจดีๆ แล้วเขาก็เป็นกำลังใจให้เรา แล้วเราก็ช่วยกันและกัน แล้วพอล่าสุดออกหนังสือ Makoto Marketing อันนี้ก็แทบไม่ได้พีอาร์อะไรเลย แต่ว่าคนก็ไปตามซื้อแล้วก็บอกต่อกันเองว่าดีมาก คือเวลาเราตั้งใจทำอะไรบางอย่าง มันเหมือนมากพอและเป็นประโยชน์จริงๆ กับลูกค้า เกดว่าลูกค้าสัมผัสได้

แล้วเกดทำเพจมา แทบไม่เจอปัญหาแบบลูกเพจเกรียนหรือมีคนว่าหรือมีดราม่าเลย แล้วบางทีโพสต์อะไรไป เราก็รู้ว่า facebook reach ตอนนี้มันน้อยลง แต่อย่างน้อย โพสต์อะไรไปมีคนไลค์แปดร้อยไลก์ พันไลก์จากยอดไลก์แสนคนในเพจ เกดก็จะรู้สึกว่าเขาตั้งใจติดตามเราเนอะ เป็นกำลังใจให้เราจริงๆ ตรงนี้มันเป็นความรู้สึกที่ว่า

หนึ่งคือมันทำให้เราอยากทำงานตรงนี้ต่อ สองคือรู้สึกว่าชีวิตเรามีค่า แล้วเราอยากจะทำอะไรดีๆ ขึ้นไปอีก เกดว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีซึ่งถ้าเราใช้เวลาอดทน ในระดับนึงมันก็จะเจอเวลานี้

จนล่าสุด แม่กลับมาบอกแล้วว่าตอนแรกไม่เชื่อเลยว่าสิ่งที่เกดทำจะมีคนอิน แต่พอเห็นว่าเราเปิดคอร์สสอนริเน็น เริ่มมีคนเรียนทั้งออนไลน์ออฟไลน์ก็เริ่มเดินมาบอกว่า เออสิ่งที่เกดทำมันก็ถูกเนอะ แล้วมันจะเป็นโมเมนต์ที่แบบ yes! เรารู้วิธีแล้ว เราพยายามทำให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้ว


ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำด้วยหัวใจส่งไปถึงคนที่เราต้องการ

เวลาเขียนหนังสือเล่มนึง เกดจะจินตนาการถึงคนคนนึงว่า เราอยากให้เขาอ่านแล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปยังไง มันก็จะเห็นภาพขึ้นมาเลย หรือเวลาเขียนบทความ บางทีเห็นเพื่อนคนนึง อยากให้คนอย่างเขาได้อ่าน เราก็จะนึกถึงคนคนนั้นแล้วก็เขียนออกมา รู้สึกว่ามีคนนี้ที่รอเราอยู่ แล้วเราอยากจะให้คอนเทนต์ดีๆ กับเขา เหมือนเราเห็นลูกค้าของเรา แล้วเราจินตนาการถึงลูกค้าออก ว่าเขาเป็นใคร เขายังต้องการอะไรอยู่ แล้วเราก็จะทุ่มพลังทุกๆ อย่างไปเพื่อคนคนนี้ แล้วบังเอิญคนอื่นได้ประโยชน์ด้วย


คิดว่าวงการไหนที่จะช่วยส่งเสริมหรือขับเคลื่อนการทำธุรกิจดีๆ ที่ใช้หัวใจของคนไทยได้บ้าง

จะบอกว่าทุกวงการเลยนะ แต่ว่าสื่อน่าจะช่วยเยอะ ช่วยกันเล่าเรื่องนี้ หรือมีอีกอันที่ไปเจอแล้วรู้สึกว่าดีจังเลย คือหลักสูตรของตลาดหลักทรัพย์ มันจะมีหลักสูตรชื่อ ID to IPO ก็คือ เทรนบริษัทที่อยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตรงนี้มันฟังดูย้อนแยงมากเลยเนอะ ว่าเราอยากจะเติบโตมีหุ้น มีธุรกิจ แต่พอได้เข้าไปสอน เราก็รู้สึกว่าตัวหัวหน้าโครงการ อย่างพี่ประพันธ์ก็จะเป็นคนที่เชื่อเรื่องนี้ในระดับนึง แล้วก็อยากให้มีธุรกิจคิดดี แล้วพอหัวหน้าเชื่อแล้วถ่ายทอดความคิดนี้ไปที่ผู้ประกอบการ มันเลยทำให้ผู้ประกอบการอินได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นมันก็ยิ่งดี ถ้าเกิดมีคนที่เข้า IPO ด้วย แล้วก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย แล้วก็ยังเป็นบริษัทที่ดีด้วย เกดว่าคนกลุ่มนี้สำคัญ


คิดว่าอะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนที่ใช้หัวใจคิดและทำเพื่อคนอื่น

ด้วยวัยมั้ยคะ (หัวเราะ) อายุมากระดับนึงแล้วจะเริ่มคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ตอนยังอายุน้อยก็จะเราต้องประสบความสำเร็จก่อน แล้วเกดก็ว่าเป็นเรื่องความใจดีของคนญี่ปุ่นความใส่ใจ ซึ่งคนไทยก็ใจดี แต่ตอนที่เกดไปอยู่ญี่ปุ่น แค่เราไปที่ทำการไปรษณีย์ เขาก็ทักเรา แล้วเขาก็จำได้เวลาไปส่งจดหมาย ทักว่าเป็นยังไงบ้าง ส่งไปไทยหรอ มันคือความรู้สึกที่แบบดีจังเลย หรือไปร้านอาหารก็จะบอกหม้อร้อนนะคะ ระวังนะคะ เรารู้สึกว่าเขาใส่ใจเราจังเลย แล้วโมเมนต์ที่เราเหนื่อยๆ พอเราเจอบริการดีๆ ที่พนักงานร้านเขาใส่ใจ บอกขอบคุณที่มาใช้บริการนะคะ หรือบอกว่าวันนี้ฝนตกหนักลำบากหน่อยนะคะ พวกคำพูดเล็กๆ น้อยๆ หรือสินค้าดีๆ อะไรแบบนี้ อย่างเกดจะมีร้านขนมเค้กที่กินเวลาเครียดๆ ที่กินแล้วแบบ โอ้โชคดีที่เกิดมาเจอเค้กชิ้นนี้ มันก็จะมีแต่ความรู้สึกดีๆ เต็มไปหมด


ในระหว่างทางที่เราเหนื่อยและยังไม่เจอกับผลลัพธ์ เราจะให้พลังใจตัวเองอย่างไรได้บ้าง

ของเกดก็คือการกลับมาบอกตัวเองว่า วันนี้เราได้ทำให้ใครแฮปปี้บ้างแล้วหรือยัง เราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง เราพยายามหรือยัง เช็คกับตัวเองบ่อยๆ อย่างเกดเองเวลาสอน ก็เป็นนะ แบบสอนวิชานี้มาสิบปีแล้ว เหมือนเปิดสวิตช์ แล้วก็พูดไปได้เรื่อยๆ แต่บางทีก็ต้องกลับมาเช็คตัวเองบ่อยๆ เหมือนกัน กลับมาเห็นคุณค่าของงานตัวเอง อย่างของเกดคือการสอน เรากำลังสร้างอนาคตชาติแล้ว หนึ่งชั่วโมงสามชั่วโมงที่เขาเจอเรา อาจจะเปลี่ยนวิธีคิดเขาบางอย่างก็ได้ 

หรืออีกวิธีก็อาจจะใช้แนวคิดญี่ปุ่น เป็นคำว่าโชชิน (Shoshin) แปลว่าหัวใจดวงแรก ให้กลับไปดูวันแรกที่เราได้ทำงานนี้ ตอนนั้นเราไฟแรงขนาดไหน ตอนนั้นเราทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน เอาความรู้สึกนั้นมาใส่หัวใจเรา ตอนที่เราเหนื่อยอยู่ตอนนี้ ว่าเออวันแรกที่เราได้ทำงาน เราเคยทุ่มเท เราเคยมุ่งมั่นขนาดไหน และพยายามรักษาความรู้สึกนี้ให้อยู่ในใจอยู่ 

แล้วก็มีเรื่องของคำขอบคุณ กับการเห็นคุณค่าของงานตัวเอง คืออย่างตอนที่สอน อิคิไก (Ikigai) เกดก็จะสอนว่าคนญี่ปุ่นขอบคุณบ่อย รู้สึกว่าวันนี้มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องน่าขอบคุณบ้าง ทีนี้เวลาที่เราเครียดๆ เหนื่อยๆ หลายๆ อย่างมันไม่เป็นไปตามใจ ก็จะกลับมาถามตัวเองว่าวันนี้ มีเรื่องอะไรน่าขอบคุณบ้าง แล้วมันจะเปลี่ยนความรู้สึกเราทันทีเลยนะ จากเดิมที่เราเครียดๆ ว่าทำไมฉันโดนว่าอย่างนี้ ทำไมงานไม่ได้ดั่งใจ

แต่พอมามองว่าวันนี้มีเรื่องอะไรที่น่าขอบคุณบ้าง ก็จะนึกถึงว่าเออวันนี้ฟ้าใสเนอะ วันนี้อากาศดีเหมือนหน้าหนาวเลยนะ มันทำให้ใจเราเบาขึ้น แล้วเห็นปัญหาชัดขึ้น


รับฟังบทสัมภาษณ์เต็มรูปแบบของ The Key Message EP.6  - ‘ผลลัพธ์ที่ได้จากการขับเคลื่อนด้วยหัวใจ’ ได้ที่
🖥️  YouTube: https://youtu.be/WbXPH2zPcvg
🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3vTyQj3
🎧 Spotify: https://spoti.fi/3vSSICQ
🎧 PodBean: https://bit.ly/3GyTOsf
🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3nyLb8s
trending trending sports recipe

Share on

Tags